วันนี้ 7 สิงหาคม 2567 พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีที่บริษัท เน็ตเบย์ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเรื่องการคิดค่าบริการ National Single Window หรือ NSW ว่าบริการ NSW เป็นบริการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ระบบ NSW เริ่มให้บริการโดยกรมศุลกากรมาตั้งแต่ปี 2551
ก่อนที่จะมอบให้ NT ดำเนินการในปี 2563 ตามมติ ครม. ซึ่งโครงสร้างการให้บริการ NSW เดิมที่ให้บริการโดยกรมศุลกากรนั้น ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกเกือบทั้งหมดจะไม่ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับระบบ NSW แต่จะเชื่อมต่อผ่านผู้ให้บริการ VAN/VAS (Value Added Network/Value Added Service) หรือ Gateway ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ NSW โดยผู้ให้บริการ VAN/VAS หรือ Gateway มีการคิดค่าบริการเชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกอ้างอิงตามอัตราที่กรมศุลกากรกำหนด
อย่างไรก็ตามกรมศุลกากรไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ให้บริการ VAN/VAS หรือ Gateway เนื่องจากกรมศุลกากรได้ขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาและให้บริการระบบ NSW ทั้งนี้ต่อมา ครม. ได้มีมติให้ NT เป็นผู้ให้บริการระบบ NSW แทนกรมศุลกากรเพื่อลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ โดยให้ NT ลงทุนจัดหาระบบ NSW ใหม่ทดแทนระบบเดิมของกรมศุลกากร และให้คิดค่าใช้บริการระบบ NSW เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินการและพัฒนาขีดความสามารถได้อย่างต่อเนื่อง
พันเอก สรรพชัยย์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า NT ได้พัฒนาระบบ NSW ใหม่ทดแทนระบบเดิมของกรมศุลกากรและเริ่มทดลองให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 โดยระหว่างการทดลองให้บริการนั้น NT ได้เปิดให้ผู้สนใจร่วมให้บริการ NSW กับ NT ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการ VAN/VAS และ Gateway เดิมที่เคยให้บริการอยู่บนระบบ NSW ของกรมศุลกากร สมัครเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (NSP : NSW Service Provider) เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกเข้ากับระบบ NSW ใหม่
โดย NT ได้นำเสนออัตราค่าบริการ NSW ต่อคณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ National Single Window เพื่อประกาศใช้ รวมถึงได้หารือกับชมรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และบริการแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ให้บริการ VAN/VAS และ Gateway เดิมถึงความเหมาะสมในการคิดอัตราค่าบริการ ซึ่งผู้ให้บริการเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับอัตราค่าบริการดังกล่าวและได้ลงทะเบียนเป็น NSP พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านคุณสมบัติและหน้าที่ต่าง ๆ ที่คณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ National Single Window กำหนด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ NSP ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกและระบบ NSW ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 8 รายได้ ได้แก่
โดยหลังจากที่ NT เปิดให้บริการ NSW อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน ก.พ 2566 นั้น NSP ทุกรายที่ขึ้นทะเบียนแล้วชำระค่าใช้บริการ NSW มาโดยตลอดและไม่ได้มีปัญหากับผู้ประกอบการการนำเข้าส่งออกแต่อย่างใด
บริษัทที่ร้องเรียนเป็นผู้ให้บริการ Gateway เดิมซึ่งให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกกับระบบ NSW เดิมของกรมศุลกากร ลักษณะคล้ายกับผู้ให้บริการ VAN/VAS หรือ Gateway รายอื่นที่มาขึ้นทะเบียนเป็น NSP บนระบบ NSW ใหม่ อย่างไรก็ตามผู้ร้องเรียนปฏิเสธไม่ลงทะเบียนและปฏิบัติตามข้อกำหนดการเป็นผู้ให้บริการ NSP บนระบบ NSW ใหม่ แต่ยังมีการใช้บริการ NSW ต่อเนื่องมาตั้งแต่ NT เปิดทดลองให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ซึ่ง NT ได้พยายามเจรจากับผู้ร้องเรียนมาโดยตลอดเพื่อให้ผู้ร้องเรียนขึ้นทะเบียนเป็น NSP และปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับ NSP รายอื่นและไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันระหว่าง NSP ด้วยกัน ตามที่มี NSP บางรายแจ้งปัญหาเข้ามา แต่การเจรจาไม่บรรลุผล ผู้ร้องเรียนยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็น NSP และไม่ชำระค่าบริการทำให้สูญเสียรายได้ที่จะต้องนำส่งรัฐ NT จึงต้องดำเนินการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก NT ยังคงรักษาคุณภาพการให้บริการตามมาตรฐานมาโดยตลอด
“NT นำรายได้ที่ได้จากการให้บริการ NSW มาเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการและพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ได้รับโอนระบบมาจากกรมศุลกากร เราได้พัฒนาบริการเพิ่มเติมทั้งระบบรายงานเรือและใบขนสินค้าชายฝั่ง (e-Coasting Trade) ระบบนำเข้าส่งออกพืชกระท่อม ระบบใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto) ระบบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (e-C/O) และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Single Submission เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ผ่าน NSW ณ จุดเดียวได้ รวมถึงระบบให้บริการใบสั่งปล่อยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-D/O) ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคธุรกิจในรูปแบบ B2B ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ NT ยังได้พัฒนาคุณภาพบริการ NSW จนผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานสากลทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO27001 ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ISO27701 และด้านการบริหารความต่อเนื่องบริการ ISO22301 สร้างความมั่นใจระบบไม่มีความเสี่ยง ซึ่งจะเห็นได้ว่า NT มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการ NSW ให้เป็นแพลตฟอร์มกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สะดวก ปลอดภัย ตอบโจทย์และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน”