นายเจฟฟ์ จอห์นสัน กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียนของ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับบลิวเอส (Amazon Web Services : AWS) เผยวิสัยทัศน์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน งาน “ASEAN ECONOMIC OUTLOOK 2025 the rise of asean a renewing opportunity” ที่จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2567 โดย AWS เตรียมเปิดตัวศูนย์ข้อมูลในกรุงเทพฯ ต้นปี 2568 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้บริการคลาวด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้
และได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพมหาศาลของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัล “อาเซียนมีประชากรมากกว่า 680 ล้านคน โดย 61% ของประชากรอยู่ในวัยต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการใช้ดิจิทัลที่สูงมาก” และเสริมว่าภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใหม่กว่า 125,000 รายต่อวัน
คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปีข้างหน้า และอาเซียนมีแนวโน้มจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2573 นอกจากนี้ การใช้บริการระบบคลาวด์และการเติบโตทางดิจิทัลที่ครอบคลุมในหลายประเทศ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ได้อย่างยั่งยืน
AWS เป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์ที่เปิดตัวในอาเซียนที่สิงคโปร์ และขยายตัวไปยังจาการ์ตา มาเลเซีย และล่าสุดประกาศเปิดตัวศูนย์ข้อมูลในกรุงเทพฯ ต้นปี 2568 ซึ่งการเปิดศูนย์ข้อมูลในไทยเป็นสัญญาณที่ดีของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในภูมิภาคนี้ โดยที่ผ่านมามีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค รวมถึงในประเทศไทย จากที่ได้ประกาศแผนการ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับโลก “AWS Asia Pacific (Bangkok) Region” ด้วยเงินลงทุนราว 1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลาจนถึงปี 2580
การเปิดศูนย์ข้อมูลใหม่เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางดิจิทัลในระดับภูมิภาคและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการปกป้องข้อมูล ความปลอดภัย และการดำเนินงานอย่างยั่งยืน
ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จะมีโซนความพร้อมใช้งานที่ให้การป้องกันข้อมูลและการปฏิบัติตามข้อกำหนดระดับสูงสุดแก่ลูกค้าของเรา
ความปลอดภัยของข้อมูลเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ AWS ให้ความสำคัญอย่างมาก นายเจฟฟ์กล่าวว่า AWS มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อน “AWS ได้รับการออกแบบมาให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก มีมาตรฐานความปลอดภัยและการรับรองการปฏิบัติตามข้อกำหนดมากกว่า 143 รายการ ซึ่งลูกค้าในอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อความปลอดภัย เช่น ธนาคาร และบริการด้านการดูแลสุขภาพเลือกใช้บริการของAWSอย่างมั่นใจ”
ตามรายงานจาก IDC การใช้จ่ายในเทคโนโลยีความปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นเป็น 36,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งเติบโตขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และย้ำว่า AWS มุ่งมั่นในการสร้างความปลอดภัยและความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานในระยะยาวเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในภูมิภาคนี้
นอกจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งแล้ว AWS ยังมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน โดย AWS ได้ฝึกอบรมผู้คนกว่า 31 ล้านคนทั่วโลกผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมด้านดิจิทัลฟรี และได้ให้การฝึกอบรมแก่ผู้คนในอาเซียนจำนวน 1.3 ล้านคนตั้งแต่ปี 2560 ในประเทศไทย AWS ได้ฝึกอบรมคนทำงานกว่า 50,000 คน โดยตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมคนเพิ่มเติมเป็น 100,000 คนภายในปี 2569
AWS ยังมีโปรแกรม “AWS Skill Builder” ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานในไทยเข้าถึงชั้นเรียนออนไลน์ฟรีกว่า 600 รายการ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะและเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล
นายเจฟฟ์ จอห์นสันสรุปว่า AWS ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นในการสร้างอนาคตดิจิทัลที่แข็งแกร่งและปลอดภัย แต่ยังคำนึงถึงการสร้างอนาคตดิจิทัลที่ยั่งยืน “ที่ AWS เรามองว่าการสร้างอนาคตดิจิทัลไม่ได้หมายถึงการสร้างเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือต้องทำอย่างยั่งยืน”
AWS มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ความรับผิดชอบเหล่านี้สะท้อนถึงค่านิยมของ Amazon ซึ่งอยู่ใน DNA ของเรา เรามองระยะยาวและเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน