ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,238,996 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 277 ข้อความ
แบ่งเป็นข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 243 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Line Official จำนวน 34 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 166 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคมขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศจำนวน 71 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 72 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 14 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 9 เรื่อง
สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 2 เรื่อง
ดร.เวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมด้านนโยบายรัฐบาล และสุขภาพ สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566 ได้แก่
อันดับที่ 1 เรื่องเพจเฟซบุ๊กของธนาคารออมสินเปิดให้ลูกจ้างประจำยืมเงินไม่ต้องมีคนค้ำ
อันดับที่ 2 เรื่องเพจ Collins Tammy รับทำใบขับขี่สำหรับบุคคลที่ไม่เคยมีบัตรหรือต่ออายุ
อันดับที่ 3 เรื่องกรมการจัดหางานเปิดรับสมัครพนักงานออนไลน์ อายุ 20 ปีขึ้นไป
อันดับที่ 4 เรื่องลุกจากที่นอนกะทันหัน ทำให้กระดูกกะโหลกศีรษะแตก หัวใจหยุดเต้น
อันดับที่ 5 เรื่องลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ผ่าน SMS ได้
อันดับที่ 6 เรื่องต้องปิดท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เพราะหมอกควันบดบังทัศนวิสัย
อันดับที่ 7 เรื่องข้อนิ้วข้อมือบวมใหญ่ มี 2 สาเหตุ คือ รูมาตอยด์ หรือแคลเซียมสะสม รักษาโดยทำให้เลือดเป็นด่าง
อันดับที่ 8 เรื่องบริษัท การบินไทย เปิดรับสมัครพนักงานจำนวนมาก ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา
อันดับที่ 9 เรื่องส่งข้อความทักทายเป็นรูป หรือภาพเคลื่อนไหว ทำให้ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวได้
อันดับที่ 10 เรื่องผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสร้างเพจเฟซบุ๊ก
“ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียล/ออนไลน์ โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ www.antifakenewscenter.com/ twitter.com/AFNCThailand ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง ” ดร.เวทางค์ กล่าว