ต้องยอมรับว่า AI ได้พัฒนาไปไกลในการสร้างสรรค์ชิ้นงานรูปแบบต่างๆ ให้ออกมาได้เทียบเท่าหรือดีกว่ามนุษย์แล้ว แต่กระนั้น AI ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากในหลายๆ ด้าน เช่น เรื่องของการเข้าใจความต้องการเชิงลึก (insight) ของคน การเข้าใจในบริบท หรือ cultural context ความเข้าใจในเชิงอารมณ์ ที่ส่งผลไปถึงการสร้างเนื้อหาที่แตกต่างอย่างมีคุณค่าสำหรับมนุษย์ เรามักจะพบว่าชิ้นงานดีๆ ที่ถูกสร้างขึ้นโดย AI นั้น
เริ่มจากการที่มนุษย์เป็นผู้ป้อนข้อมูลเริ่มต้นเพื่อกำหนดทิศทาง เป็นขั้นตอนแรกให้ AI นำไปประมวลผลก่อนจะผลิตผลงานออกมา ซึ่งข้อมูลเริ่มต้นนี้ ก็มีส่วนผสมของ Insight จากที่มนุษย์ได้ทำการสังเกต รวบรวมวิเคราะห์ หรือบริบททางอารมณ์ ที่มนุษย์เองก็เป็นผู้ที่เข้าใจในส่วนนี้ดีที่สุด เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ด้วย และหากขาดข้อมูลในส่วนนี้ไป AI ก็จะไม่สามารถสร้างชิ้นงานออกมาได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้ปัจจุบัน AI จึงยังไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด
สำหรับมนุษย์ ในฐานะของผู้เป็นต้นแบบให้กับ AI สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ นั่นก็คือการคิดรูปแบบวิธีสื่อสาร ผ่านรายละเอียดเล็กๆ ของความต้องการเชิงลึกของมนุษย์ ที่ต้องมีการใส่อารมณ์ ความรู้สึก หรือเรื่องราวเข้าไปในชิ้นงาน
ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่าง “content ทั่วๆ ไป” ที่สามารถถูกสร้างขึ้นโดย AI และ “content ที่มีคุณค่าและมีความเกี่ยวข้องทางอารมณ์” ที่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำได้ มนุษย์จึงไม่ควรหยุดที่จะพัฒนาทักษะต่างๆเหล่านี้ เช่นทักษะความเข้าใจในบริบท ไม่ว่าจะบริบทในเชิงธุรกิจ หรือบริบททางอารมณ์ของผู้คน หรือทักษะในการคัดกรองและสร้างสรรค์เนื้อหา ให้เหมาะสมกับความต้องการเชิงลึกของมนุษย์และจริยธรรม
นอกจากนี้ แทนที่จะมองว่า AI เป็นคู่แข่งที่จะมาแย่งงานของมนุษย์ เพราะถึงแม้ว่า AI จะทำงานได้รวดเร็วและช่วยประหยัดในเรื่องของต้นทุน แต่ถึงอย่างไรมนุษย์ก็ได้เปรียบในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารเล่าเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงให้ใช้ AI ในบทบาทการทำงานที่เป็นผู้ช่วยของมนุษย์แทน เช่น การให้ AI ทำงานต่อยอดจากข้อมูลหรือ insight ต่างๆ ที่มนุษย์มี
ยกตัวอย่างในการทำภาพจำลองภาพหนึ่ง แทนที่มนุษย์จะเป็นคนทำ เราอาจจะป้อนข้อมูลในสิ่งที่ได้จากการคิดวิเคราะห์ และผ่านการเลือกสรรมาแล้วให้กับ AI ไปทำภาพนั้นขึ้นมาแทน หรือในเวลาที่มนุษย์เกิดภาวะตันทางความคิด เราก็สามารถใช้ AI Generative Art ในการป้อนคำศัพท์หรือข้อมูลเริ่มต้น ที่มาจาก insight ต่างๆ ของมนุษย์ เพื่อให้ AI ช่วยต่อยอดความคิดออกมา ให้มนุษย์สามารถนำชิ้นงานที่ได้จาก AI มาทำงานต่อได้อย่างเหมาะสม จะเห็นได้ว่ามนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากการที่มี AI เข้ามาได้หลากหลายวิธี
https://pixabay.com/illustrations/ai-technology-high-tech-robot-5202865/
“AI will be back”
จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ AI จะสามารถสร้างขึ้นมาได้เองนั้น ยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็น Generic content ทั่วไป ไม่แตกต่าง ไม่โดดเด่น มีความเป็น pattern เว้นเสียแต่ว่า AI จะได้รับข้อมูลหรือชุดคำสั่งที่ผ่านการคัดเลือกและวิเคราะห์จากมนุษย์เป็นจำนวนมากเพียงพอ ให้สามารถมาต่อยอดสร้างสรรค์ชิ้นงานที่แปลกใหม่ และตรงใจมนุษย์ขึ้นมาได้
ซึ่งการจะป้อนข้อมูลได้จำนวนมากระดับนั้นก็ต้องอาศัยทั้งพลังและเวลาของมนุษย์อย่างมากในการคัดกรองข้อมูล รวมไปถึงการเรียนรู้วิเคราะห์จากการใช้งานที่ผ่านๆ มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI นั้นมีประโยชน์ในการช่วยมนุษย์ให้สะดวกสบายมากขึ้น ช่วยในการลดเวลาและต้นทุนของการสร้างสรรค์เนื้อหาด้านต่างๆ ได้มากทีเดียว
สำหรับมนุษย์ นี่อาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่ายุคของการสร้าง content ที่ไม่มีคุณภาพกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว ในเมื่อ AI สามารถทำในส่วนนี้แทนได้ เราจึงต้องไปโฟกัสการสร้าง content ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่กระบวนการหา insight การเลือกวิธีเล่าเรื่อง หรือวิธีการสอดแทรกรายละเอียดต่างๆ เข้าไปในเนื้อหา ที่ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกเกี่ยวข้องทางอารมณ์ ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้ ล้วนต้องอาศัยการฝึกฝน ค้นคว้าจนเชี่ยวชาญ และทักษะในส่วนนี้เองก็เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวมนุษย์มี “คุณค่า” มากกว่า AI เช่นกัน
สุดท้าย แม้ว่าวันนี้ AI จะยังไม่เทียบเท่ามนุษย์ แต่นักการตลาดทั่วโลกเชื่อว่า AI จะกลับมาพร้อมกับความสามารถที่มากกว่าเดิมในอนาคตอันใกล้ อาจจะในอีก 5 ปี 10 ปี ซึ่งในวันนี้ สำคัญที่เราต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างคุณค่าในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ และเตรียมรับมือกับความสามารถของ AI ที่จะมาท้าทายฝีมือมนุษย์ในวันข้างหน้า
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,824 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565