LINE ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันแนวคิดในการสร้างสิ่งแวดล้อมบนโลกดิจิทัลให้น่าอยู่ จึงริเริ่มแคมเปญ THE OFFLINE HOUR เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตดิจิทัลอย่างยั่งยืน (LINE Digital Well-being) ประเดิมด้วยกิจกรรม OFFLINE HOUR #คิดก่อนส่งลังเลก่อนLINE ชวนเพิ่มชีวิต “ออฟไลน์” วันละ 1 ชั่วโมง เพื่อสร้างสมดุลให้ชีวิตวิถีใหม่ ตามมาด้วยภาพยนตร์โฆษณา “Push To Think Button” เล่าเรื่องราวชวนฉุกคิดถึงความเห็นอกเห็นใจและความเคารพซึ่งกันและกันบนโลกดิจิทัลในหลากหลายแง่มุม
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย เผยว่า “ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา LINE ได้พิสูจน์บทบาทในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อชีวิตดิจิทัลของคนไทยได้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนเมืองๆ หนึ่งที่มีประชากรเป็นผู้ใช้ เราได้เห็นผู้ใช้ดำเนินชีวิตอย่างสะดวกสบายผ่านบริการต่างๆ บนแพลตฟอร์ม LINE
ขณะเดียวกันในด้านหนึ่งเราก็รับฟังและเข้าใจ ‘ความรู้สึก’ ของผู้ใช้บางส่วนที่ชีวิตออนไลน์ของพวกเขาไม่มีความสุขอย่างที่เคย ทั้งจากที่ต้องเชื่อมต่อสื่อสารอยู่ตลอดเวลา รวมถึงขาดความเห็นอกเห็นใจและความเคารพซึ่งกันและกันบนโลกออนไลน์ในหลากหลายมิติ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงบางส่วนแต่ก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง Digital Well-being และการอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่ดีบนโลกออนไลน์ในระยะยาว แคมเปญนี้ตอกย้ำการพัฒนาแพลตฟอร์มแบบ Humanized Technology ของ LINE ที่เข้าใจพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้ใช้อย่างแท้จริง”
แคมเปญ THE OFFLINE HOUR ด้วยแนวคิด LINE Digital Well-being ในระยะเริ่มต้นนี้ มุ่งนำเสนอ 2 ประเด็นซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายทั่วโลกจากการเพิ่มขึ้นของประชากรดิจิทัล
1. Social Detoxification: เทรนด์สุขภาพที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ จากการเว้นระยะจัดการชีวิตบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกับผู้คนตลอดเวลา การรับรู้ความคิดเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ดี ไปจนถึงการเสพเนื้อหาต่างๆ ที่มากเกินไป
2. Digital Empathy: เพราะความรวดเร็วบนโลกออนไลน์อาจจะทำให้เราลืมตระหนักถึง “ความเห็นอกเห็นใจบนโลกออนไลน์” ที่ต้องอาศัย “ความเคารพซึ่งกันและกัน” เป็นอีกหนึ่งทักษะชีวิตที่น่าสนใจในปัจจุบัน ซึ่งชวนให้ผู้ใช้งานฉุกคิดเมื่อสื่อสารในหลายๆ สถานการณ์ ทั้งช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้อยคำที่ชวนตีความผิดความหมาย การเผยแพร่เฟคนิวส์ ไปจนถึงโซเชียลบูลลี่ ฯลฯ
ท่ามกลางการก้าวสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลอย่างเต็มตัวของคนไทย โดยจากผลสำรวจโดย Statista Research Department ที่เผยแพร่ในเดือนมีนาคม 2565 พบว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 คนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยสูงถึง 5.28 ชั่วโมงต่อวัน และหากนับรวมทุกอุปกรณ์นั้นจะเฉลี่ยวันละถึง 10 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 41% ของชีวิตในแต่ละวัน
โดยกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันมากที่สุด สืบเนื่องจากนโยบายเวิร์คฟอร์มโฮม ที่ทำให้ทุกคนต้องปรับพฤติกรรมมาใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งการติดต่อสื่อสาร การเรียน การทำงาน และไลฟ์สไตล์ประจำวัน ขณะเดียวกันผู้ใช้ส่วนหนึ่งก็เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าและวิตกกังวลกับการใช้ชีวิตออนไลน์ จากการเชื่อมต่อสื่อสารกับผู้คนตลอดเวลา รวมถึงสาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้อารมณ์เวลาสื่อสาร การเผยแพร่เฟคนิวส์ ไซเบอร์บูลลี่ ฯลฯ