13 เมษายน ถูกกำหนดให้เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" เพื่อรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ โดยได้ถูกกำหนดขึ้น ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปี พ.ศ. 2525 แต่ในปัจจุบัน ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีประชากรวัยทำงานน้อยลง ทำให้ประเด็นของผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป พรรคการเมืองต่างๆพากันออกนโยบายหาเสียง เอาใจฐานเสียงกลุ่มนี้ แต่จะเป็นการออกแบบนโยบายเพื่อรองรับ และแก้ปัญหาของสังคมผู้สูงอายุจริงหรือไม่
ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และจุดประกายความคิดไว้อย่างน่าสนใจ ไว้ในบทความ "16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย: สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด" โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวถึงสภาวะสังคมไทยว่า กำลังจะก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์" โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2583 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นประมาณ 20.51 ล้านคน หรือเกือบ1ใน3 ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากคนไทยมีอายุยืนขึ้น โดยปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 77 ปี และ จำนวนเด็กเกิดใหม่ มีแนวโน้มลดลง จากมากกว่าปีละ 1 ล้านคนในช่วงปี พ.ศ. 2506–2526 เหลือปีละประมาณ 5 แสนกว่าคน
ผลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564 พบว่า 32.2% ของผู้สูงอายุในปัจจุบันมีแหล่งรายได้หลักจากบุตร 32.4% จากการทำงาน 19.2% จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 7.5% จากบำเหน็จบำนาญ 4.5% จากคู่สมรส 2.7% จากแหล่งอื่น ๆ และมีเพียงแค่ 1.5% เท่านั้นมีแหล่งรายได้หลักจากดอกเบี้ย หรือเงินออม ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพจึงมีความสำคัญ
ผู้สูงอายุในอนาคตจะมีการครองโสดถาวรเพิ่มขึ้น มีจำนวนบุตรที่มีชีวิตโดยเฉลี่ยลดลง มีสัดส่วนผู้ที่ไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น ทำให้แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในอนาคตจะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน ไม่มีแหล่งรายได้จากบุตร และคู่สมรส
ศ.ดร.วรเวศม์ สะท้อนถึงปัญหาของระบบบำนาญที่มีในปัจจุบันของประเทศว่า ขาดการบูรณาการภาพรวม และไม่สามารถตอบได้ว่า ระบบบำนาญที่มีอยู่ ได้สร้างหลักประกันที่มั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ให้กับผู้สูงอายุไทยได้จริงหรือไม่ ทั้งยังมีลักษณะคล้าย “ปิ่นโต” ประชาชนคนหนึ่งมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากหลายระบบพร้อมกัน เช่น
ศ.ดร.วรเวศม์ ชี้ให้เห็นว่า การวางรากฐานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ต้องไม่ใช่เพียงการให้ความสำคัญกับบำนาญผู้สูงอายุที่จัดสรรให้โดยรัฐเท่านั้น แต่ยังมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน ที่จะเป็นสูงอายุในอีก 45 ปีข้างหน้า ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมในการสร้างหลักประกันให้กับชีวิต สำหรับการเป็นผู้สูงอายุในอนาคต
ผู้สูงอายุในปัจจุบัน กับผู้สูงอายุในอนาคต จึงเป็นปัจจัยที่สามารถนำมาใช้เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยการประนีประนอมเชิงนโยบาย ระหว่างการสร้างหลักประกันยามชราภาพเพื่อผู้สูงอายุในปัจจุบันที่เน้นวิธีการแบบรัฐจัดสรร กับการผลักดันให้เกิดระบบบำนาญฯ แบบมีส่วนร่วมเพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับผู้สูงอายุในอนาคต
เพราะหากระบบบำนาญ และการออมเพื่อเป็นหลักประกันยามชราภาพ สามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นคู่สมรสหรือบุตรที่ดีได้ ก็จะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และนี่คือความท้าทายของพรรคการเมืองในการออกนโยบาย สำหรับการเลือกตั้ง 2566 นี้