อ้างอิงจากข้อมูลของ International Data Corporation’s (IDC) Quarterly Mobile Phone Tracker, ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนไทยอยู่ที่ 20.9 ล้านเครื่องในปี 2564 เพิ่มขึ้น 20.9% ซึ่งเติบโตมากสุดในภูมิภาคอาเซียน เฉพาะไตรมาสที่ 4 เติบโต 16.6% เมื่อเทียบต่อปีคิดเป็น 5.5 ล้านเครื่อง อันเป็นผลมาจากการโปรโมชันตามฤดูกาลและการฟื้นตัวของยอดขายในร้านค้าปลีกเนื่องจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์มากขึ้นเมื่อต้นไตรมาส
นอกจากนี้ บริษัทโทรคมนาคมยังได้ส่วนแบ่งจากการเติบโตเมื่อเทียบต่อไตรมาสที่สูงซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของตลาดสมาร์ทโฟน เนื่องจาก iPhone 13 ซีรีส์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้รับความนิยมสูง สมาร์ทโฟน 5G มีส่วนแบ่งมากกว่าหนึ่งในสามของตลาดในไตรมาสที่ 4 นำโดย iPhone ของ Apple และโทรศัพท์ Android ราคาระดับกลาง อย่างเช่น Samsung Galaxy A52s, vivo Y76 และ Redmi Note 10
ขณะที่ยอดขายสมาร์ทโฟน 5G ของไทยสูงที่สุดในอาเซียนทั้งในไตรมาสที่ 4 และ ปี 2564 และสูงเป็นอันดับ สามในภมูิภาคเอเชีย/แปซิฟิก (ไม่รวมจีนและญี่ปุ่น )รองจากอินเดียและเกาหลีใต้
นายธีริทธิ์ เปาวัลย์ นักวิเคราะห์ตลาดไอดีซี ประเทศไทย กล่าวว่าปี 2564 แข็งแกร่งเป็นพิเศษเนื่องจากความต้องการที่ถูกกักไว้จากปีก่อนหน้าที่เกิดปัญหาสินค้าขาด ทั้งยังมีเงินอุดหนุนโควิด-19 จากภาครัฐ และสมาร์ทโฟน 5G มีราคาไม่แพง
“ไอดีซี คาดว่าการเติบโตจะทรงตัวในปี 2565 แต่ก็ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562 ถึง 14% การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ Dtac มีแนวโน้มว่าจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในระยะสั้นในการขยายฐานผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดด้านอุปทานจะยังคงเป็นคอขวดอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565”
5 อันดับแรกของผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนในไตรมาสที่ 4
ซัมซุง ยังคงอยู่ในอันดับหนึ่งแม้ว่าจะมีการขาดแคลนรุ่น A-series โปรโมชัน และสิ่งจูงใจที่มุ่งเป้าไปที่ซีรีส์เรือธงส่งผลให้ยอดขาย Galaxy S21 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงการเติบโตของสมาร์ทโฟนพับได้
เสียวหมี่กระโดดขึ้นสู่อันดับสอง เนื่องจากการจัดส่งซีรีส์ Redmi ที่ราคาย่อมเยาฟื้นตัวขึ้น เสี่ยวมี่พยายามขยายช่องทางออฟไลน์เรื่อยๆ โดยเปิดร้านแบรนด์ Xiaomi ใหม่ 13 แห่งในเดือนธันวาคม
แอปเปิ้ล มีการเติบโตทั้งเมื่อเทียบต่อปีและต่อไตรมาสด้วยการเปิดตัวซีรีส์iPhone 13 แม้ว่าจะมีปัญหาขาดแคลนสินค้าอยู่บ้างและราคาที่สูงกว่าในบางรุ่น เช่น 12 Pro และ 12 Pro Max
ออปโป้ มีอุปทานที่ตึงตัวในกลุ่มสินค้า 4G ราคาย่อมเยา ส่วนในราคาระดับกลางอย่าง Reno 6 นั้นได้รับการตอบรับที่ดี แต่ Reno 6 Pro ที่มีราคาสูงกว่านั้นยอดขายยังไม่รุนแรงนักโดยมีช่องทางที่จำกัดเฉพาะร้านค้าแบรนด์ OPPO และช่องทางออนไลน์
วีโว่ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดแคลนสินค้าในระรดับราคาย่อมเยาอย่างซีรีส์ Y วีโว่นั้นเสริมความแข็งแกร่งทางหน้าร้านและร้านของเครือข่ายด้วยการเพิ่มพนักงานขาย
“อุปทานมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสมาร์ทโฟน 4G ระดับราคาย่อมเยาทำให้แบรนด์สมาร์ทโฟนต้องปรับตัวตามสถานการณ์เช่น การใช้ชิปจากผู้ผลิตเกิดใหม่ เช่น Unisoc และเน้นผลิตสินค้ารุ่นที่ขายดีสุด”
นายธีริทธ์ กล่าวต่อไปว่าผู้เล่นรายเล็ก เช่น HMD (Nokia), Lenovo (Motorola) และ TCL ได้ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในตลาดในช่วงเวลานี้ เนื่องจากการมุ่งเน้นไปที่กลุ่มราคาที่ไม่แพงซึ่งมีความต้องการสูงในตลาด”