นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,185,068 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 323 ข้อความ
ทั้งนี้มีเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 241 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 218 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่านบัญชี TikTok baitoey049
อันดับที่ 2 : เรื่อง บัญชีไลน์ธนาคารอิสลาม iBank 4 All (โล่สีเทา) เปิดให้ลงทะเบียนขอสินเชื่อ
อันดับที่ 3 : เรื่อง สินเชื่อกรุงไทย 100,000 บาท ผ่อนเพียง 1,750 บาท
อันดับที่ 4 : เรื่อง บัญชีไลน์ aurora3446 ได้รับรองการแนะนำลงทุนโดยสำนักงาน ก.ล.ต.
อันดับที่ 5 : เรื่อง ลงทุนกับบริษัท ฮั่วเช่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ร่วมกับ ก.ล.ต. กำไร 12-30%
อันดับที่ 6 : เรื่อง บัญชีไลน์เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินทรัพย์ดิจิทัล และนวัตกรรมทางการลงทุนของสำนักงาน ก.ล.ต. ชักชวนลงทุน
อันดับที่ 7 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ AMATA เปิดกองทุนผู้สูงอายุ เริ่มต้นที่ 1,299 บาท
อันดับที่ 8 : เรื่อง เพจ Thai Stock Securities ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โฆษณาชวนลงทุนหุ้น
อันดับที่ 9 : เรื่อง ธ. อิสลามปล่อยสินเชื่อผ่านทางไลน์ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์และบุคคลค้ำประกัน
อันดับที่ 10 : เรื่อง ธนาคารอิสลามให้บริการสินเชื่อ ผ่านบัญชี Tiktok @ibanktuti9y
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีการอ้างถึงธนาคารรัฐ และหน่วยงานรัฐ จึงทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือและมีความสนใจเป็นอันดับต้นๆ โดยหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายและผลกระทบทั้งในส่วนบุคคล และประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้” นายเวทางค์กล่าว