"ดีอี" เตือนข่าวปลอม รับพนักงานตรวจสอบเที่ยวบิน รายได้ 15,000 บาท

30 ก.ย. 2566 | 04:09 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2566 | 04:23 น.

“ดีอี” เตือนข่าวปลอม อย่าแชร์ กรมการจัดหางานรับสมัครพนักงานตรวจสอบเที่ยวบิน รายได้ 15,000 บาท /เดือน” ขึ้นแท่นอันดับ 1 สองสัปดาห์ซ้อน

วันนี้ 30 กันยายน 2566 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 22 – 28 กันยายน 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,277,121 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 204 ข้อความ ทั้งนี้ ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 168 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 36 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 123 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล จำนวน 58 เรื่อง 

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 31 เรื่อง 

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 12 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 22 เรื่อง 

โดยเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 15 เรื่อง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมด้านกลุ่มนโยบายรัฐ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
 
อันดับที่ 1 : กรมการจัดหางานรับสมัครพนักงานตรวจสอบเที่ยวบิน รายได้ 15,000 บาท/เดือน

อันดับที่ 2 : เพจเฟซบุ๊กรับสมัครงานออนไลน์ถูกรับรองโดยกระทรวงพาณิชย์

อันดับที่ 3 : เพจ Department of Transport โดยกรมการขนส่งฯ รับทำใบขับขี่ใหม่/ต่ออายุออนไลน์

อันดับที่ 4 : วัดพระบาทน้ำพุ เปิดรับบริจาคและร่วมสมทบทุนซื้อยา

อันดับที่ 5 : กินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู

อันดับที่ 6 : จิกนิ้วค้างไว้ 5 วินาที ช่วยลดความดันโลหิต และการไหลเวียนของเลือด

อันดับที่ 7 : ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้ซื้อกองทุนรวม ตัวหุ้น BTS ขั้นต่ำ 100 หุ้น

อันดับที่ 8 : เพจซื้อขายหุ้นไทย ชวนลงทุนขายกองทุนรวมหุ้นทองคำ

อันดับที่ 9 : หมักผมด้วยกระเทียม รักษาผมร่วง

อันดับที่ 10 : LINE DGA THAILAND ประชาสัมพันธ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอความร่วมมือประชาชน เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ เพื่อความปลอดภัยและรู้เท่าทัน โดยทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ติดตามความเคลื่อนไหวข้อความที่ผิดปกติในทุกช่องทางและได้มีการติดตามการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องประชาชนจากมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ หากท่านได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติ ผ่านเอสเอ็มเอส หรือทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น สามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ antifakenewscenter เว็บไซต์ http://www.antifakenewscenter.com ทวิตเตอร์ http://twitter.com/AFNCThailand   และช่องทางโทรศัพท์สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง