วันนี้ (26 กรกฎาคม) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคม ถึงประเด็นที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ยังมีคดีค้างอยู่ในชั้นไต่สวน หรือชั้นตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. หรือไม่ว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ดู เพราะว่าข้อมูลไม่แน่ใจเหลืออีกกี่คดี
เพราะคดีล่าสุดรู้สึกจะตกไป กรณีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้มีการแจ้งข้อกล่าวหาทักษิณ กับพวกคดีดังกล่าว แสดงว่าตีตกข้อกล่าวหาไปหมดแล้วหรือไม่ นิวัติไชย กล่าวว่า ต้องดูรับรองรายงานก่อน แต่เข้าใจว่าน่าจะวินิจฉัยไปทั้งหมดแล้ว เดี๋ยวดูอีกที
“อย่าไปพูดว่าตีตก คำว่าไม่มีมูลไม่ได้หมายความว่าตีตก คำว่าตีตกคือมีมูลแต่เราตีตก แต่นี่คือพยานหลักฐานอาจไม่พอรับฟังได้ว่ากระทำความผิด ส่วนจะตีตกผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดเลยหรือไม่ น่าจะประมาณนั้น เดี๋ยวรอแถลงเร็ว ๆ นี้ มีอีกหลายคดี” นิวัติไชย กล่าว
อย่างไรก็ตามข้กล่าวหาในคดีนี้นายทักษิณ กับพวก ถูกกล่าวหาว่าอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
โดยปรากฏชื่อของนายทักษิณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม และนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม 3 นักการเมืองชื่อดังเป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมกับ นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดี และมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ยกเว้นสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา
เครื่องบินมหากาพย์แอร์บัสเอ340 ของการบินไทยมีทั้งหมด 10 ลำ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยทักษิณ 1 เมื่อปี 2546 ซึ่งอยู่ในแผนจัดหาเครื่องบินปี 2545-2547 จำนวน 39 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ในยุคนายทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทย
เครื่องบินรุ่นดังกล่าวถูกจอดทิ้งอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภามานานกว่า 13 ปีแล้ว จากที่เคยนำมาบินในเส้นทางบินตรง (นอนสต็อป) กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก และเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอสแอนเจลิส ที่เปิดบริการได้เพียง 3 ปี ตัวเลขการขาดทุนเส้นทางนี้ก็ทะลุไปถึง 7,000 ล้านบาท จนต้องยกเลิกเส้นทางบินดังกล่าวไปเมื่อปี 2551
โดยหลังการปลดระวางเครื่องบินรุ่นนี้ กองทัพอากาศได้ ซื้อแอร์บัสเอ 340-500 ไปจำนวน 1 ลำในอดีต ส่งผลการบินไทยคงเหลือเครื่องบินเอ 340 ในฝูงบินรวม 9 ลำได้แก่ เครื่องบินแอร์บัสเอ-500 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัสเอ 340-600 จำนวน 6 ลำ
ที่ผ่านมาการบินไทยมีความพยายามในการขายเครื่องบินรุ่นนี้มาโดยตลอด และล่าสุดเพิ่งจะขายเครื่องบินเอ340 ได้สำเร็จเมื่อการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ