แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมเปิดเผยว่า กรณีล่าสุดคณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (MCMC)ที่กำกับดูแลกิจการสื่อสารไฟเขียวไม่คัดค้านการควบรวมระหว่างเซลคอมและดิจิ เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียต้องการให้ประเทศมีบริษัทโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย และที่สำคัญคือปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่วิกฤติการณ์ด้านการเงิน โดยไอเอ็มเอฟ ผู้นำจากอังค์ถัด องค์การการค้าโลก สถาบันการเงิน นักวิชาการชั้นนำของโลก ต่างออกมาเตือนว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ท้าทายที่สุด นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผนวกกับการก่อตัวของ Perfect Storm ทางเศรษฐกิจ
ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่า โลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เหมือนที่เคยเกิดในวิกฤติเศรษฐกิจยุค 70 พร้อมกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หลายประเทศมีแนวโน้มจะเผชิญสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ของอเมริกาออกมาตรการดูดซับเงินและทำให้เกิดกระแสดอกเบี้ยขาขึ้น ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งดึงเงินทุนให้ไหลเข้า โดยนักลงทุนทั่วโลกพร้อมซื้อบอนด์ของบริษัทเอกชนที่แข็งแกร่ง
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้มาเลเซียจึงเร่งให้เกิดการลงทุนเพิ่มในประเทศ โดยอนุมัติการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของบริษัทอันดับ 2 และ 3 ให้ก้าวมาเป็นอันดับ 1 เพื่อเกิดการแข่งขันมากขึ้น
ขณะที่การควบรวมทรูและดีแทคบริษัทโทรคมนาคมอันดับ 2 และ 3 ในไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยทรูและดีแทคได้ทำการยื่นรายงานต่อ กสทช. เพื่อแจ้งความประสงค์ที่จะควบรวมธุรกิจก่อตั้งบริษัทฯ ใหม่ร่วมกันไปตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา
“ประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งปรับตัว เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพื่อรีบกระโดดเข้าสู่กระแสแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลในจังหวะเดียวกับโลกที่หมุนอยู่ หันมามองบ้านเรา ที่วันนี้ถูกแซงและทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ จากความล่าช้าในการตัดสินใจของผู้กำกับดูแลภาครัฐที่ยังไม่ปรับตัว เพื่อรับกระแสโลก ยื้อไม่ปล่อยให้บริษัทโทรคมนาคมของไทยรวมตัวกันโดยเร็ว เพื่อเร่งสร้างการลงทุน ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง แข่งกับใครไม่ได้ แม้แต่แข่งกันเองในประเทศ”
การรวมกิจการของเอเชียต้าและดิจิ จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่มีความพร้อมสำหรับการลงทุนขยายเครือข่าย เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในส่วนของการรับส่งข้อมูลและการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล รวมถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนโซลูชั่น 5G ที่จะกระตุ้นโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ สำหรับองค์กรขนาดใหญ่และ SMEs
ตลอดจนดึงดูดและจับมือเป็นพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลในระดับโลก ในการสนับสนุนแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระดับชาติ หรือ JENDELA และโครงการ MyDigital ของมาเลเซีย
บริษัทใหม่ดังกล่าวจะสร้างพลังทวีคูณจากการประหยัดขนาด (economies of scale) เพื่อให้ประโยชน์แก่ลูกค้าผ่านช่องทางจัดจำหน่ายหลักที่แข็งแกร่งขึ้น การให้บริการเครือข่ายที่ดีขึ้น และประสิทธิภาพที่ได้จากกิจกรรมการดำเนินงานด้านต่าง ๆ
ซึ่งตอกย้ำความมั่นใจได้จากแผนการลงทุนสูงถึง 250 ล้านริงกิต ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อสร้างศูนย์นวัตกรรมระดับโลกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ให้มาเลเซียก้าวไปอยู่ในระดับแถวหน้าด้านวิวัฒนาการดิจิทัลระดับโลกและมีบทบาทสำคัญในการเดินหน้างานวิจัยและการพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น
ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G, AI และ IOT นอกเหนือจากการกระตุ้นและบ่มเพาะบุคลากรบนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับปณิธานด้านดิจิทัลของมาเลเซียแล้ว สตาร์ทอัพด้านดิจิทัลในประเทศจะสามารถใช้ประโยชน์จากฐานดังกล่าว เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนได้แบบก้าวกระโดดด้วย
การผนึกกำลังกันของผู้ให้บริการโทรคมนาคมเบอร์ต้น ๆ ของมาเลเซียครั้งนี้ จึงเป็นการผสานจุดแข็งของทั้งสองบริษัท ทั้งในด้านขนาด ประสบการณ์ เครือข่าย และความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ซึ่งจะเร่งผลักดันการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมดิจิทัลของมาเลเซียในตลาดภูมิภาค ผ่านเครือข่ายดิจิทัลที่แข็งแกร่ง มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
และความพร้อมในการนำเสนอบริการ นวัตกรรม และโซลูชันล้ำสมัยใหม่ ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งในประเทศและภูมิภาค จึงเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่มีศักยภาพของไทย ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับประเทศไทย
ดังนั้นจะเห็นว่า การรั้งหน่วงการควบรวมกิจการของไทยจะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยอ่อนแอลง รวมถึงขาดความน่าสนใจที่จะดึงดูดนักลงทุน ทั้งยังสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ ต่อการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐอย่างกสทช. ที่ขาดความชัดเจน รวดเร็ว และเข้มแข็ง
ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงค์โปร์ หรืออินโดนีเซีย ที่ให้การสนับสนุนนักลงทุนอย่างเต็มกำลัง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ไปต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การขยับตัวของมาเลเซียวันนี้น่าจะเป็นตัวอย่างและบทพิสูจน์ที่ดีให้กับผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทย ให้เร่งปรับตัว เปลี่ยนแปลง มองไปข้างหน้า กล้าตัดสินใจ เพื่อให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของไทยเข้าสู่กระแสเทคโนโลยีดิจิทัลของโลกได้ทัน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ไม่ทิ้งไว้เพียงประวัติศาสตร์ก้าวที่พลาดของผู้กำกับดูแลเหมือนในอดีตจากหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการล้มประมูลคลื่น 3G ที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ตลาด 3G ได้ล่าช้ากว่าทั้งโลก
และกรณีทีวีดิจิทัล ที่ยึดติดกับความต้องการเพียงว่าให้มีผู้เล่นจำนวนมาก จนทำให้ผู้ประกอบการหลายสิบรายต้องตายจากอุตสาหกรรม ทิ้งไว้เพียงร่องรอยความบอบช้ำที่ไม่มีใครช่วยเยียวยา และกล่องทีวีที่ไร้ค่า เป็นเครื่องเตือนใจการทำงานที่ล้มเหลวและตำนานด้านมืดของผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมของไทย