ศึกเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ (วันที่ 14 พฤษภาคม 2566) ต่างถูกจับตามองกันอย่างมาก สำหรับสองขั้วอำนาจที่ต้องฟาดฟันช่วงชิงกันจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยมและไม่ว่าขั้วไหนจะมาบริหารบ้านเมือง ด่านแรกที่ต้องเผชิญคือความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอก ขณะแผนที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ คงหนี้ไม่พ้น เครื่องยนต์ใหญ่อย่างเมกะโปรเจ็กต์ ที่รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ อนุมัติมีมูลค่า ไม่ตํ่ากว่า 2.23 ล้านล้านบาท ที่ช่วยผลักดันให้จีดีพีประเทศเติบโตจากการกระจายเม็ดลงลงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเกิดการจ้างงาน
สำหรับโครงการเร่งด่วนและกลายเป็นประเด็นร้อน เริ่มจาก การแก้ปัญหาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีรายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย ว่าในที่สุดแล้วจะหาทางออกอย่างไร ระหว่างขยายสัญญาให้กับเอกชนเพื่อแลกกับหนี้ รวม1 แสนล้านบาทที่กรุงเทพมหานครกำกับดูแล หรือรอหมดอายุสัญญาสัมปทาน ปี 2572 แล้วจึงเปิดประมูลใหม่แต่ต้องหาเงินก้อนใหญ่ใช้หนี้คืนกระทรวงการคลังในส่วนของงานโยธากว่า 6 หมื่นล้านบาทและหนี้ฝั่งเอกชน กว่า 4 หมื่นล้านบาทอยู่ระหว่างฟ้องร้องกันอยู่ในขณะนี้
อีกโครงการคือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์ ) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รอรัฐบาลใหม่อนุมัติผลการประมูลและนำไปสู่การลงนามในสัญญาก่อสร้างปัจจุบันยังมีคดีฟ้องร้องในศาลปกครองซึ่งหากเป็นขั้วอนุรักษ์นิยม อาจเดินหน้าอนุมัติลงนามในสัญญาแต่หากอีกขั้วมองว่า คงต้องวุ่นวายไม่แพ้ รถไฟฟ้าสายสีเขียว
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่รอรัฐบาลใหม่แก้ปัญหา นั่น คือ การแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ปัจจุบันยังหาทางออก ไม่ได้ ในกรณีพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งเป็นโครงสร้างทางร่วมระหว่างไฮสปีด 3 สนามบินกับรถไฟไทย-จีน
ว่ารูปแบบออกมาแนวไหนและ จะสร้างไปจ่ายไป ตามข้อเสนอของเอกชนเพื่อลดผลกระทบเรื่องการกู้เงินจากธนาคารและภาระดอกเบี้ย หรือ เดินรถไปจ่ายไป ตามสัญญาเดิมของฝั่งภาครัฐ ที่ต้องการลดความเสี่ยง ให้โครงการเสร็จตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับ โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯ ที่ต้องปรับแก้ในหลายประเด็นในการพัฒนา รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ที่ยังล่าช้าและเลื่อนการก่อสร้างออกไปเป็นปี 2567
ส่วนโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า โครงการเร่งด่วน ต้องผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในรัฐบาลใหม่ คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 10,670 ล้านบาท สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 4,616 ล้านบาท และสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) 6,468 ล้านบาท ที่พร้อมเปิดประมูลรูปแบบPPP ขยายโครงข่ายรับคนในย่านชานเมือง
อีกทั้งรถไฟฟ้าสายใหม่ส่วนต่อขยาย ลากออกชานเมือง อาทิ สายสีนํ้าเงิน ไปพุทธมณฑลสาย4 ฯลฯ และ โครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายใหม่ ของกรมทางหลวง (ทล.) ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน 31,375 ล้านบาท
รวมถึง ทางพิเศษ(ทางด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 17,000 ล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมถึงทางด่วนสายกะทู้ -ป่าตอง 14,670 ล้านบาท ที่เปิดประมูลแต่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจซึ่งต้องรอแนวทางแก้ปัญหาว่าจะมีทางออกอย่างไร
นอกจากนี้อีกโครงการสำคัญของ กระทรวงคมนาคม ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนก่อน ผลักดัน โครงการ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) วงเงิน สูงถึง1.1 ล้านล้านบาท ที่ประเมินว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจปลายด้ามขวานและเศรษฐกิจประเทศ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเรื่องการส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรปได้
เช่นเดียวกับรถไฟทางคู่ระยะที่2 ของรฟท. ช่วงที่เร่งผลักดันให้เกิดก่อนและมีความพร้อมเข้าพิจารณาในครม.คือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท ที่เสริมศักยภาพการเดินทางและการขนส่งสินค้าเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านทะลุสปป.ลาวไปจีนแผ่นดินใหญ่ในปริมาณมาก หลังจากก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสแรก ไปแล้วและทยอยเปิดใช้เส้นทาง รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ใหม่สายเหนือ-อีสานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง นอกจากการเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสสอง ช่วง นครราชสีมา-หนองคายที่เตรียมประมูลหาผู้รับเหมาในไม่ช้านี้
ขณะทางอากาศ ครม.ใหม่ต้องพิจารณาเรื่องการรับโอน สนามบินจาก กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปยัง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รวมถึงการพิจารณาแผนขยายสนามบิน รองรับท่องเที่ยวฟื้นตัว และการมาของชาวต่างชาติในอนาคต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายโครงการที่หลายงานที่เกี่ยวข้องต้องเข็นออกมาเร่งดำเนินการ ยังไม่รวมการขยายเขตทางขนาด4ช่องจราจรทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาจราจรโดยเฉพาะหัวเมืองทองเที่ยว เมืองเศรษฐกิจสำคัญ
แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมาระบุว่า ไม่ว่า ฝั่งไหนจะเป็นรัฐบาล เชื่อว่า เมกะโปรเจ็กต์เป็น ตัวแปรสำคัญที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะจะเกิดห่วงโซ่ อุปทานในหลายอุตสาหกรรม ทั้งผู้รับเหมา แรงงาน วัสดุก่อสร้าง ภาคการขนส่งเกิดการจับจ่าย มีเม็ดเงินกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นผลดี ต่อผู้ใช้ทาง การขนส่งสินค้า รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นทางบก-ราง-นํ้า-อากาศก็ตาม
ส่วนข้อเสียหากเป็นรัฐบาลในขั้วใหม่ อาจเกิดการรื้อโครงการหรือยกเลิกบางโครงการและอาจนำโครงการตามที่หาเสียงมาดำเนินการแทน ซึ่งมองว่าเป็นธรรมเนียมที่มักปฏิบัติ แต่หากเป็นรัฐบาลกลุ่มเดิมซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยมาบริหารบ้านเมือง จะเกิดการสานต่อโครงการเดิม ซึ่งเป็นผลดี และเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป