สภาดิจิทัล เร่งกระตุ้นทุกภาคส่วนสนับสนุน หญิงไทยให้เข้าถึง ICT

04 ก.ค. 2565 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2565 | 17:40 น.

สภาดิจิทัล ผนึกกำลังผู้บริหารหญิง-เยาวชนหญิง ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงบนเวทีระดับโลก “Girls in ICT Access and Safety”

จากกรณีที่ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานพัฒนาโทรคมนาคมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) องค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ  จัดเวทีระดับโลก “Girls in ICT Access and Safety” ผ่านรูปแบบออนไลน์นั้น

 

ล่าสุดนายศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ขณะนี้ความท้าทายที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกมีอยู่ 3 เรื่องสำคัญคือ 1.การจัดการความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน  2.การปรับตัวสู่ดิจิทัลและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และ3.การสร้างความตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันเรากำลังก้าวไปสู่ยุค 5.0 จำเป็นต้องผสมผสานระหว่าง “เทคโนโลยี” เข้ากับ “กรอบความคิด” (Mindset) ในการวางรากฐานทางสังคมเพื่อลดช่องว่าง ลดอคติ

 

รวมไปถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กหญิงและสตรีให้เพิ่มมากขึ้น เพราะจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า มีผู้หญิงเพียง 37% ที่จบการศึกษาด้านไอซีทีและวิศวกรรม ซึ่งเหตุผลที่ผู้หญิงสนใจในด้านดังกล่าวน้อยอาจเนื่องมาจากช่องว่างระหว่างเพศ และบรรทัดฐานสังคม ทั้งนี้จึงต้องมีการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้น จึงต้องมีการวางแนวทางใน 5 ด้านสำคัญ คือ

 1. ต้องเริ่มจากตั้งเป้าหมาย

 2. สร้างตัวชี้วัดและประกาศเป็นนโยบายที่มีความโปร่งใส 3.ขับเคลื่อนตามกลไกการตลาดสร้างวัฒนธรรมให้เกิดความเท่าเทียม

 4.เปิดโอกาสให้ผู้หญิงแสดงความสามารถและเปิดโอกาสเป็นผู้นำ

และ5.พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ผู้หญิงเข้าถึงได้มากขึ้น 

“สภาดิจิทัลฯ มีแนวทางส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ทั้งในด้านการศึกษาและ ICT ของไทยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดช่องว่างลดความแตกต่างทางเพศ ซึ่งเราไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากผู้นำสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ในการพัฒนาหญิงรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน ICT รวมถึงการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานหญิงให้สามารถแข่งขันเตรียมพร้อมสู่ยุค 5.0 ที่สำคัญต้องสร้างต้นแบบหรือผู้นำทางความคิดในการพัฒนาความสามารถด้าน ICT และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับเด็กหญิงและสตรีในทุกระดับเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคม” นายศุภชัย กล่าว

 

 

 

ด้านศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านวิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียมดังกล่าวมาจาก 3 เรื่องหลักคือ1.ความรู้ด้านดิจิทัล 2.การเข้าถึง และ3.ความปลอดภัยทางออนไลน์ ทั้งนี้พบว่าผู้หญิงมีความรู้และโอกาสในการเข้าถึงICT น้อยกว่าผู้ชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และยังพบว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงด้านการคุกคามทางเพศและถูกกลั่นแกล้งมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้กสทช.ในฐานะผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการ คนสูงอายุ กลุ่มด้อยโอกาส และกำลังจะขยายไปในกลุ่มสตรี เยาวชน ได้มีการส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อ และเร่งสื่อสารแนวปฏิบัติการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้เกิดความเหมาะสม โดยมองว่าประเด็นดังกล่าวต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการผลักดันนโยบาย และกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในICTอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

สภาดิจิทัล  เร่งกระตุ้นทุกภาคส่วนสนับสนุน หญิงไทยให้เข้าถึง ICT

ขณะที่ นางสาวกมลนันท์ เจียรวนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์  มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี  กล่าวว่า  ความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้หญิงควรหยิบยกเป็นประเด็นสำคัญ ผู้หญิงก็ควรต้องต่อสู้กับบรรทัดฐานทางสายอาชีพบางอาชีพที่สังคมกำหนดให้แค่ผู้ชายเข้าไปทำงาน โดยพบว่ามีผู้หญิงเพียง 19% เท่านั้นที่จบการศึกษาด้าน STEM และมีผู้หญิงเพียง 24% ได้ทำตำแหน่งผู้จัดการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่วงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยผู้ชายอย่างมีนัยยะสำคัญ  ดังนั้นบรรทัดฐานสังคมยุคจึงนี้ควรเปลี่ยนแปลงและเปิดรับให้โอกาสผู้หญิงได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรืออย่างน้อยต้องเข้าใจความสำคัญของยุคดิจิทัล เพื่อขยายโอกาสทางความรู้และอาชีพให้แก่ผู้หญิง ผลักดันให้การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายในทุกพื้นที่ ในขณะเดียวกันผู้ปกครองต้องสร้างกรอบความคิดให้เด็กผู้หญิงมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกความจริงกับโลกออนไลน์ได้อย่างสมดุลและปลอดภัย ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าหากสังคมเปิดโอกาสในการเข้าถึง ICT จะทำให้ผู้หญิงสามารถขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรมเพื่อสร้างโอกาสให้สังคมอย่างยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ได้เช่นกัน.