ETDA เตรียมเปิดศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ 8 พ.ย.นี้

02 พ.ย. 2565 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 19:16 น.

เอ็ตด้า เตรียมเปิดตัว“ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ แหล่งรวมความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาลการประยุกต์ใช้ AI ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมจับมือ 3 “เนคเทค- กรมการแพทย์- กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” ลงนาม MOU เร่งสร้างกรอบธรรมาภิบาลประยุกต์ใช้ AI วงการการแพทย์

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์   ผู้อำนวยการ  สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า  ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตของเราในทุกมิติ ทั้ง การทำงาน การทำธุรกิจ การเรียนการสอน การทำธุรกรรมทางการเงิน การรักษาพยาบาล และการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้แทบทั้งสิ้น

ETDA เตรียมเปิดศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์  8 พ.ย.นี้

และล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) ไปแล้ว

โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนดังกล่าว คือ การเตรียมพร้อมให้การประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล มีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ใช้งานมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดย ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศ (Ecosystem) ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และเกิดความเชื่อมั่นในการใช้งาน

 

จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในประเด็นต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงในมุมของการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันมากขึ้น โดยได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์ อย่าง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ร่วมกันผ่านโครงการสำคัญ อาทิ การศึกษา AI Standard Landscape ของประเทศไทย เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะ/มาตรฐานการประยุกต์ใช้ AI การศึกษาหลักเกณฑ์การตรวจประเมินการทำงานของโปรแกรมที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

นำมาสู่ก้าวสำคัญของการยกระดับมาตรฐานของการใช้งาน AI ได้อย่างมีธรรมาภิบาลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด กับงาน “Building Trust and Partnership in AI Governance” ที่จะจัดขึ้น ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นี้ เพื่อเปิดตัว “ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance Clinic by ETDA (AIGC)” ที่ ETDA ร่วมกับพาร์เนอร์ทั้งจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของไทยและสอดคล้องกับแนวนโยบายในระดับสากล

พร้อมเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรในระดับต่างๆ ที่มีการดำเนินงานร่วมกับ สถาบัน ADTE (Academy of Digital Transformation by ETDA) และศูนย์ AIGC นี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศที่จะคอยให้คำปรึกษาด้านนโยบายและธรรมาภิบาลในการประยุกต์ใช้งาน AI  โดยคำนึงถึงมิติต่างๆ ที่สำคัญ

 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ETDA และพาร์ทเนอร์ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), กรมการแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในการร่วมกันพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ในวงการแพทย์ ที่สอดคล้องกับบริบทของคนไทยและร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI ระหว่างกัน สร้างความรู้ความเข้าใจด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ AI Governance Clinic แห่งแรกของประเทศไทยไปด้วยกัน

 

ที่สำคัญ ในงานดังกล่าวยังเปิดพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ ผ่านหัวข้อการพูดคุยที่น่าสนใจ ได้แก่

•             การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “The need for Thailand AI Governance: Why What and How?” โดย ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA ที่จะมาบอกเล่าถึงที่มาและความสำคัญของการมีศูนย์ AI Governance Clinic by ETDA หรือ AIGC ที่จะทำให้การใช้งาน AI อย่างมีธรรมาภิบาลเป็นที่ยอมรับของสากลได้อย่างไร?

•             การเสวนาหัวข้อ “The Need for AI Governance” ที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักตัวอย่างของความสำเร็จของการประยุกต์ใช้ AI ทางการแพทย์ ตลอดจนผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และทิศทางของการมีธรรมาภิบาลในการประยุกต์ใช้ AI ที่น่าสนใจ และความสำคัญของการกำหนดนโยบายและธรรมาภิบาลในการใช้ AI สำหรับกลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข นำโดย

ดร. น.พ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ และอาจารย์ ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ศาสตราจารย์ คลินิก น.พ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมสาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ศาสตราจารย์ คลินิก ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ สถาบันร่วมผลิตแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี มหาวิทยาลัยรังสิต, Professor Dr. Urs Gasser คณบดีคณะสังคมศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA (ดำเนินรายการ)