thansettakij
ชี้ไทยต้องเร่งปั้นคน AI เปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี

ชี้ไทยต้องเร่งปั้นคน AI เปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี

27 มี.ค. 2568 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2568 | 07:45 น.

ดีป้า- สภาดิจิทัล ระบุไทยต้องเร่งพัฒนาทักษะ AI ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ทั้งในภาคธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวในการสัมมนา "AI Revolution 2025: A New Paradigm of New World Economy" ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจในช่วง Panel Discussion: AI & Digital Talent: Building Future-Ready Thai Entrepreneurs ว่า ประเทศไทยยังมีผู้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างจริงจังไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมด โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเขตเมืองและภาคธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ ขณะที่ประชาชนในวงกว้างยังขาดความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงขาดเครื่องมือรองรับที่เหมาะสม

ชี้ไทยต้องเร่งปั้นคน AI เปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการประมาณ 700,000–800,000 ราย โดยแบ่งออกเป็นนิติบุคคลขนาดต่าง ๆ จากนั้นมีเพียงประมาณ 500,000 รายที่สามารถแข่งขันได้จริง เนื่องจากยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงเทคโนโลยี ทุน และทักษะพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและแรงงานนอกระบบ

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามยังพบว่า ผู้ใช้งาน AI ในชีวิตประจำวันยังคงจำกัด โดยส่วนใหญ่ใช้งานแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น โซเชียลมีเดียหรือเครื่องมือจากบริษัทข้ามชาติ ขณะที่ผู้ประกอบการในไทยยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนเองได้ ทำให้ไทยยังพึ่งพิงเทคโนโลยีจากภายนอกอย่างมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ดีป้าเห็นว่า ควรจะเร่งแก้ไข

ทั้งนี้ดีป้าเสนอให้แบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มทั่วไป: กลุ่มที่ใช้งาน AI เพียงเพื่อความสะดวก ควรพัฒนาให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

กลุ่มแรงงาน: กลุ่มที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ ควรได้รับการฝึกอบรมและสนับสนุนทางการเงิน เช่น ลดหย่อนภาษีหรือสนับสนุนค่าเรียนรู้และ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ: กลุ่มที่ต้องการพื้นที่และโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง

ผศ.ดร.ณัฐพล ยังแนะนำให้ไทยนำแนวทางจากประเทศสิงคโปร์มาใช้ โดยรัฐควรกำหนดนโยบายให้ประชาชนไม่เพียงแต่เป็นผู้ใช้ AI แต่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ในระดับประเทศ เพื่อไม่ให้ตกขบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก

การออกแบบระบบเรียนรู้แบบใหม่โดยการเข้าถึงง่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการใช้โค้ชจากผู้เชี่ยวชาญ และการฝึกอบรมแบบเปิด (Open Course) จะช่วยให้ประชาชนสามารถพัฒนาทักษะในด้านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้รัฐบาลต้องออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปที่ลงทุนในการเพิ่มทักษะ

ประเทศไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศในอาเซียนได้หากไม่เร่งปรับโครงสร้างการศึกษาและระบบพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและแรงงานภาคการผลิต โดยเฉพาะกับประเทศเวียดนามและมาเลเซียที่กำลังพัฒนาแรงงานด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ดังนั้นการพัฒนาคนให้เข้าใจและใช้งาน AI ได้อย่างแท้จริงจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ประเทศไทยจะตกเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีได้อย่างไร หากต่างชาติสามารถดึงหัวกะทิจากประเทศไปหมด เราต้องแบ่งกลุ่มประชากรให้ชัดเจนและกำหนดทิศทางในการพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างชาญฉลาด

ชี้ไทยต้องเร่งปั้นคน AI เปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี

ด้าน ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้ AI ในฐานะผู้บริโภค โดยไม่รู้ตัวว่าปัจจุบันเทคโนโลยี AI ได้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันแล้ว เช่นในซอฟต์แวร์สำนักงาน หรือเครื่องมือแต่งภาพ ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า ประเทศไทยจะเป็นแค่ผู้ใช้เทคโนโลยี AI หรือจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีในสนามระดับโลก

ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีบุคลากรที่สามารถเขียนโปรแกรมได้จริงเพียง 1% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียที่มีคนเรียนด้าน STEM สูงถึง 50% นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยยังไม่สามารถผลิตเทคโนโลยี AI ของตัวเองได้

“อินเดียที่เคยถูกมองว่าไม่สามารถพัฒนา AI ได้ แต่สามารถใช้เงินจำนวนไม่มากในการสร้างโมเดล AI ของตัวเองจนประสบความสำเร็จ และตอนนี้อินเดียกำลังจะพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทข้ามชาติอีกต่อไป”

ดร.อธิป กล่าวว่า การที่ AI ทำให้ต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจลดลงอย่างมหาศาล ทำให้พนักงานที่มีศักยภาพสามารถสร้างธุรกิจใหม่ได้ ด้วยการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับวิธีคิดโดยด่วน หากยังต้องการอยู่รอดในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยการพัฒนา AI ภายในประเทศจะสามารถสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจไทยและช่วยให้ไทยก้าวขึ้นไปสู่การเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีในระดับโลกได้ในอนาคต