นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 11 – 17 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 2,982,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แจ้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้ายาเสพติดจากคำซัดทอดของผู้ต้องหา จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line มีการสนทนาผ่าน VDO Call และขอตรวจสอบเส้นทางการเงินในบัญชี หากไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดตามกฎหมาย ตนหลงเชื่อ จึงให้ความร่วมมือและโอนเงินไป ภายหลังการโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 652,068 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ Shopee ชักชวนทำงานหารายได้พิเศษ ตนสนใจจากนั้นเพิ่มเพื่อน ทาง Line มิจฉาชีพแจ้งให้ตนเลือกสินค้าเพื่อนำมาโพรโมต ช่วงระหว่างรอสินค้ามีกิจกรรมให้เข้าร่วมเป็นการโอนเงินลงทุน ช่วงแรกได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังตนลงทุนเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่ได้รับเงิน มิจฉาชีพแจ้งว่าตนทำรายการผิดพลาด ต้องโอนเงินเพิ่มเพื่อให้ทางระบบเปิดให้ทำการแก้ไข ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 441,978 บาท โดยผู้เสียหายได้พบโฆษณารับสอนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Tiktok ตนสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อสอบถามรายละเอียดและสมัครสมาชิก จากนั้นมิจฉาชีพให้ตนทดลองเทรดหุ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและสามารถถอนเงินออกมาได้ ต่อมามีการดึงข้า Group Line และให้ลงทุนเทรดหุ้นเพิ่ม รอบแรกได้เงินคืน ภายหลังลงทุนเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่สามารถ ถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าตนทำรายการผิดพลาดจะต้องโอนเงินไปเพื่อให้ทางระบบ เปิดให้ทำการแก้ไข หลังจากโอนเงินเสร็จยังไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 414,570 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายได้พบโฆษณาชักชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Facebook ตนสนใจจึงเพิ่มเพื่อน ทาง Line จากนั้นถูกดึงเข้า Group Line มิจฉาชีพแนะนำและสอนขั้นตอนต่างๆ แล้วให้โอนเงินเพื่อทำการเทรดหุ้น ในครั้งแรกจะยังไม่ได้รับผลตอบแทน มิจฉาชีพแจ้งว่าให้โอนเงิน เทรดหุ้นเพิ่มขึ้นก่อน ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินเพิ่ม ต่อมาได้ถูกลบออกจาก Group Line จึงได้ติดต่อสอบถามกับบริษัทที่ได้ลงทุน จึงทราบว่าบริษัทถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแอบอ้าง ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 187,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Tiktok อ้างตนว่ามีอาชีพเป็นวิศวกร อยู่ต่างประเทศ ใช้โพรไฟล์เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี และได้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นพูดคุยกันจนสนิทใจ ต่อมามิจฉาชีพแจ้งกับตนว่ากำลังจะหมดสัญญากับทางบริษัทได้เซ็นใบลาออกและรับเงินชดเชย ระหว่างเดินทางไปรับเงินได้ถูกควบคุมตัว จึงขอให้ตนช่วยเหลือโอนเงินค่าประกันตัวให้ โดยอ้างว่าจะคืนเงินให้ภายหลัง ตนหลงเชื่อจึงโอนเงินไป จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าได้โอนเงินคืนให้แล้วผ่านสำนักงานรับโอนเงินระหว่างประเทศ Western Union ตนจึงเดินทางไปตรวจสอบแต่กลับไม่พบข้อมูล ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 4,677,616 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่ ผู้เสียหายเกี่ยวกับการลักลอบค้ายาเสพติดและให้ผู้เสียหายติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย คือ Line เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมทั้งหลอกลวงชวนหารายได้พิเศษและชักชวนเทรดหุ้นผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ทั้งนี้ขอย้ำว่า กรณีการข่มขู่ผู้เสียหายอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่ามีการกระทำผิดในการลักลอบค้ายาเสพติด ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์ AOC 1441 เพื่อความแน่ใจ ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ เพื่อความปลอดภัย
ด้านกรณีการร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ทั้งการให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัพโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441