สำนักงาน กสทช.ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขเสาส่งสัญญมือถือ แนวชายแดนจังหวัดตาก

15 พ.ค. 2567 | 03:38 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 03:44 น.

สำนักงาน กสทช. ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขการปรับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามแนวชายแดน จ.ตาก กำชับผู้ประกอบการรื้อเสาตามแนวตะเข็บชายแดนทั้งหมด หากไม่ปฏิบัติโทษสูงสุดเพิกถอนใบอนุญาต

 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พร้อมทั้งสำนักงาน กสทช. ภาค 3 และเขต 31 ลำปาง ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจติดตามการปรับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่หันหน้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้รถตรวจจับสัญญาณลงในพื้นที่ อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก

พบว่าเสาที่มีการหันหน้าออกไปยังฝั่งตรงข้ามในพื้นที่ชเวก๊กโก และหวันหยา ฝั่งประเทศเมียนมามีการระงับสัญญาณในพื้นที่แล้วทุกจุด โดยขณะนี้ผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมได้ระงับสัญญาณเสาที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน 7 พื้นที่ รวมแล้วทั้งหมด 84 เสา ซึ่งการขออนุญาตติดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับหันเสาไปทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน อาจก่อให้เกิดการนำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการของไทย ไปใช้ในการกระทำผิด และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

 นายไตรรัตน์ เปิดเผยว่า ในวันนี้จะครบกำหนดที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะต้องส่งแผนการรื้อถอนเสามาให้สำนักงาน กสทช. รับทราบ ก่อนเร่งดำเนินการรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 30-45 วัน หากไม่ดำเนินการจะมีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยระยะเริ่มต้นสำนักงาน กสทช. จะมีการลงพื้นที่สุ่มตรวจพื้นที่ ๆ มีการรื้อถอนเสาว่าดำเนินการจริงหรือไม่ และจะมีการลงตรวจสอบทุกพื้นที่อย่างเข้มข้นต่อไป

“ผมขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกค่ายให้รื้อถอนเสาที่อยู่บริเวณตะเข็บชายแดนให้หมด พอลงพื้นที่ทุกคนก็เห็นแล้วว่าตั้งเสาในไทยแต่หันไปประเทศเพื่อนบ้าน หันไปเพื่อสาเหตุใด เรื่องนี้อาจสร้างรายได้ให้คุณ แต่ประชาชน 70 ล้านคนเดือดร้อน เรารับไม่ได้ สำนักงาน กสทช. ก็ต้องขอโทษด้วยที่เราอนุญาตให้ตั้งเสาตามพิกัดที่ขอมาทุกอย่างถูกต้องหมด แต่คุณหันหน้าออกนอกประเทศแบบนี้ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทางปกครอง และโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต” นายไตรรัตน์ กล่าว

 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล

 

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ สำนักงาน กสทช. ส่วนภูมิภาค ใช้ผู้เชี่ยวชาญของ สำนักงาน กสทช. และเครื่องมือเทคนิค สุ่มตรวจสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการ โดยเน้นหนักในพื้นที่ตะเข็บชายแดน ให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเป็นภัยทางสังคมของประเทศ สำนักงาน กสทช. จะได้ประสานและทำข้อตกลงในการนำส่ง แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในกรณีตรวจพบพฤติการณ์ของผู้ประกอบการรายใดเข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิด สมรู้ร่วมคิด หรือให้การสนับสนุนการกระทำผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงในลักษณะของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ การลักลอบขนส่งสินค้าหนีภาษี การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย รวมทั้งการฟอกเงิน แล้วแต่กรณีเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.