Digital ID เป็นเทคโนโลยีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อเข้ารับบริการต่างๆ จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางไปยืนยันตัวตนที่หน่วยให้บริการ ลดขั้นตอนการกรอกข้อมูล และลดความซ้ำซ้อนในการใช้เอกสาร ในแง่นี้ Digital ID จึงช่วยยกระดับการให้บริการและความปลอดภัยได้มากขึ้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วชีวิตของผู้คนในปัจจุบันผูกติดอยู่กับเทคโนโลยีนี้ไปโดยไม่รู้ตัว เช่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การลงทะเบียนฉีดวัคซีน หรือการจองคิวออนไลน์ต่างๆ ล้วนต้องลงทะเบียนและสร้างบัญชีผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ให้บริการได้ทราบว่า “เราเป็นใคร” นั่นเอง
ปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญอย่างมากกับ Digital ID มีการพัฒนาระบบและช่องทางต่างๆ ร่วมกัน โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Development Agency: ETDA) รวมถึงการให้ความสำคัญจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ โดยได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อน ซึ่งทุกวันนี้การเข้าถึงบริการต่างๆ ด้วย Digital ID มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งช่วยอำนวยประโยชน์กับทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ และนี่คือตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Digital ID มาใช้ขับเคลื่อนสังคมไทยในส่วนภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการจากหน่วยงานรัฐได้อย่างสะดวก มั่นใจ และปลอดภัยรับโลกยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น
● ย้ายทะเบียนบ้านผ่านออนไลน์ได้ ไม่ต้องเดินทางไกลถึงอำเภอ
เพื่อให้การทำธุรกรรมเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรสะดวกยิ่งขึ้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงพัฒนาแอปฯ D.DOPA (ดีดอทโดปา) เพื่อให้บริการงานทะเบียนบ้านรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีฟีเจอร์หลักคือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนหรือ Digital ID เปรียบได้กับการมีบัตรประชาชนในโลกดิจิทัลที่มีการเชื่อมโยงการยืนยันตัวตนของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 เป็นต้นมา ได้เปิดให้คนไทยทำเรื่องการย้ายทะเบียนบ้านดิจิทัล ผ่านการลงทะเบียนใส่รหัสหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักผ่านแอปฯ เมื่อกรอกข้อมูลแล้ว ระบบจะส่งแจ้งเตือนไปยังเจ้าบ้านเพื่อแจ้งขออนุมัติการยินยอม และเมื่อเจ้าบ้านกดยินยอมแล้วก็ทำการย้ายได้ แทนที่ระบบเดิมที่ต้องผ่านอำนาจการยินยอมจากเจ้านายทะเบียนท้องถิ่น เปลี่ยนมาสู่นายทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังอำเภอท้องถิ่นให้ตรวจสอบและยืนยัน และแจ้งเตือนกลับมายังแอปฯ ของผู้ย้ายและเจ้าบ้านหลังได้รับการย้ายเสร็จสิ้นสมบูรณ์
โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปฯ D.DOPA กว่าหมื่นรายและทำการย้ายทะเบียนบ้านประมาณ 50 ราย (อัปเดต ณ วันที่ 8 เม.ย. 65) นอกจากนี้ ยังสามารถดูข้อมูลที่ทางราชการเก็บไว้ได้ และคาดว่าในอนาคตจะไม่มีการใช้เอกสารแต่เปลี่ยนเป็นการใช้งานจากข้อมูลที่มีอยู่ในระบบตามนโยบายรัฐบาล และเปิดบริการ Self-service ให้ประชาชนผู้ใช้งานผ่านแอปฯ สามารถแก้ไขข้อมูลส่วนตัวได้ ภายใต้การมีการตรวจสอบมั่นคงและปลอดภัย รวมทั้งทราบว่าใครเข้าถึงข้อมูลของประชาชนคนนั้นๆ
● เบอร์มือถือแทนบัตรประชาชนยืนยันตัวตนรับประโยชน์และการบริการจากรัฐ-เอกชน
เพราะหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ทุกคนมี สามารถใช้ยืนยันตัวตนของแต่ละคนได้บนโลกดิจิทัล “กสทช.” หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงทำโครงการ Mobile ID (โมบายไอดี) ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ หรือเข้าใจโดยง่ายคือ เบอร์มือถือแทนบัตรประชาชน เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และยืนยันตัวตนเพื่อรับประโยชน์การบริการต่างๆ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยไม่ต้องใช้กระดาษหลังจากลงทะเบียน Sim Card แล้ว อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และลดความเสี่ยงที่อาจโดนมิจฉาชีพนำข้อมูลไปปลอมแปลง
โดยประชาชนสามารถสมัครเพื่อลงทะเบียน Mobile ID กับทางค่ายโทรศัพท์ 3 ค่ายใหญ่ อย่าง AIS DTAC TRUE ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันการใช้งาน Mobile ID ของ กสทช. กำลังอยู่ในช่วงขยายการใช้งาน และได้เริ่มให้บริการใช้งานจริงแล้วคือ การเปิดบัญชีกับธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่ได้มีการทำความร่วมมือ MOU ร่วมทดลองกับโครงการ Mobile ID ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ช่วงกลางปี 2565 ยังมีแผนจะขยายการใช้งานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใช้ Mobile ID เป็นทางเลือกในการเปิดพอร์ตการลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ และร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยใช้ Mobile ID เป็นทางเลือกในการยืนยันตัวตนเพื่อรับส่งพัสดุแทนบัตรประชาชน นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายความร่วมมือด้านการบริการร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมการขนส่งในการจัดทำใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรเพื่อยืนยันตัวตนยื่นภาษีออนไลน์ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นต้น
●เปิดบัญชีข้ามธนาคาร สะดวกง่ายที่บ้าน ด้วยแพลตฟอร์ม NDID
ทลายภาพวิถีชีวิตเดิมที่ผู้คนต้องการเปิดบัญชีธนาคารแล้วเตรียมเอกสารเดินทางไปที่ธนาคารเพื่อยืนยันตัวตนอย่างเดิม เพราะปัจจุบันสามารถเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์และเปิดบัญชีข้ามธนาคารได้แล้ว ผ่านแพลตฟอร์ม NDID หรือ National Digital ID โดย บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยง ร้องขอการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อยกระดับการทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมประกัน หรือแม้แต่ธนาคาร จะมีการร้องขอการเปิดบัญชีข้ามธนาคารกัน จึงต้องอาศัยผู้ที่ช่วยพิสูจน์และยืนยันตัวตนหรือที่เรียกว่า IDP (Identity Provider) ในการพิสูจน์ตัวตนของคนๆ นั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานไกด์ไลน์ของ ETDA เรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ซึ่งจะใช้บริการของ DOPA Online มาช่วยยืนยันในขั้นที่ 1 ขั้นเบื้องต้นด้านการลงทะเบียน จากนั้นจะมีการตรวจสอบ NDID ในขั้นที่ 2 เพื่อตรวจสอบข้อมูลของบัตรประชาชนว่าเป็นปัจจุบันและเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่
ตัวอย่างการบริการเปิดบัญชีข้ามธนาคาร ในกรณีทั่วไปการเปิดบัญชีแรกจะต้องไปที่ธนาคารพร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชนที่ต้องมีขั้นตอนการเสียบบัตร การถ่ายรูปเปรียบเทียบใบหน้า แต่บริการจาก NDID จะช่วยพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่ออำนวยความสะดวกให้การเปิดบัญชีแรกของธนาคารใดๆ ก็ตามไม่ต้องไปที่ธนาคาร รวมทั้งยังสามารถช่วยในการเปิดบัญชีลงทุนซื้อขายหุ้นหรือกองทุน ขอสินเชื้อ ซื้อประกัน รวมถึงสมัครบัตรเครดิต โดยเปิดให้บริการดังกล่าวมาแล้วรวม 2 ปี นอกจากนี้ NDID มีแผนขยายการใช้งานไปยังการทำ Digital Signature และมีแผนใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศร่วมกับหน่วยงาน MOU อย่าง Mastercard เพื่อให้ประชาชนชาวไทยสามารถเปิดบริการมือถือหรือบริการอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งในประเทศกลุ่มเป้าหมายเอเชียแปซิฟิกได้
จากตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Digital ID มาใช้ขับเคลื่อนสังคมไทยในส่วนภาครัฐและภาคเอกชนข้างต้นนั้น พบว่าแม้ในขณะนี้ Digital ID กับสังคมไทยจะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ความหวังในการสร้างให้เกิดนิเวศดิจิทัลไอดี หรือ Digital ID Ecosystem ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่สิ่งเพ้อฝันและเกินความเป็นไปได้ ซึ่ง ETDA ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนใช้ Digital ID ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ มายกระดับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างการทำกิจกรรมการประกวด MEiD Hackathon: Digital ID Solution for All เพื่อค้นหานวัตกรรมดิจิทัลไอดี โดยมีผลงานน่าสนใจที่จะเข้ามาช่วยทำให้คนไทย ติดต่อหน่วยงานรัฐ-เอกชนเพื่อเข้าถึงการบริการต่างๆ ง่ายขึ้น
● พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย เสริมสร้างอาชีพ และตรวจสอบประวัติอาชญากรรมได้
Workforce แพลตฟอร์มจับคู่แรงงานกับงาน โดยมีการใช้ Digital ID มาสร้าง ‘ระบบตัวกลางการบริการคุณภาพผ่านการยืนยันตัวตน’ ที่สามารถยืนยันระบุตัวตนกลุ่มแรงงาน ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมได้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถเรียกใช้บริการต่างๆ จากแรงงานได้อย่างสบายใจ อีกทั้งยังเป็นการผลักดันการจ้างแรงงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยให้ดีขึ้นได้
โดยแพลตฟอร์ม Workforce ได้มีการดำเนินงานสร้างเสริมอาชีพในกลุ่มแม่บ้าน และช่างแอร์แล้ว ภายใต้การติดตั้งระบบยืนยันตัวตน ระบบการจ่ายงาน ระบบการบริหารมาร่วม 3 ปี ซึ่งลูกค้าที่ใช้บริการกลุ่มแรงงานเหล่านี้ มีตั้งแต่กลุ่ม SMEs ภาครัฐ ภาคเอกชน นอกจากนี้ทีม Workforce ยังมีการจัดอบรมอธิบายเรื่องระบบ อุปกรณ์เทคโนโลยีให้แก่ช่าง Local เพื่อให้เข้าใจการทำงานและการยืนยันตัวตน พร้อมขยายการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในกลุ่มอื่นๆ ถัดไป
● “ตู้ร้องทุกข์ออนไลน์” ติดต่อหน่วยงานรัฐท้องถิ่นสะดวก ติดตามงานได้สบาย
เพื่อลบภาพจำว่าการติดต่อประสานงานร้องเรียนเรื่องต่างๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นเป็นเรื่องยากลำบาก จึงเกิดแพลตฟอร์มออนไลน์ MANAGov หรือที่เรียกว่า ตู้ร้องทุกข์ออนไลน์ สร้างโดยทีม MANAGov ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดแนวคิดการใช้แอปพลิเคชัน D.DOPA ของกรมการปกครอง ในการช่วยยืนยันตัวตน มาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการร้องเรียนในระดับเทศบาล ส่งเสริมระบบการกระจายอำนาจสู่ระดับท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้การร้องเรียนของประชาชนได้รับการประสานช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นได้รวดเร็วขึ้น และด้วยการใช้ Digital ID เข้ามาเสริมระบบ ก็จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ร้องเรียนมีตัวตนอยู่จริง
โดยสำนักงานของทีม MANAGov ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เริ่มดำเนินงานให้หน่วยงานภาครัฐ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้ลองไปใช้แล้ว ซึ่งผลตอบรับจากเจ้าหน้าที่หลังใช้งานไปในทิศทางที่ดี ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่สามารถมาร้องเรียน ติดต่อ ติดตามงานของหน่วยงานราชการ เช่น เอกสารที่ยื่นไปถึงขั้นตอนใดแล้วผ่านแพลตฟอร์ม MANAGov ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้ทันสมัย และสร้างชุมชนให้เข้มแข็งน่าอยู่อีกด้วย
นอกจากนี้ แล้วยังมีแนวคิดนวัตกรรมอื่นๆ เช่น การเสนอนวัตกรรมเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐเพื่อการพิจารณาสินเชื่อออนไลน์ จากทีม UpPass การเสนอนวัตกรรมช่วยลงนาม e-Document ที่น่าเชื่อถือ ยืนยันตัวตนได้มาตรฐาน ETDA จากทีม Brainergy การเสนอ “Disruptive Digital Signature” จากทีม Veracity และ “Self–Sovereign Identity” จากทีม Apptify เพื่อพัฒนาไปสู่ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกสบาย ลดข้อจำกัดในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอนซ้ำๆ และลดโอกาสในการปลอมแปลง
การนำเสนอ “Digital Paperless Service Solution” จากทีม InDistinct ที่ช่วยจัดการกับเอกสารจำนวนมากให้เข้าไปสู่ระบบดิจิทัล ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและเพิ่มความรัดกุมในการคุ้มครองข้อมูลไม่ให้รั่วไหล ซึ่งแนวคิดต่างๆ เหล่านี้เป็นเชื้อมูลสำคัญในการต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลของไทย และเวทีการประกวดนี้ก็เป็นอีกแรงที่ช่วยขัดเกลาพร้อมกับเสริมกำลังให้แนวคิดและนวัตกรรมเหล่านี้มีความสมบูรณ์รอบด้านในมิติต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในแง่กฎระเบียบต่างๆ อีกทั้งยืนยันได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้ Digital ID มีประโยชน์มหาศาลที่จะช่วยให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ง่ายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่วันนี้จนถึงอนาคต