กรณีกรมสรรพากรมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre) โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นั้นถือเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ และ กิจการที่เกี่ยวเนื่องในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค โดยคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะช่วยให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท
นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่ามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre) โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถือเป็นจุดเริ่มที่ดีในการช่วยสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทยของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเพิ่มกฎระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “Best In Class” ให้ครอบคลุมทั้งด้านประสิทธิภาพของทรัพยากรและสามารถนำไปสู่เป้าหมาย
รวมทั้งใช้เป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ที่มากไปกว่าการสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทยของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ แต่เป้าหมายสูงสุดของภาครัฐฯ ยังควรตั้งเป้ารวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งจากสหรัฐฯ และจีนที่ให้บริการในไทยด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดกลุ่มบริการ ดาต้า เซ็นเตอร์ ให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเฉพาะ เนื่องจากเวลานี้อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ ถูกกำหนดว่าเป็นธุรกิจที่เป็นการผสมผสานระหว่างบริการโทรคมนาคมและบริการอินเทอร์เน็ต
คาดว่าดาต้าเซ็นเตอร์จะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรให้ความใส่ใจมากขึัน อาทิ ในด้านต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวจะใช้พลังงานอย่างน้อย 207 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 หากรัฐบาลจัด “ค่าไฟฟ้าในอัตราพิเศษ” สำหรับผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ จะเป็นการช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างตรงจุด
ท้ายที่สุดหากรัฐบาลจริงจังกับการให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและทำให้ไทยเป็นผู้นำในอาเซียนอย่างแท้จริง รัฐฯ ก็ควรผลักดันให้มี “กฎหมายอธิปไตยข้อมูล” (Data Sovereignty Laws) เพื่อกำหนดให้มีการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมทางการเงินและการธนาคารไว้ภายในประเทศ
ขณะที่นายพิเชฏฐ เกตุรวม ผู้จัดการประจำประเทศไทยของเวอร์ทีฟ ผู้ให้บริการโซลูชั่นศูนย์ข้อมูล หรือ ดาต้าเซ็นเตอร์ แบบครบวงจร กล่าวว่ากรณีที่ ครม. อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์นั้นก่อให้เกิดผลดีเป็นอย่างมาก และจะเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศไทยในการดึงดูดให้มีผู้มาลงทุนมากขึ้น การที่รัฐบาลมีสิ่งจูงใจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกื้อหนุนให้มีการสนับสนุนการเติบโตมากขึ้นในตลาดไทย โดยลดปัจจัยด้านต้นทุนการดำเนินการลง เนื่องจากไม่ต้องเสีย VAT 7% นโยบายนี้จะสร้างผลกระทบเชิงกลยุทธ์ในเชิงบวกให้กับประเทศไทยโดยกว้าง จะสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ทางการเงิน ทั้งผู้ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วและนักลงทุนรายใหม่โดยรวม
จากปัจจัยที่รัฐบาลมีมาตรการยกเว้น VAT 7% ให้ นอกจากจะมี BOI ให้เป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว จะเร่งให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในปัจจุบันลงทุนเพิ่มขึ้นหรือผ่านการร่วมทุน และจะเร่งให้ผู้ที่พร้อมจะลงทุนอยู่แล้วเข้าสู่การดำเนินการ คาดการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมดาต้า เซ็นเตอร์ ภายใน 3 ปี จะมีนักลงทุนในอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ 7-10 รายเป็นอย่างน้อย แบ่งเป็นผู้ประกอบการภายในที่จะขยายกิจการที่ตนมีอยู่ และนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามา หรือนับเป็นการลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ประมาณ 15,000 แรค
ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอระบุว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดให้การส่งเสริมกิจการ ดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) เมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการดาต้าเซ็นเตอร์ แล้วทั้งสิ้น 10 ราย เงินลงทุนรวม 22,355 ล้านบาท โดยรายใหญ่ที่สุดคือ ซุปเปอร์แนป จากประเทศสหรัฐอเมริกา มีเงินลงทุนสูงถึงเกือบ 7,000 ล้านบาท
ปัจจุบันจำนวนดาต้าเซ็นเตอร์ในอาเซียน สิงคโปร์ จะมีมากที่สุด คือ ประมาณ 100 แห่ง รองลงมา คือ อินโดนีเซีย 62 แห่ง มาเลเซีย 44 แห่ง และไทย เป็นลำดับที่ 4 มี 29 แห่ง แต่สิงคโปร์มีข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งในแง่พื้นที่และกำลังผลิตไฟฟ้า ขณะที่ความต้องการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์สูงขึ้น แนวโน้มของธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์จะขยายมาที่ไทยและประเทศอื่นในอาเซียนมากขึ้น โดยไทยมีความได้เปรียบ ทั้งศักยภาพของตลาดในประเทศ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการส่งเสริมดิจิทัลรัฐบาล ความเสถียรของไฟฟ้า รวมทั้งความสามารถการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อป้อนให้ดาต้าเซ็นเตอร์