‘เลอโนโว-เอเซอร์’ เชื่อ ‘AI PC’ จุดขายใหม่ปลุกชีพตลาดคอมพ์

01 ก.พ. 2567 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2567 | 09:01 น.

ยักษ์คอมพ์โลก เลอโนโว-เอเซอร์ เชื่อ “AI PC” ปฎิวัติอุตสาหกรรมไอที ฟื้นชีพตลาดพีซีหลังซบเซา 3 ปี เลอโนโว วางยุทธศาสตร์มุ่ง “AI PC” เตรียมยกทัพโปรดักส์ใหม่เสริมยกแผง ขณะที่ “เอเซอร์” ชี้ AI มาช่วยให้พีซีฉลาดล้ำมากขึ้น กระตุ้นตลาดเติบโต

KEY

POINTS

  • เลอโนโว มอง AI เป็นการปฎิวัติครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมไอที โดยชิป AI และซอฟต์แวร์ AI จะถูกใส่ลงในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่เริ่มแล้วและสร้างกระแสชัดเจน
  • AI PC จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค จากเดิมโดยสิ้นเชิง สามารถสั่งการคอมพิวเตอร์ด้วยเสียง เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค จัดสรรทรัพยากรให้สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
  • เอเซอร์ ชี้  AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญพลิกโฉมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ มี AI ประกอบอยู่ภายในตัว จะทำให้นักพัฒนาสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาแอปใหม่ๆ ช่วยกระตุ้นให้ตลาดพีซี มีการเติบโตขึ้น 

นายวรพจน์ ถาวรวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจคอนซูเมอร์ เลอโนโว เอเชียแปซิฟิกกลาง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ายุทธศาสตร์หลักของเลอโนโวที่วางไว้ปีนี้คือการมุ่งการพัฒนาอุปกรณ์ หรือ ดีไวซ์ ที่มี AI ประกอบอยู่ภายในตัวอุปกรณ์

‘เลอโนโว-เอเซอร์’ เชื่อ ‘AI PC’ จุดขายใหม่ปลุกชีพตลาดคอมพ์

โดยตั้งแต่เดือนมกราคมนี้ จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์พีซี และโน้ตบุ๊ก AI ประกอบอยู่ภายในตัวอุปกรณ์ ครอบคลุมทุกสายผลิตภัณฑ์ ทั้ง Yoga ROC Ideapad และ Legion รวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่มารองรับการใช้งาน AI โดยมองว่ากลุ่ม AI PC จะเข้ามาช่วยกระตุ้นยอดขายของเลอโนโวให้มีการเติบโตขึ้นประมาณ 10-15% ในปีนี้ ขณะที่ตลาดรวมเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว

 “เลอโนโว มองว่า AI เป็นการปฎิวัติครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมไอที โดยชิป AI และซอฟต์แวร์ AI จะถูกใส่ลงในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่เริ่มแล้วและสร้างกระแสชัดเจน คือ Galaxy S24 ซึ่งเป็น AI สมาร์ทโฟนรุ่นแรกของซัมซุง ส่วนในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซีนั้นตลาดซบเซามาเป็นเวลา 3 ปี แต่ขณะนี้ ผู้ผลิตชิป ทั้งอินเทล เอ็มเอ็มดี ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ รวมถึงผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ของโลก ต่างมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI ซึ่งจะสร้างให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม และมองว่า AI PC จะเข้ามาช่วยพลิกให้ตลาดคอมพิวเตอร์มีการเติบโตขึ้น”

 ขณะเดียวกัน AI PC จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค จากเดิมโดยสิ้นเชิง โดยต่อไปสามารถสั่งการคอมพิวเตอร์ด้วยเสียง คอมพิวเตอร์จะเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และ AI ช่วยให้คอมพิวเตอร์เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้น สามารถสื่อสาร และเข้าใจผู้ใช้มากขึ้น

ด้านนายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บริษัทเอเซอร์คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ โดยการที่ฮาร์ดแวร์ มี AI ประกอบอยู่ภายในตัว จะทำให้นักพัฒนาสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น แอปพลิเคชันตกแต่งภาพ หรือตัดต่อวิดีโอ ซึ่งหากมีแอปพลิเคชัน มากขึ้นก็จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี มีการเติบโตขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ AI มากขึ้น ผ่านการใช้งาน AI บนสมาร์ทโฟน ทั้ง SIRI หรือ Google Assistant

‘เลอโนโว-เอเซอร์’ เชื่อ ‘AI PC’ จุดขายใหม่ปลุกชีพตลาดคอมพ์

 นอกจากนี้ AI PC ยังเข้ามาอำนวยความสะดวกผู้ใช้ให้ใช้งานได้ง่ายและฉลาดขึ้น สามารถสั่งการด้วยเสียง สามารถสื่อสาร หรือ ค้นหาด้วยเสียงผ่านกูเกิลเสิร์ซ ซึ่งการตอบคำถามจะใกล้เคียงกับการสนทนากับคนมากขึ้น

 ด้านนายแซม เบิร์ด ประธาน ไคลเอ็นด์ โซลูชันส์ กรุ๊ป บริษัทเดลล์ เทคโนโลยี กล่าวว่า เดลล์กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับไมโครซอฟท์ ในช่วงที่มีการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ของ Copilot นอกจากนี้เดลล์ยังมุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการพีซีชั้นนำในยุคของ AI ด้วยการลงทุนเพิ่มและมุ่งเน้นศูนย์กลางที่การสร้างความฉลาด ความปลอดภัยและการเป็นที่ปรึกษาด้าน AI อย่างครบวงจรที่ให้ความมั่นใจได้ นอกจากนี้ ยังต้องใช้สถาปัตยกรรมใหม่ในการประมวลผลที่ไม่ได้อาศัย CPU หรือ GPU ซึ่งเดลล์กำลังทำงานอย่างจริงจังร่วมกับพันธมิตรทั่วทั้งอุตสาหกรรมเพื่อทำให้สถาปัตยกรรมใหม่ดังกล่าวเป็นจริงภายในปี 2567

เมื่อมองไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเห็นอนาคตพีซีเป็นเสมือนพันธมิตรดิจิทัลที่แท้จริง โดย พีซี จะพัฒนาบทบาทไปไกลกว่าการขับเคลื่อนผลลัพธ์ในการทำงานของมนุษย์ แต่จะก้าวสู่การขับเคลื่อนความสามารถของมนุษย์ ประเด็นนี้ จะทำให้ผู้ใช้งานต้องหันมาทบทวนการใช้งานแล็ปท็อปและเดสก์ท็อปที่คุ้นเคยกันใหม่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่น แทนที่ส่วนใหญ่จะใช้การพิมพ์บนคีย์บอร์ด เพื่อโต้ตอบการทำงานผ่าน command-and-control ก็จะเพิ่มเติมแนวทางการทำงานที่ไม่ต้องใช้ข้อความ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เทคโนโลยีสามารถทำงานโต้ตอบสองทางระหว่างมนุษย์และพีซี ลองนึกภาพอนาคตที่เราสามารถประสานการทำงานหรือร่วมสร้างสรรค์ผลงานด้วยเสียง สั่งงานผ่านรูปภาพ และท่าทาง ให้จินตนาการว่าพีซีจะตีความโดยอาศัยการจับอารมณ์ของผู้ใช้ สีหน้าการแสดงออก น้ำเสียงหรือกระทั่งการเปลี่ยนวิธีการพิมพ์เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่สมบูรณ์มากขึ้น ในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้ตามที่ต้องการ ประสบการณ์การใช้งานพีซี จะเปลี่ยนจากการเสิร์ชเป็นการ พร้อมท์คำสั่ง เปลี่ยนจากการอ่านไปสู่ความเข้าใจ จากการแก้ไขเป็นการชี้แนวทาง

ส่วนนายรันจิต อัตวัล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอาวุโสของ การ์ทเนอร์ กล่าวว่าในปี 2570 ไมโครโปรเซสเซอร์มากกว่า 60% ในพีซีจะรวมฟังก์ชัน On-Device AI จากเดิมปี 2566 ที่มีเพียง 10% เนื่องจาก On-Device AI จะมาเป็นข้อกำหนดมาตรฐาน และในปี 2570 โปรเซสเซอร์แอปพลิเคชันมากกว่า 70% ในมือถือสมาร์ทโฟนจะรวมฟังก์ชัน On-Device GenAI ไว้ จากเดิมปี 2566 มีเพียง 5% เนื่องจาก On-Device GenAI จะมาเป็นข้อกำหนดมาตรฐาน

 โดยการนำโปรเซสเซอร์ GenAI/AI มาใช้อย่างรวดเร็วบนอุปกรณ์จะกลายเป็นข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับผู้ขายเทคโนโลยี ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายแก่ผู้ขายในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และยังทำให้สร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์รวมถึงการเพิ่มรายได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ตลาดสมาร์ทโฟนจะเผชิญกับวงจรการเปลี่ยนเครื่องทั้งระดับพรีเมี่ยมและระดับพื้นฐานอย่างรุนแรงในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ โดยการรวมขีดความสามารถของ GenAI ไว้ในสมาร์ทโฟนจะมีบทบาทสำคัญในการรักษาวัฏจักรนี้ไว้ ขณะที่ประสบการณ์บนพีซีจะดีขึ้นผ่าน AI แต่ประสบการณ์ส่วนใหญ่จะดีขึ้นจากแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ในอีก 2-3 ปีข้างหน้ากับ Microsoft 365 Copilot ที่อยู่บนคลาวด์เป็นหลักและต้องการการประมวลผลพีซีในเครื่องเพียงเล็กน้อย