เลือกตั้ง 2566 : เนชั่นวิเคราะห์ สนามภาคอีสาน 20 จังหวัด

21 เม.ย. 2566 | 10:30 น.

เนชั่นวิเคราะห์ สนามเลือกตั้ง 2566 ภาคอีสาน 20 จังหวัด ครั้งที่ 1 แต่ละพรรค มีแนวโน้มผลการเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมรายละเอียดความเคลื่อนไหวของพรรคต่าง ๆ ภายในพื้นที่ทุกจังหวัด รวมไว้ครบ

"เนชั่นวิเคราะห์" สนามเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งที่ 1 ในศึกเลือกตั้ง 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ 400 เขต โดยในส่วนของภาพรวมทั้งประเทศ มีข้อมูลผลวิเคราะห์จากทั้งหมด 6 พื้นที่ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ และกรุงเทพฯ 

สำหรับภาพรวม "เนชั่นวิเคราะห์" สนามเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งที่ 1 ภาคอีสาน รวม 20 จังหวัด มีรายละเอียดความเคลื่อนไหวของพรรคต่าง ๆ ภายในพื้นที่ทุกจังหวัด สรุปได้ดังนี้

 

เนชั่นวิเคราะห์ สนามเลือกตั้ง 2566 ภาคอีสาน 20 จังหวัด ครั้งที่ 1

กาฬสินธุ์ 6 เขตเลือกตั้ง

กาฬสินธุ์ ยังเป็นพื้นที่อิทธิพลของคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าภูมิใจไทยจะพยายามส่งผู้สมัครที่มีชื่อเสียง และเป็นคนในพื้นที่ลงสมัคร แต่นาทีนี้ก็ยังเอาชนะพรรคเพื่อไทยยาก

เขตเลือกตั้งที่ 1 “ป้ารื่น” นางบุญรื่น ศรีธเรศ ตัดสินใจให้ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ย้ายมาจากพรรค “ภูมิใจไทย” มาลงเพื่อไทยแบบนาทีสุดท้าย พื้นที่นี้เมื่อบวกตระกูลศรีธเรศที่ครองแชมป์มายาวนาน บวกกับความแข็งแกร่งของพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า ประเมินกี่รอบ พรรคเพื่อไทยโดย “ป้ารื่น”ที่ผนึกกำลังกับนายวิรัช น่าจะเข้าป้ายแบบไม่มีคู่แข่ง 

ประเมินรอบแรก นายวิรัช พิมพะนิตย์ จากเพื่อไทยไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นเขตที่น่าจะแข่งขันกันดุเดือด สจ. บอล พลากร  พิมพะนิตย์ พินิจ หลานของ วีระวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ จาก “เพื่อไทย” ที่การเลือกตั้งรอบนี้ขยับขึ้นระบบบัญชีรายชื่อ  เชือดเฉือนกับกับ “เจ๊นาง โรงทาน” วันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่เลือกตั้งครั้งนี้ลงสมัครนามพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อยสุดารัตน์ เกยุราพันธ์จาก “ภูมิใจไทย” มาแบบใจหายใจคว่ำ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยกระแสอุ๊งอิ๊งที่มาแรงมาก เชื่อว่า สจ.บอล หลานลุงกุ้ง ” ยังเหนือกว่า “เจ๊นาง”

ประเมินรอบแรก สจ.บอล จากเพื่อไทย น่าจะยังเกาะกระแสพรรค นำ เจ๊นาง โรงทาน วันเพ็ญ เศรษฐรักษา แบบเห็นชัด ขึ้นอยู่กับช่วงโค้งสุดท้าย กระแสเพื่อไทยจะแผ่ว และกระสุนภูมิใจไทยจะสาดหนัก เจ๊นาง ถึงจะพอมีโอกาสไล่ตามมาได้

เขตนี้ให้พลากร จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 เป็นเขตที่น่าจับตามองมากที่สุด เมื่อเป็นเขตที่เพื่อไทยอาจแพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐของลุงป้อม เขตนี้ประกอบด้วย อ.ห้วยเม็ก อ.หนองกุงศรี และอ.ท่าคันโท เพราะเลือกตั้งครั้งนี้แชมป์เก่า “เสี่ยเงิน” คมเดช ไชยศิวามงคล “เพื่อไทย” ขอเปลี่ยนบทบาทไปทำหน้าที่อื่นให้กับพรรค แต่ก็ยังส่ง “คุณนายแหม่ม” ยรรยงรัตน์ ไชยศิวามงคล หวานใจลงสู่ศึกรักษาแชมป์แทน

แม้ความแข็งแกร่ง และกระดูกอาจจะยังไม่สามารถสู้คู่แข่ง ที่เป็นด่านหินอย่าง“เสี่ยลอง” จำลอง ภูนวนทา คู่ปรับเก่าหลายสมัยจาก“พลังประชารัฐ” ซึ่งเลือกตั้งครั้งนี้ยังอยู่กับ“ลุงป้อม” เพราะ “เสี่ยลอง” พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน ประกาศขอตามล้างตาอีกสักครั้ง

แต่กระแสพรรคเพื่อไทยที่แรงมากๆในภาคอีสานรอบนี้ น่าจะทำให้คุณนายแหม่มหวานใจ เสี่ยคมเดช จากพรรคเพื่อไทย ตอกย้ำความแค้นให้กับนายจำลอง จากพลังประชารัฐอีกสมัย ประเมินรอบแรกคาดว่า ช่วงต้นๆความแรงของกระแสพรรคยังส่งให้ คุณนายแหม่ม ยรรยงรัตน์ จากเพื่อไทย แรงกว่าความเก๋าของ เสี่ยจำลอง จากภูมิใจไทย

ยกแรกยรรยงรัตน์ จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 4 “เพื่อไทย” ยังให้ความเชื่อมั่น เชื่อมือ “ครูต๋อย” พีระเพชร ศิริกุล ส.ส.หลายสมัย คราวนี้เจอคู่ชิงคนใหม่ สาวมั่น มาแรง “เม” ประภา เฮงไพบูลย์ “บิ๊กเนมประชาพัฒน์” จากพรรคภูมิใจไทย บ้านใหญ่เครือข่ายระดับบิ๊ก ทำให้เขต 4 “ครูต๋อย” ต้องเจอกับด่านหินและบอกเลยว่าเหนื่อย เพราะ “เม” ประภา ยังคงเกาะติดพื้นที่ตลอด หวังโกยคะแนนจากคนรุ่นใหม่ แต่อย่างไรก็เชื่อว่าเพื่อไทยจะชนะ

รอบแรก ครูต๋อยจากเพื่อไทยยังนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 5 ถึงแม้จะเป็นเขตใหม่ แต่ก็น่าจะดุเดือดเช่นกัน เขตนี้พรรคเพื่อไทยส่ง “ตั้ม” ทินพล ศรีธเรศ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ“ป้ารื่น” บุญรื่น ศรีธเรศ เขต 1 ลงชิงแชมป์ที่ว่างกับ “เสี่ยโด่ง” ชานุวัฒน์ วรามิตร อดีตนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจาก “ส.ว.อ้อ” ภัทรา วรามิตร น้องสาว แถมมีพลังแฝงจาก “บิ๊กเบิ้ม” พลังประชารัฐ ทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ คู่นี้จัดเป็นคู่แข่งแบบมวยถูกคู่ที่สูสีมาก 

คอการเมืองเชื่อว่า ยกแรกเขตนี้ ตั้ม ทินพล ศรีธเรศ จากเพื่อไทย ยังเหนือกว่า 

เขตเลือกตั้งที่ 6 เพื่อไทยส่ง “กำนันหิต” ประเสริฐ บุญเรือง ในฐานะบ้านใหญ่แห่งเทือกเขาภูพาน ได้คะแนนท่วมท้นตลอดมา หนนี้ “เพื่อไทย” ยังให้เครดิตสูง เป็นมือวางอันดับหนึ่ง ส่วนคู่แข่ง คือ นายสุรพล พลซื่อ สจ.เขต อ.กุฉินารายณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นเพียงตัวสอดแทรก ยังไงเขตนี้กำนันหิตก็ได้เก้าอี้มาครองอย่างง่ายดาย

เขตเลือกตั้งที่ 6 กำนันหิต จากเพื่อไทยน่าจะลากยาวเข้าป้าย

ขอนแก่น มี 11 เขตเลือกตั้ง

ขอนแก่น เพื่อไทยเคยชนะยกจังหวัดมาตลอด แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เสียพื้นที่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ให้กับพรรคอนาคตใหม่ และเขตเลือกตั้งที่ 2 ให้กับพรรคพลังประชารัฐ นอกจากนั้นในการเลือกตั้งซ่อม ในเขตเลือกตั้งที่ 7 แทนนายนวัธ เตาะเจริญสุข ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เพื่อไทยก็ยังพ่ายแพ้ต่อพรรคพลังประชารัฐอีกเช่นกัน

การเลือกตั้งรอบนี้กระแสพรรคและกระแสอุ๊งอิ๊งที่กำลังมาแรง ทำให้พรรคเพื่อไทยหมายมั่นปั้นมือว่า จะกลับมาเอาชนะแบบแลนด์สไลด์ในขอนแก่นให้ได้อีกครั้ง แต่ก็ยังมีกระดูกชิ้นโตให้ทำการบ้านอีกหลายเขต 

เขตเลือกตั้งที่ 1 เลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยเสียแชมป์ให้กับ นายฐิตินันท์  แสงนาค จากพรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) โดยนายธิตินันท์ เอาชนะ นายจักริน  พัฒ์ดำรงจิตร ลูกชายเสี่ยเล้ง จากพรรคเพื่อไทยไปแบบทิ้งห่างเกือบหมื่นคะแนน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้นายจักริน ตัดสินใจไม่ลงสมัครในระบบเขต ส่วนายฐิตินันท์ ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค 

เลือกตั้งรอบนี้ พรรคเพื่อไทยส่ง นายชัชวาล พรอมรธรรม อดีตรองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ที่เพิ่งแพ้การเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นการเลือกตั้งปี 64 ลงสมัคร โดยมีคู่แข่งจากพรรคก้าวไกล คือ ทนายป๊อก วีรนันท์ ฮวดศรี ที่ได้รับการสนับสนุนจากนายรังสิมันต์ โรม    

นายชัชวาล พรอมรธรรม แม้จะถือว่า เป็นคนในแวดวงการเมืองที่เคยลงสนามเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น แม้จะไม่ได้รับตำแหน่ง แต่คะแนนที่ได้ก็ไม่น้อย เพราะมีฐานเสียงแน่นหนาในเขตเทศบาลนครขอนแก่น แต่สำหรับการลงสนามการเมืองใหญ่เป็นครั้งแรก ที่ต้องเจอคู่แข่งทางการเมืองหน้าใหม่อย่าง นายวีรนันท์ ฮวดศรี ทนายความจากพรรคก้าวไกล ก็จัดว่าเป็นศึกหนักพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อพรรคก้าวไกล ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ เป็นแชมป์เก่าเจ้าของพื้นที่ในการเลือกตั้งปี 2562 

ครั้งนี้ทนายป๊อก ที่มีดีกรีเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน จบนิติ ม.ราม และเคยว่าความให้สมัยอานนท์ นำภา โดนจับเมื่อครั้งประท้วงการรัฐประหาร ก็ถือว่าเป็นคู่แข่งที่สูสี โดยเฉพาะเมื่อต้องต่อสู้กันในเขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งมีสถาบันการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย และโรงเรียน ที่มีแกนนำนักศึกษาและนักเรียนร่วมการเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และเป็นฐานคะแนนสำคัญของพรรคก้าวไกลที่พร้อมเลือกพรรคแบบไม่ต้องดูหน้าผู้สมัคร ทำให้เชื่อว่าจะได้คะแนนจากพลังคนรุ่นใหม่ไปไม่น้อย

แต่ในการประเมินรอบแรก ยังเชื่อว่า กระแสอุ๊งอิ๊งและกระแสพรรค บวกฐานเสียงของนายชัชวาล ยังไม่พอที่จะทำให้นายชัชวาล จากเพื่อไทย ขึ้นนำทนายป๊อกจากก้าวไกลได้ คงต้องไปลุ้นในช่วงโค้งสุดท้ายว่า กระแสพรรคจะแรงขึ้นจนทำให้เอาชนะฐานคะแนนใหม่ของก้าวไกลในเขตเลือกตั้งที่ 1 ได้

เขต 1 ทนายป๊อก วีระนันท์ จากก้าวไกล นำ 

เขตเลือกตั้งที่ 2 ต้องจับตามองเช่นกัน เพราะครั้งก่อนพรรคเพื่อไทยก็พ่ายแพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐที่นำโดยนายเอกราช  ช่างเหลา โดยนายวัฒนา ช่างเหลา ลูกชายนายเอกราช เอาชนะนางอรอนงค์ สาระผล จากเพื่อไทยไปแบบขาดลอยกว่าหมื่นคะแนน การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจึงหวังชิงพื้นที่คืนเช่นกัน 

รอบนี้ ถือ เป็นเขตชนช้าง ระหว่าง 3 ขั้วการเมืองในพื้นที่ คือพรรคเพื่อไทย ที่ส่ง นางสาวรัมภามาศ ทีฆธนานนท์ จากพรรคเพื่อไทย  ลูกสาวของ นายกอุ้ย นายกเทศมนตรีตำบลเมืองเก่า  คนนี้ต้องอาศัยบารมีพ่อ ฐานการเมืองพ่อเก่า รวมถึงได้กระแสพรรค แต่ตัวผู้สมัครยังไม่มีบทบาทมาก  

ส่วนแชมป์นายวัฒนา ช่างเหลา ครั้งนี้ย้ายไปสังกัด พรรคภูมิใจไทย นายวัฒนาเป็นลูกชายคนโตของนายเอกราช ช่างเหลา  ได้เปรียบตรงที่เป็น ส.ส.เก่ามีฐานเดิม   เป็นขั้วการเมืองใหญ่ มีฐานเสียงที่เทศบาลเมืองศิลาหนุน มี กลุ่ม สจ.หนุน เพราะน้องชาย ก็เป็น สจ.  และยังมีนักการเมืองท้องถิ่นอีกหลายพื้นที่ ซึ่งอยู่ในเครือข่ายของนายเอกราช ช่างเหลาคอยสนับสนุน  

เขตนี้ยังมีผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลที่ส่ง แบงค์ นายอิทธิพล ชลธราศิริ ลงสมัคร แบงค์จากก้าวไกลเป็นคนหนุ่มโปรไฟล์ดี และยังเป็นนักบริหารที่เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสถาบันกวดวิชา TUTOR KING และยังเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารธุรกิจแฟรนไชส์ชานมไข่มุก CHINCHA รวมถึง เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร้านจ้วดคาเฟ่ ขอนแก่น ทำให้ฐานคะแนนเสียงของแบงค์ อิทธิพลค่อนข้างหนาแน่นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งนักศึกษาและคนทำงาน โดยเฉพาะฐานของกลุ่ม สตาร์ทอัพ และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี 

เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัด ขอนแก่น การประเมินรอบแรก แม้นายวัฒนา ช่างเหลา พรรคภูมิใจไทย จะมีฐานคะแนนเสียงที่นายเอกราช ช่างเหลาผู้พ่อทำเอาไว้คอยสนับสนุน  โดยเฉพาะเชื่อว่าได้คะแนนจากผู้นำ อปท.และ กลุ่ม อสม.ไว้ได้ทั้งหมดแล้ว และเหนือกว่านางสาวรัมภามาศ จากเพื่อไทย ที่ยังต้องลุ้นให้กระแสอุ๊งอิ๊ง และกระแสพรรคทำงาน

แต่กระแสก้าวไกลในขอนแก่นที่สร้างเอาไว้ บวกกับขอนแก่นเขต 1 และเขต 2 เป็นพื้นที่อำเภอเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน และคนรุ่นใหม่ ทำให้แบงค์ อิทธิพล จากก้าวไกลกลับน่าจะมีภาษีเหนือกว่าผู้สมัครจากภูมิใจไทยและเพื่อไทย

ยกแรกให้นายอิทธิพล จากก้าวไกลนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 3 จตุพร เจริญเชื้อ จากเพื่อไทย ไร้คู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 4 เอกราช ช่างเหลา ภูมิใจไทย สู้กับ มุกดา พงษ์สมบัติ เพื่อไทย ซึ่งเอกราช ที่ยกทั้งตระกูลไปซบพรรคภูมิใจไทย ครั้งก่อนลงส.ส.บัญชีรายชื่อ รอบนี้ลงมาสมัครในระบบเขต แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ เจอกระดูกชิ้นโต กับ มุกดา พงษ์สมบัติ เจ้าของพื้นที่เดิมอดีตส.ส.หลายสมัย จากพรรคเพื่อไทย

นายเอกราชแม้ฐานคะแนนเสียงจะเข้มแข็ง จากการเป็นอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นมายาวนาน แถมรอบนี้กระสุนก็เต็มคลัง แต่การมีคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ทำให้เป็นวิบากกรรมสำคัญของนายเอกราชว่า จะมีผลต่อกรตัดสินใจของคนขอนแก่นหรือไม่ 

ขณะที่นางมุกดา แม้กระแสพรรค และกระแสอุ๊งอิ๊งมาแรงในจังหวัด แต่นางมุกดามีจุดด้อยตรงที่ลงพื้นที่น้อย จนมีเสียงสะท้อนว่า จะเห็นหน้าส.ส.มุกดา ก็ต่อเมื่อมีสัญญาณว่า จะยุบสภาฯ และช่วงเลือกตั้งเท่านั้น

ส่วนก่อนหน้านี้แทบไม่เห็นนางมุกดาอยู่ในพื้นที่ เมื่อวิเคราะห์ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของทั้งคู่ คอการเมืองยังฟันธงว่า จุดอ่อนของนายเอกราชมีมากกว่า และเชื่อว่า ในช่วงต้นนายมุกดาน่าจะมีภาษีและแต้มต่อเหนือนายเอกราช ที่นับวันจะยิ่งอ่อนล้า และบอบช้ำไปเรื่อยๆ 

ยกแรกให้นางมุกดาจากพรรคเพื่อไทยนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 5 ภาควัต ศรีสุรพล เพื่อไทย ไร้คู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 6 สิงหภณ ดีนาง เพื่อไทย ไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 7 นายสมศักดิ์ คุณเงิน หนึ่งเดียวจากพลังประชารัฐที่ชนะการเลือกตั้งซ่อม เมื่อปี 2564 และเป็นหนึ่งเดียวที่ลุงป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เชื่อว่าน่าจะสู้กับคู่แข่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ เพราะเป็นคนเก่าแก่ที่เล่นการเมืองในเขตนี้มานาน และมีฐานคะแนนที่เหนียวแน่น

แต่เขตนี้นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข น้องชายนวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่นจากพรรคเพื่อไทย ที่แม้เป็นหน้าใหม่ของการเมืองสนามใหญ่ แต่ตระกูลเตาะเจริญสุข ก็ใช่ว่า จะเป็นไฟที่ไร้ควัน เพราะนายนวัธ พี่ชายสร้างฐานการเมือง ฐานคะแนน และมีเครือข่ายในเขตเลือกตั้งนี้แบบหนาแน่นและครอบคลุม

การพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ผ่านมา ในพื้นที่ก็รู้กันดีว่า ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ เพราะครั้งนั้นพรรคพลังประชารัฐขนกระสุนดินดำ และเพิ่มกลไกอนาจรัฐลงพื้นที่แบบแพ้ไม่ได้ มีเรื่องเล่ากันว่า ช่วงเลือกตั้งซ่อม มีเครื่องเช่าเหมาลำ Private Jet บินมาลงสนามบินขอนแก่นหลายรอบ และเป็นปัจจัยที่ทำให้นายสมศักดิ์ คุณเงิน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้น 

แต่ครั้งนี้ เครือข่ายตระกูลเตาะเจริญสุข ที่นายนวัธสร้างไว้ บวกกระแสพรรค กระแสอุ๊งอิ๊ง คอการเมืองยังฟันธงให้ในรอบแรกๆ พรรคเพื่อไทย โดยนายสุรพจน์ยังมีโอกาสสู้นายสมศักดิ์ จากพรรคภูมิใจไทยได้อย่างเข้มข้น สูสี และในยกแรกน่าจะสดและเหนือกว่านายสมศักดิ์แบบคะแนนเบียดชิดติดกันไม่ห่างมาก 

รอบแรก นายสุรพจน์จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 8 วิภาณี ภูคำวงศ์ เพื่อไทย ไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 9 สรัสนันท์ อรรณนพพร ไม่มีคู่แข่ง  

เขตเลือกตั้งที่ 10 วันนิวัติ สมบูรณ์ ไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 11 พชรกร อรรณนพพร ไม่มีคู่แข่ง 

ชัยภูมิ 7 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 แชมป์เก่าหมอโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย จากเพื่อไทยเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นเต็งหนึ่ง เพราะเป็นอดีตส.ส.หลายสมัย  และเป็นเจ้ของพื้นที่มายาวนาน เขตนี้มีคู่แข่งากพรรคพลังประชารัฐ คือ นางจิตราภรณ์ กล้าแท้ เท่านั้นที่พอจะสูสี และนับเป็นคู่แข่งของหมอโอชิษฐ์ได้ 

เขตนี้ นายแพทย์โอชิษฐ์ จากเพื่อไทยน่าจะนำยาวจนถึงเส้นชัย 

เขตเลือกตั้งที่ 2 แชมป์เก่าจากพรรคพลังประชารัฐ นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ พรรคพลังประชารัฐ แต่ล่าสุดครั้งนี้หันมาลงในนามพรรคเพื่อไทย สู้กับพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่ง นางสาวสุนทรี ชัยวิรัตนะ ลูกสาวนายสันติ ชัยวิรัตนะ อดีต ส.ส.หลายสมัยลงแข่ง โดยมีคู่แข่งคนสำคัญอีกราย คือ นายมนตรี ชาลีเครือ จากพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ส่งลงสมัคร

เขตนี้ นายเชิงชายที่ย้ายกลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย น่าจะลากยาวเข้าป้ายไปได้ไม่ยากนัก

เขตเลือกตั้งที่ 3 แชมป์เก่าจากพรรคพลังประชารัฐ นายสัมฤทธิ์  แทนทรัพย์  ครั้งนี้ลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย ยังคงต้องสู้กับพรรคเก่าของตัวเอง เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ส่งนายสนั่น พัชรเตชโสภณ เจ้าของธุรกิจหลักพันล้านในพื้นที่ จ.ชัยภูมิลงมาแทน ส่วนพรรคเพื่อไทย แม้จะส่ง นายอนันต์ ลิมปคุปตถาวร แต่ยังห่างจากทั้งคู่ 

เขตนี้คาดว่า นายสัมฤทธิ์ จากภูมิใจไทยเหนือกว่าทุกคนค่อนข้างมาก

เขตเลือกตั้งที่ 4 แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทย นายมานะ โลหะวณิชย์ พรรคเพื่อไทย สู้กับ นายสุขสันต์ ชื่นจิตร พรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคภูมิใจไทยส่ง นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ลูกสาวของนายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ โดยหวังว่า กระแสของนายสัมฤทธิ์ จะข้ามเขตมาช่วยลูกสาวได้

เขตนี้ รอบแรก นายมานะ จากเพื่อไทยแชมป์เก่ายังนำทุกคน 

เขตเลือกตั้งที่ 5 เขตนี้น่าจับตามองผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย และเป็นเขตที่ไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อยคาดหวังว่า จะปักธงในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สำเร็จ โดยพรรคไทยสร้างไทยส่งนายธนกฤติ จรรย์โกมล ลูกชายอดีตส.ส. นายเจริญ จรรย์โกมล ลงสมัคร

แต่เมื่อต้องแข่งกับพรรคเพื่อไทย ที่ส่ง นายสมประสงค์ พงษ์ธีรดุล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านเป้า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และแข่งกับอา คือ นายชัยชาญ จรรย์โกมล น้องชายนายเจริญที่ลงมาแข่งกับหลานชายในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้คะแนนของตระกูลจรรย์โกมล ถูกแชร์ออกเป็น 2 ส่วน ส่งผลให้นายสมประสงค์ จากพรรคเพื่อไทยที่กระแสพรรคกำลังมา ขยับเข้ามารับอานิสงค์นี้ และมีโอกาสชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

การประเมินรอบแรกให้ นายสมประสงค์ จากพรรคเพื่อไทยเป็นตัวนำ

เขตเลือกตั้งที่ 6 เป็นอีกเขตที่เป็นพื้นที่ของตระกูลจรรย์โกมล และเป็นพื้นที่ของนายเจริญ จรรย์โกมล อดีตส.ส. เขตนี้หลายสมัย แม้ครั้งที่แล้วในปี 2562 นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล จากพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง

แต่ครั้งนั้นนายเจริญ ไม่ได้ลงสมัครในระบบเขต เพราะสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ และเมื่อพรรคไทยรักษาชาติโดนยุบ นายเจริญก็เว้นวรรคการเมืองไปหนึ่งสมัย รอบนี้เมื่อนายเจริญ ลงสมัครในนามพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อย คอการเมืองจึงยังให้นายเจริญ มีคะแนนเหนือนางพรเพ็ญ 

การประเมินรอบแรกให้นายเจริญ จากพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะเจ้าของพื้นที่น่าจะเอาชนะนางพรเพ็ญ จากพรรคเพื่อไทยได้ โดยนาวพรพ็ญต้องลุ้นกระแสพรรค และกระแสอุ๊งอิ๊งว่า จะแรงพอให้เอาชนะนายเจริญได้หรือไม่

เขตนี้ รอบแรก นายเจริญ ไทยสร้างไทย นำ 

เขตเลือกตั้งที่ 7 การเลือกตั้งครั้งนี้ทุกพรรคต่างคัดผู้สมัครลงมาเต็มที่ แต่เขตนี้น่าจะเป็นการแข่งกันระหว่างแชมป์เก่า นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์  พรรคเพื่อไทย และ นางสาวเพชราพร  ภูมิรัตนประพิณ พรรคภูมิใจไทยเท่านั้น 

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ส่ง นายแพทย์ประสิทธิ์  ชัยวิรัตนะ พรรคพลังประชารัฐ ที่ส่ง นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ บุตรชาย นายอร่ามโล่ห์วีระ นายก อบจ.ชัยภูมิ คนปัจจุบัน พรรคไทยสร้างไทย ส่ง นายจอมจักรภพ  เอกกุล และจากพรรคก้าวไกล ส่ง กิตติธัช คำวงษ์ ยังไม่ถือเป็นคู่แข่งที่พอจะสู้ นายแพทย์สุรวิทย์ พรรคเพื่อไทย และ นางสาวเพชราพร จากพรรคภูมิใจไทยได้ 

ประเมินยกแรก นายแพทย์สุรวิทย์นำ นางสาวเพชราพร อยู่เล็กน้อย 

นครพนม 4 เขตเลือกตั้ง 

เขตเลือกตั้งที่ 1 เดิมทีเป็นพื้นที่ของ นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว พรรคภูมิใจไทย แต่คราวนี้ส่งภรรยาลงแทน คือ พูนสุข โพธิ์สุ สู้กับ ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 เพื่อไทย คาดว่าเขตนี้พรรคภูมิใจไทยจะได้เก้าอี้มาครอง เพราะเป็นพื้นที่เดิมของครูแก้ว  
เขตนี้ นางพูนสุข จากพรรคภูมิใจไทย น่าจะอาศัยฐานะแนนของครูแก้ว เอาชนะดร.ภูมิพัฒน์ไปได้ ยกแรก นางพูนสุขยังนำอยู่ ส่วนดร.ภูมิพัฒน์จากเพื่อไทย ต้องไปลุ้นให้ปลายเกมกระแสพรรคแรงขึ้น จึงจะมีสิทธิ์ชนะในเขตนี้ 

เขต 1 นางพูนสุข ภูมิใจไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 พรรคภูมิใจไทย ครูแก้ว นายศุภชัย โพธิ์สุ ย้ายมาสู้กับ ดร.มนพร เจริญศรี อดีตส.ส.สมัยที่แล้วจากพรรคเพื่อไทย แต่เชื่อว่า การต่อสู้ในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เขตเลือกตั้งของตัวเอง ทำให้ครูแก้วไม่น่าจะสู้ฐานคะแนนของดร.มนพร และพรรคเพื่อไทยได้

ประเมินยกแรก ดร.มนพร จากพรรคเพื่อไทยนำและเชื่อว่า จะเข้าป้ายคว้าเก้าอี้มาครองได้ 

เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคภูมิใจไทย ดึงเอานายแพทย์ อลงกต มณีกาศ อดีตผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ย้ายมาสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย หวังล้างตากับ ดร.ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.แชมป์ตลอดกาล 11 สมัยพรรคเพื่อไทย หลังคาใจครั้งที่แล้วแพ้เลือกตั้งประมาณ 2,000 คะแนน 
แต่เขตนี้คาดว่า นายแพทย์อลงกต จากภูมิใจไทย ยังสู้ ดร.ไพจิตจากเพื่อไทยไม่ได้ 

เขตเลือกตั้งที่ 3 ดร.ไพจิต เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 4 การเลือกตั้งครั้งนี้ ครูแก้ว ดึงนายชูกัน กุลวงษา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มาสังกัดพรรคภูมิใจไทย เพื่อชนกับนายอรรถสิทธิ์ ทรัพย์สิทธิ์  อดีตส.ส. 7 สมัยจากพรรคเพื่อไทย เพราะหวังว่า จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยที่ฐานคะแนนแตกออกเป็นสองส่วน จากการที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.เขต 4 นครพนม พรรคเพื่อไทย ย้ายไปสังกัดพรรคไทยสร้างไทย แต่การประเมินในพื้นที่ ยังเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยโดยนายอรรถสิทธิ์ ยังน่าจะเอาชนะนายชูกันจากพรรคภูมิใจไทยได้มายาก 

เขต 4 นายอรรถสิทธิ์จากเพื่อไทยนำ

นครราชสีมา 16 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 เมืองหลวงของพรรคชาติพัฒนากล้า เขตนี้ คอการเมืองโคราช ฟันธงว่า เป็นศึกช้างชนช้าง เมื่อนายเทวัญ ลิปตพัลลภ น้องชายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มีเดิมพันจะต้องปักธงพรรคชาติพัฒนากล้าลงในเขตเลือกตั้งที่ 1 แบบแพ้ไม่ได้ 

การเลือกตั้งครั้งนี้ นายเทวัญ มีคูแข่งจากพรรคเพื่อไทย คือ รองหลี ร.ต.อ.สุปชัย อินทรักษา อดีตรองนายกเทศมนตรี เทศบาลนครนครราชสีมา นักการเมืองหนุ่มที่ก้าวขึ้นมาจากเมืองท้องถิ่น รอบนี้แม้รองหลี จะได้แรงหนุนจากพรรคเพื่อไทย และมีกระแสพรรค กระแสอุ๊งอิ๊ง ผสมกับฐานคะแนนส่วนตัว แต่เชื่อว่า ยังสู้นายเทวัญที่มีเดิมพันสำคัญของพรรคไม่ได้ 

การประเมินรอบแรก นายเทวัญจากพรรคชาติพัฒนากล้านำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 ยังเป็นเขตฐานเสียงของพรรคชาติพัฒนากล้า เพราะการเลือกตั้งปี 2562 นายวัชรพล โตมรศักดิ์ รองหัวหน้าพรรค แม้จะต้องฝ่าทั้งกระแส และกระสุนของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยังเอาชนะมาได้ 

การเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะมีคู่ต่อสู้ที่สมศักดิ์ศรีจากพรรคเพื่อไทย คือ นายสมโภชน์ ปราสาทไทย แกนนำคนเสื้อแดงอำเภอเมืองโคราช ที่หนีจากเขต 1 ไปลงชิงชัยเก้าอี้  แต่เชื่อว่า แชมป์เก่า อดีตส.ส. 5 สมัยอย่างนายวัชรพล ก็ยังน่าจะเอาชนะนายสมโภชน็ได้ไม่ยาก

ประเมินรอบแรกนายวัชรพล พรรคชาติพัฒนากล้านำ 

เขตเลือกตั้งที่ 3 เป็นอีกเขตที่พรรคชาติพัฒนากล้าคาดหวังสูง เนื่องจากมีช่องว่างที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง แชมป์เก่าจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงสมัคร พรรคชาติพัฒนากล้าจึงส่งกำนันเบ้า นายสมศักดิ์  กาญจนวัฒนา ผู้กว้างขวางในแวดวงการเมืองท้องถิ่นลงสมัคร โดยเชื่อว่า กำนันเบ้าจะเอาชนะคู่แข่งจากพรรคอื่นๆได้ไม่ยาก  เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครจากพรรคใหญ่

ส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่เกือบหมด เขตนี้พรรคเพื่อไทยแชมป์เก่าส่ง นายวัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ นักธุรกิจเจ้าของตลาดสด ฐานเสียงเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า แม่ค้า และผู้นำชุมชนบางส่วน ลงสมัคร ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่งนายนายวีระวัฒน์ มิตรสูงเนิน อดีตประธาน สภา อบจ.นครราชสีมา ที่มีฐานเสียงหลักเป็นนักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในพื้นที่ลงแข่ง นักวิเคราะห์การเมืองโคราชระบุว่า

แม้เขตนี้จะเป็นเขตช้างชนช้างอีกหนึ่งเขต แต่สุดท้ายนายสมศักดิ์ จากชาติพัฒนากล้ามีสิทธิ์ลุ้นซิวเก้าอี้ ส.ส.เขต 3 มาครอง

เขตเลือกตั้งที่ 3 ยกแรก นายวีระวัฒน์จากพรรคชาติพัฒนากล้านำ

เขตเลือกตั้งที่ 4 ยังเป็นเขตของพรรคชาติพัฒนากล้า เพราะเขตนี้พรรคชาติพัฒนากล้าส่วงนายสมบัติกาญจนวัฒนา น้องชายกำนันเบ้าลงสมัคร พื้นที่นี้สองเขตเชื่อมโยงกัน ทำให้นายสมบัติที่ลงพื้นที่มานาน และเป็นอดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งมีฐานเสียงจากนักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชุมชนแน่นปึ๊ก เขตนี้นักวิเคราะห์การเมืองฟันธงว่า นายสมบัติ จะสามารถแจ้งเกิดได้สักที 

ส่วนคู่แข่ง น่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ที่ส่งนางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ หลานสาวของนักธุรกิจชื่อดังโคราช ดร.บุญมา อิ่มวิเศษ เจ้าของสินค้าครัวเรือนยี่ห้อดัง “สตาร์เวลล์” ลงชิงเก้าอี้  และพรรคพลังประชารัฐที่ส่ง นายสุธรรม พรสันเทียะ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมืองโคราช ซึ่งเคยเป็นใกล้ชิดกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีลงสมัคร หลังจากนายสุธรรมอกหักจากพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับการคัดเลือกให้ลงสมัคร เพราะที่นั่งเต็ม 

ฟันธงเขตนี้นายสมบัติ จากพรรคชาติพัฒนากล้า เหนือกว่าทั้งนางสาวณัฐจิราจากเพื่อไทย และนายสุธรรมจากพลังประชารัฐ ยกแรกนายสมบัติชาติพัฒนากล้านำ 

เขตเลือกตั้งที่ 5 พื้นที่ของตระกูลรัตนเศรษฐ เลือกตั้งปี 2562 เก้าอี้เป็นของนายทวิรัฐ  รัตนเศรษฐ ลูกชายนายวิรัช  รัตนเศรษฐ รอบนี้นายทวิรัฐเจอศึกหนัก เมื่อต้องลงป้องกันแชมป์กับผู้ท้าชิงหมัดหนักจากพรรคเพื่อไทย อย่างนายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.นครราชสีมา เด็กของกำนันป้อ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.คมนาคม เจ้าของโรงแป้งมันเอี่ยมเฮง โดยนายสมเกียรติ เป็นนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานราชการรายใหญ่ในโคราช ที่มีทุนและเครือข่ายแน่นหนา 

เลือกตั้งรอบนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ความขลังของตระกูลรัตนเศรษฐ์ กับ บารมีของกำนันป้อ วีรศักดิ์  หวังศุกภิจโกศล ว่าใครจะแน่กว่ากัน

ประเมินรอบแรก คอการเมืองยังให้นายทวิรัฐ พลังประชารัฐนำเล็กน้อย โดยมีนายสมเกียรติ จากเพื่อไทยตามมาติด ๆ 

เขตเลือกตั้งที่ 6 เริ่มเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย เลือกตั้งรอบนี้พรรคเพื่อไทยยัง ส่งนายโกศล ปัทมะ แชมป์เก่าหลายสมัย น้องชายนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ลงรักษาที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งนางอรทัย พลวิเศษ ภรรยาของนายภิรมย์ พลวิเศษ ลงสู้ศึก หวังที่จะล้มช้างให้ได้ แต่การประเมินรอบแรก

นักวิเคราะห์การเมืองยังมั่นใจว่า “โกศล ปัทมะ” เพื่อไทย จะสอบผ่านเช่นเคย เขต 6 โกศล จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 7 พรรคเพื่อไทย ส่งนางสาวปิยะนุช ยินดีสุข สจ.นครราชสีมา เขต.ลำทะเมนชัย สะใภ้โรงแป้งมันเอี่ยมธงชัย ลงชิงเก้าอี้  ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่งนางทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยาของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ลงป้องกันแชมป์

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ส่งนายพีรพร สุวรรณฉวี บุตรชาย ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี และร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา ลงสู้ศึก คอการเมืองโคราชฟันธงเขตนี้เป็นเขตช้างชนช้างอีกหนึ่งเขตจะเป็นการเบียดกันแบบสูสีระหว่าง” ปิยะนุช” จากเพื่อไทย และ “ทัศนียา” จากพลังประชารัฐ

การประเมินรอบแรกแม้คอการเมืองจะให้กระแสพรรคเพื่อไทยแรง ทำให้คะแนนปิยะนุช จะอาศัยบารมีกำนันป้อ และเกาะกระแสพรรคอาจจะเอาชนะ ทัศนียา รัตนเศรษฐ์จากพรรคพลังประชารัฐได้ แต่วัดจากฐานคะแนนของพลังประชารัฐแล้ว เขตนี้ ทัศนียา น่าจะยังเอาตัวรอดไปได้ก่อนในช่วงต้น ไปสู้กันอีกครั้งในโค้งสุดท้าย

เขต 7 ทัศนียา พลังประชารัฐ นำ 

เขตเลือกตั้งที่ 8 พรรคเพื่อไทย ส่งนายนายนิกร โสมกลาง เลขานุการ “ยลดา หวังศุภกิจโกศล” นายก อบจ.นครราชสีมา ลงชิงเก้าอี้ นายนิกร นอกจากเป็นเลขานางยลดาแล้ว ยังมีศักดิ์เป็นว่าที่ลูกเขยกำนันป้ออีกด้วย ทำให้เขตนี้ แม้จะมีคู่แข่งที่แข็งโป๊กจากพรรคพลังประชารัฐ นางอรัชมน รัตนเศรษฐ ภรรยาของ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” รมช.คมนาคม สะใภ้ของวิรัช รัตนเศรษฐ ลงสู้ศึก และเป็นเขตช้างชนช้างอีกพื้นที่

แต่น้ำหนักของกำนันป้อ และกระแสพรรคเพื่อไทย ยังแรงกว่า น่าจะทำให้ นายนิกร โสมกลาง” จากเพื่อไทยเหนือกว่า นางอรัชมนจากพลังประรัฐ

ยกแรกนายนิกรเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 9 พรรคภูมิใจไทย ส่งนายนายพลพีร์ สุวรรณฉวี เลขานุการ “อนุทิน ชาญวีรกุล”  บุตรชาย ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีตนายกอบจ.นครราชสีมา ลงชิงเก้าอี้ ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่งนายธีระยุทธ ตันติกุล นักธุรกิจเจ้าของปั้มแก๊สหลายแห่ง พรรคพลังประชารัฐ ส่งนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ น้องสาว “ทัศนียา รัตนเศรษฐ” ภรรยานายวิรัช รัตนเศรษฐ ลงป้องกันแชมป์เพื่อรักษาเก้าอี้   

เขตนี้ คอการเมืองโคราชฟันธงว่า จะดุเดือดและสูสีที่สุด  และโค้งสุดท้ายจะตัดสินกันที่กระสุนดินดำของใครจะยิงเข้าเป้ามากกว่ากัน โดยจะเป็นการเบียดกันระหว่าง “ทัศนาพร”จากพลังประชารัฐกับ “ธีระยุทธ”จากเพื่อไทย โดยมี “พลพีร์” จากภูมิใจไทยตามมาติดๆ

ยกแรกฟันธงให้แชมป์เก่า ทัศนาพร จากพลังประชารัฐนำ

เขตเลือกตั้งที่ 10 พรรคเพื่อไทย ส่งนายอภิชา เลิศพชรกมล หรือเสี่ยปื้ด ลงป้องกันแชมป์ หลังจากย้ายจากพรรคภูมิใจไทย มาสังกัดพรรคเพื่อไทย มี “กำนันป้อ” นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม เจ้าของโรงแป้งมันเอี่ยมเฮงหนุนหลัง ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ส่งนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีต รมช.มหาดไทย ลงท้าชิง

เขตนี้ “บุญจง” หวังแจ้งเกิดอีกครั้งโดยมี “อนุทิน” หน.พรรคสนับสนุนเสบียงเต็มที่ แต่งานนี้ “กำนันป้อ” มีเสียงในมือพื้นที่ 7 ตำบลของอ.ครบุรี กว่า 6 หมื่นคะแนน มั่นใจดันลูกน้อง “อภิชา เลิศพชรกมล” เข้าสภารักษาแชมป์ไว้ได้ แต่ก็อย่าประมาท “บุญจง” แมว 9 ชีวิต อย่างเด็ดขาด

ยกแรก นายอภิชา จากเพื่อไทยใช้บารมีกำนันป้อ และเกาะกระแสพรรคนำอยู่เล็กน้อย 

เขตเลือกตั้งที่ 11 พรรคเพื่อไทย ส่งนายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล บุตรชายกำนันป้อ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.คมนาคม ลงชิงเก้าอี้ ส.ส. ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งพันตำรวจเอกปริวัฒน์ นาคำ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหลายแห่ง หลายแห่ง ลงชิงชัย

พรรคภูมิใจไทย ส่ง "นายพรชัย อำนวยทรัพย์” อดีตคนสนิทกำนันป้อลงป้องกันแชมป์ โดยมี “อนุทิน ชาญวีรกุล” หน.พรรคภูมิใจไทยสนับสนุน เขตนี้กำนันป้อต้องการให้ลูกชาย “อาทิตย์” เป็นส.ส. ทุมสุดตัว  เพื่อจะเอาเก้าอี้ ส.ส.เขตนี้คืนมาจากภูมิใจไทย 

ฟันธง “อาทิตย์” ลูกชายกำนันป้อจากเพื่อไทย เหนือกว่า “พรชัย” แชมป์เก่าจากภูมิใจไทย 

เขตเลือกตั้งที่ 12 คนพรรคภูมิใจไทย ส่งนายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ที่ย้ายมาจากพลังประชารัฐลงรักษาเก้าอี้ แต่ต้องเจอศึกหนักเมื่อกำนันป้อจากพรรคเพื่อไทยดับเครื่องชนดัน นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล รองนายก อบจ.นครราชสีมา บุตรชายของโรงแป้งเอี่ยมธงชัย หลานกำนันป้อ ลงท้าชิง  

พรรครวมไทยสร้างชาติของ”ลุงตู่”ส่งประนอม โพธิ์คำ อดีต สส.ลงชิงเก้าอี้ เขตนี้คอการเมืองยกให้เป็นเขตช้างชนช้างจะเป็นการแย่งเก้าอี้กันระหว่างแชมป์เก่า “สมศักดิ์ พันธุ์เกษม” จากภูมิใจไทยกับ”นรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล” จากเพื่อไทย

ยกแรกให้นรเสฏฐ์ จากเพื่อไทยนำเล็กน้อย

เขตเลือกตั้งที่ 13 เพื่อไทย ส่ง “นายพชร จันทรรวงทอง” ลูกชายนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคลงสมัครแทนนายรัชตะ ด่านกุล ซึ่งครั้งที่แล้วแพ้คู่แข่งจากภูมิใจไทยไปแบบคาใจ โดยมีคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐ “นายสุกฤษณ์ วัชรมาลีกุล”และพรรคชาติพัฒนากล้า “นายวรพจน์ บุญจันทึก” แต่ประเสริฐ จันทรรวงทอง มั่นใจอุ้มลูกชาย “พชร”เข้าสภาในการลงสมัครสมัยแรกได้แน่นอน

ยกแรก พชร จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 14 “นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ”จากพรรคเพื่อไทยเป็นแชมป์เก่ามาหลายสมัย แต่ แต่ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ “ศิรสิทธิ์”ต้องเจอคู่แข่งทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ นายวิรัตน์ วาริชอลังการและพรรคภูมิใจไทย นายมานิตย์ จันทรวราภร ที่ได้หัวหน้าพรรค “อนุทิน” สนับสนุน แต่”ศิรสิทธิ์” ได้ทั้ง”ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคฯและ กำนันป้อ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” คอยส่งเสบียงสนับสนุน จึงมั่นใจจะรักษาเก้า ส.ส.เอาไว้ได้ โดยมี “มานิตย์ จันทรวราภร” จากภูมิใจไทยคอยหายใจรดต้นคอ

ประเมินรอบแรก ศิรสิทธิ์ จากเพื่อไทยไม่ห่าง

เขตเลือกตั้งที่ 15 สนามเลือกตั้งเขตนี้ มี “วิสิทธิ์ พิทยาภรณ์” ส.ส.ต๋อง จากค่ายภูมิใจไทยเป็นแชมป์เก่า มีฐานเสียงจากผู้นำท้องถิ่น นายก อบต.และกลุ่มแม่บ้าน แต่ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงมีคู่แข่งสำคัญจากสองพรรค ได้แก่ นายรชตะ ด่านกุล จากเพื่อไทยและนายพจน์ เจริญสันเทียะ จากพลังประชารัฐ แต่คอการการวิเคราะห์ว่า เขตเลือกตั้งนี้จะเป็นการชิงกันระหว่าง “วิสิทธิ์” จากภูมิใจไทยและ”พจน์” จากพลังประชารัฐ โดยมี “รชตะ” จากเพื่อไทยจะเป็นตัวสอดแทรก

ยกแรก วิสิทธิ์ จากภูมิใจไทยยังนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 16 สนามเลือกตั้งเขตนี้เดิมเก้าอี้ ส.ส.เป็นของพรรคเพื่อไทย นายสุชาติ ภิญโญ แต่เลือกตั้งครั้งนี้”สุชาติ”ย้ายไปซบภูมิใจไทย โดยมีคู่แข่งสำคัญจากพรรคเพื่อไทย นายพรเทพ ศิริโรจนกุล  สจ.นครราชสีมา  พี่ชายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล รองนายก อบจ.นครราชสีมา ทายาทคนโตของโรงแป้งมันเอี่ยมธงชัย หลานกำนันป้อ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล" 

นอกจากนี้พลังประชารัฐโดยวิรัช รัตนเศรษฐ ยังส่งลูกชายคนเล็ก “นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ” มาลงสนามนี้ด้วย  พรรครวมไทยสร้างชาติของลุงตู่ได้ “นวกิจ พลวิเศษ “ ลูกชาย “ภิรมย์ พลวิเศษ” มาลงชิงเก้าอี้อีกคน ส่งผลให้สนามนี้กลายเป็นสนามช้างชนช้างอีกหนึ่งสนาม โดยจะมีปัจจัยเรื่องกระสุนจะเป็นตัวชี้ขาดในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง  เบียดแย่งเก้าอี้กันระหว่าง “สุชาติ ภิญโญ” จากภูมิใจไทย “ตติรัฐ รัตนเศรษฐ” จากค่ายพลังประชารัฐและ”พรเทพ ศิริโรจนกุล” จากเพื่อไทย

แต่ยกแรก คอการเมืองให้ พรเทพ จากเพื่อไทยนำ 

บึงกาฬ 3 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคเพื่อไทยส่ง นางสาวภัทรพร ราชป้องขันธ์ บุตรสาวของ ส.ส.เชิดพงศ์ ราชป้องขันธ์ ส่วนพรรคภูมิใจไทยส่ง นายสยาม  เพ็งทอง ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ทั้งคู่ไม่เคยเล่นการเมืองมาก่อนทุกระดับ แต่นายสยาม ดีกรีลูกเขย ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทยหรือมท. 2 กับนางแว่นฟ้า ทองศรี ซึ่งเป็นนายก อบจ.บึงกาฬคนปัจจุบัน  

วิเคราะห์ว่า ทีมเสื้อแดงอาศัยแต่บุญเก่าไม่ค่อยทำการบ้านไม่ค่อยออกงานน่าจะแพ้ทีม เสื้อน้ำเงิน เพราะขยันลงพื้นที่มาตั้งแต่เนิ่นนาน เก็บแต้มเก็บคะแนนเก็บเล็กเก็บน้อยสะสมมาเรื่อยๆ คาดว่านายสยาม  น่าจะชนะเข้าวินเดินเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอย่างแน่นอน โดยจะเก็บคะแนนทั้งคนและพรรคด้วย

ยกแรกให้นายสยาม จากภูมิใจไทยนำ ส่วนภัทรพรจากเพื่อไทยต้องลุ้นกระแสพรรคมาช่วยในช่วงโค้งสุดท้าย 

เขตเลือกตั้งที่ 2 นั้นเป็นการรักษาแชมป์เก่าของ นายไตรรงค์ ติธรรม พรรคเพื่อไทยกับผู้ที่จะขึ้นชิงแชมป์ได้แก่ นายสุวรรณา กุมภิโร อดีตนายกเทศบาลตำบลป่งไฮ ซึ่งในเขตที่ 2 นี้ค่อนข้างจะสูสีด้วยกันทั้ง 2 พรรค เขตนี้สำหรับผู้สมัครแม้ชาวบ้านจะนิยมคนใหม่ ทำให้นายสุวรรณา อาจจะได้เปรียบ ขณะที่อดีต ส.ส.เก่า นายไตรรงค์ จะสุขภาพไม่ค่อยจะดีอาจจะแรงเสียดทานเบียดกันแรงๆไม่ได้ แต่กระแสพรรคที่มาแรงมากในช่วงต้น ยังทำให้นายไตรรงค์จากเพื่อไทยยังออกนำนายสุวรรณา จากภูมิใจไทย อยู่

เขตนี้ ยกแรกนายไตรรงค์ จากเพื่อไทย น่าจะอาศัยกระแสพรรค ทำคะแนนนำไปก่อน 

เขตเลือกตั้งที่ 3 ซึ่งเป็นเหตุเลือกตั้งเพิ่มเติมมาใหม่ได้แก่ อำเภอพรเจริญ อำเภอโซ่พิสัยและอำเภอปากคาด ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยในเขตนี้ก็คือ นายนิพนธ์ คนขยัน อดีตเคยอยู่เพื่อไทยมาก่อนมาลงสมัคร นายก อบจ.บึงกาฬได้รับเลือกตั้ง 1 สมัยและก็หันกลับมาเล่นการเมืองสนามใหญ่อีกครั้ง

ส่วนผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยได้แก่ นายนิยม นิติพจน์ อดีตนายก อบต.คำแก้ว อำเภอโซ่พิสัย ซึ่งในอำเภอนี้มีผู้ลงสมัคร ส.ส หลายคนหลายพรรคคาดว่าจะแย่งแบ่งคะแนนกันออกไปหลายส่วนหลายพรรค ในเขตเลือกตั้งที่ 3 นี้คาดว่านายนิพนธ์ คนขยัน จากพรรคเพื่อไทยจะเข้าวินเดินเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกรอบ แน่นอน

ประเมินรอบแรก นายนิพนธ์ จากเพื่อไทยนำ

บุรีรัมย์ 10 เขตเลือกตั้ง

บุรีรัมย์ แข่งขันกัน 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ ภูมิใจไทย และเพื่อไทย  คอการเมืองให้ภูมิใจไทยแลนด์สไลด์  แต่เขตที่จะมีการแข่งขันกันสูง คือ เขต 4 เขต 7 และเขต 10 

เขตเลือกตั้งที่ 1 เจ้าของพื้นที่เดิมคือนายสนอง เทพอักษรณรงค์  พรรคภูมิใจไทย ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.เมื่อปี 2550 มาจนถึงปัจจุบัน คู่แข่งเป็นทนายความชื่อดัง นายพีรภัทร ทองธีรสกุล หรือชาวบ้านรู้จักกันดีคือทนายปีเตอร์ ทั้งสองถือเป็นมวยคนละชั้นเชิง สนอง เทพอักษรณรงค์ เป็น สส.ที่ลงพื้นที่ตลอดทั้งปี  

นายสนอง จากภูมิใจไทยน่าจะนำขาดจนจบ

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายไชยชนก ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 1 ที่คอการเมืองฟันธงว่า ได้ครองตำแหน่ง ส.ส. แบบไร้คู่แข่ง 

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 6 ไร้คู่แข่ง ได้ตำแหน่ง ส.ส. 

เขตเลือกตั้งที่ 4 ระหว่างนายรังสิกร ทิมาตฤกะ(ทิ-มา-ตะ-รึ-กะ) อดีต สส.3 สมัย  พรรคภูมิใจไทยครั้งนี้มาเจออดีต สส.เพื่อไทย นายสุรศักดิ์ นาคดี คู่นี้ถ้าเปรียบเทียบกันตัวต่อตัว จะมีความเหมือนที่แตกต่าง รังสิกร ที่ผ่านมาอาศัยขยันลงพื้นที่ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ส่วนนายสุรศักดิ์ ถึงแม้จะร้างเวทีการเมืองมานาน แต่ยังมีกระแสของพรรคเพื่อไทยมาหนุน คอการเมืองที่บุรีรัมย์ บอกว่า หากสุรศักดิ์ นาคดี มีกระสุน มีโอกาสเฉือนเอาชนะได้

ยกแรกให้นายรังสิกร จากภูมิใจไทยนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายโสภณ ซารัมย์ อดีต.ส.หลายสมัยจากพรรคภูมิใจไทย ที่หวนกลับมาสนามอีกรอบ น่าจะไม่มีคู่แข่งคนไหนที่ขึ้นมาเทียบฐานคะแนนพรรค และฐานคะแนนส่วนตัวได้

เขตเลือกตั้งที่ 6 นายศักดิ์ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย ได้ครองเก้าอี ส.ส. แบบไร้คู่แข่ง  

เขตเลือกตั้งที่ 7 พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน ลงมาสู้กับ นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ลูกชายนายหนูแดง วรรณกางซ้าย อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ที่เสียชีวิตไปแล้ว เขตนี้เป็นหนึ่งใน 2 เขตที่พรรคเพื่อไทย มีลุ้นจะแย่งเก้าอี้กลุ่มเพื่อนเนวินมาได้ หลังจากทำสำเร็จในการเลือกตั้งเมื่อปี 54 มาแล้ว ครั้งนี้นายพรรณธนู จะได้คะแนนสงสารจากพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว บวกกับกระแสของเพื่อไทย ว่าจะสามารถตีตื้นขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน

ยกแรกให้นายพรชัยจากภูมิใจไทยยังนำแบบห่าง ๆ

เขตเลือกตั้งที่ 8 ภูมิใจไทยส่ง นายไตรเทพ งามกมล ลงมาแข่งกับ นายสมนึก เฮงวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย อดีต สส.พรรคมัชฌิมา เขตนี้ประเมินด้วยตาเปล่ากลุ่มเพื่อนเนวินจะได้เปรียบในเชิงพื้นที่เดิม แต่พื้นที่ของเขต 8 ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงฝังอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก ทำให้นายสมนึกก็พอมีลืนอยู่บ้าง 

ยกแรกยังให้นายไตรเทพ ในสังกัดบ้านใหญ่ชิดชอบ นำแบบพอมีช่องว่างให้นายสมนึกได้ลุ้นบ้าง  

เขตเลือกตั้งที่ 9 นายรุ่งโรจน์ ทองศรี พรรคภูมิใจไทย ไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 10 กำนันจำรัส เวียงสงค์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย คราวนี้ปัดฝุ่นมาสู้กับ นายจักรกฤษณ์ ทองศรี สส.ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีฐานคะแนนเดิมอย่างแน่นหนา แต่ยังประมาทไม่ได้ เพราะเริ่มมีตัวชี้วัดแล้ว หลังจากทีมครอบครัวเพื่อไทยนำโอยอุ้งอิ้ง มาเปิดเวทีปราศรัยที่ อ.ประโคนชัย ปรากฏว่ามีคลื่นมหาชน หลั่งไหลมาดูการปราศรัยมากกว่า 12,000 คน จากที่ตั้งเป้าเอาไว้เพียง 7,000 คนเท่านั้น 

ยกแรก นายจักรกฤษณ์จากภูมิใจไทยนำ แต่ต้องรักษากระแส และกระสุนให้ยาวถึงวันหย่อนบัตร ไม่เช่นนั้นจะเปิดช่องให้กำนันจำรัสแทรกตัวเข้ามาได้ทันที 

มหาสารคาม 6 เขต เลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคเพื่อไทย เปิดตัว นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์  ส.ส.  ที่ประชาชนทุ่มคะแนนให้ สู้กับนางสาวนงลักษณ์ ทุงจันทร์ พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์   และนายอดิศักดิ์ สมบัติคำ ว่าที่ผู้สมัคร พรรคก้าวไกล หวังคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่   

เขตนี้หมอกิตติศักดิ์ จากพรรคเพื่อไทยยังคงมาแรง และน่าจะรักษาแชมป์ได้ไม่ยาก 

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายสุชาติ ศรีสังข์ ฉายา ซัดดัมอีสาน อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชารัฐ ที่ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ชิงเก้าอี้กับ นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ อดีต ส.ส.เพื่อไทยครั้งที่ผ่านมา และ ดร.วรเวช ศิริประเสริฐศรี พรรคไทยสร้างไทย   

ยกแรกให้ นายไชยวัฒนา ตินรัตน์ จากพรรคเพื่อไทยอดีตส.ส.สมัยที่ผ่านมานำนายสุชาติจากพลังประชารัฐ เล็กน้อย

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.เพื่อไทย ที่ยังครองเก้าอี้ไว้ย่างแน่นหนา  หลังจากได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ มีคู่ต่อสู้ชิงเก้าอี้ ในพื้นที่คือ นายลัทธชัย โชคชัยวัฒนากร จากพรรคภูมิใจไทย  ที่เคยลงสมัคร ส.ส.เขต3พรรคภูมิใจไทย ปี62แต่ ก็พ่ายแพ้  ให้กับนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย

เขตนี้นายยุทธพงศ์ จากเพื่อไทยน่าจะเข้าป้ายแบบทิ้งห่าง 

เขตเลือกตั้งที่ 4 พรรคเพื่อไทยส่งนายสรรพญ์ ศิลิไปล์ ลงสมัคร ส่วนพรรคภูมิใจไทยส่ง ดร. วิเชียร จงชูวณิชย์ ที่เคยลงสนามเลือกตั้งปี 62 ลงสมัครอีกครั้ง หลังจากครั้งก่อนดร.วิเชียร ลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 2 และแพ้ให้กับนายไชยวัฒนา ติณรัตน์ จากพรรคเพื่อไทย รอบนี้เมื่อวัดจากฐานเสียง และกระแสพรรคแล้ว นายสรรพญ์ จากพรรคเพื่อไทยน่าจะย้ำแผลให้กับดร.วิเชียรอีกครั้ง 

ยกแรกจึงให้นายสรรพญ์จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 5 พรรคเพื่อไทย นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ เดินสายการเมืองตามรอยพ่อ ลูกชาย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จังหวัดมหาสารคาม 8 สมัย มีคู่แข่งนายสหะ กันพล ว่าที่ผู้สมัครพรรคก้าวไกล

เขตนี้ ยกนายจิรวัฒน์ จากเพื่อไทยยังนำห่าง 

เขตเลือกตั้งที่ 6 เขตของคนรุ่นใหม่น่าจับตามอง ทายาททางเมืองลงชิงเก้าอี้คือ นายรัฐ คลังแสง ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สังกัดพรรคเพื่อไทย ที่ลงสนามกับนายธนกร อุดรพิมพ์ บุตรชาย ดร.คมคาย อุดรพิมพ์ นายก อบจ.มหาสารคาม พรรคภูมิใจไทย ทั้งคู่ถือเป็นมวยถูกคู่ เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ และมีฐานคะแนนส่วนตัวของครอบครัวหนาแน่น แต่นายรัฐ จะได้เปรียบตรงกระแสพรรค และกระแสอุ๊งอิ๊งในภาคอีสานที่มาแรงมาก 

ยกแรกนายรัฐ จากเพื่อไทย จึงนำนายธนกร จากภูมิใจไทยแบบห่างไม่มาก 

มุกดาหาร 2 เขต เลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายนนทภูมิ ปณิธานนท์ พรรคเพื่อไทย นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร ที่มีคู่แข่งอย่างนายสุเทพ เซียสุกล พรรคภูมิใจไทย อดีตนายกเทศมนตรีเมืองมุกดาหาร นายสุพจน์ สุอริยพงษ์  พรรคก้าวไกล อดีต รองนายยก อบจ.มุกดาหาร       

สำหรับสนามการเลือกตั้งในครั้งนี้ คอการเมืองเชื่อว่า นายนนทภูมิ  ปณิธานนท์ พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนเสียงแน่นอน

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายบุญฐิน ประทุมลี พรรคเพื่อไทย ส.ส.เก่า ลงชิงชัยกับ พ.ต.ต.รัชพงษ์ คามนีย์ พรรคเสรีรวมไทย และนายณกร ชารีพันธ์ หรือเภสัชหนึ่ง พรรคก้าวไกล   

เชื่อว่า เขต 2 พรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้แน่นอน

ยโสธร 3 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นางสุภาพร สลับศรี อดีตประธานสภา อบจ.ยโสธร ภรรยานายผดุงเกียรติ สลับศรี หรืออดีต สจ.เดี่ยว และยังเป็นอดีตที่ปรึกษานายกอบจ.ยโสธร สังกัดพรรคไทยสร้างไทย ถือว่า มีคู่แข่งคือนายปิยวัฒน พันธ์สายเชื้อ พรรคเพื่อไทย ที่น่าจะมีการแข่งขันแบบคะแนนสูสีกัน สำหรับเขตที่ คอการเมืองให้คะแนนนางสุภาพร พรรคไทยสร้างไทยมากกว่าเพื่อไทย

เขตนี้ยกแรก นางสุภาพรจากพรรคไทยสร้างไทยนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายบุญแก้ว สมวงศ์ พรรคเพื่อไทยที่จะได้คะแนนทิ้งห่างได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ส.แน่นอน เขตนี้ นายบุญแก้ว เพื่อไทยแบเบอร์

เขตเลือกตั้งที่ 3 ดร.ธนกร ไชยกุล พรรคเพื่อไทย ลงสนามสู้กับนายสฤษดิ์ ประดับศรี อดีตนายก อบจ.ยโสธร และอดีต ส.ส.ยโสธร เปิดตัวลงสู้ศึกสนามเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ เขต 3 คะแนนสูสี ยังไม่ให้ใครได้คะแนนเกินกัน เขตนี้แม้คอการเมืองจะเชื่อว่านายสฤษดิ์ พลังประชารัฐมาแรง เพราะยึดโยงอยู่กับพื้นที่ตลอด แต่กระแสพรรคเพื่อไทยที่กำลังแรง ทำให้ดร.ธนกร จากเพื่อไทยได้เปรียบเล็กน้อย

ยกแรกดร.ธนกร เพื่อไทยนำไม่ห่าง 

ร้อยเอ็ด 8 เขตเลือกตั้ง 

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายอนุรักษ์ พรรคชาติไทยพัฒนา ครองที่นั่งเขต 1 ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ส่งนายสถาพร ว่องสัธนพงษ์ ผู้สมัครหน้าใหม่ ลูกนายสานิต คู่ปรับเก่าเคยแย่งตำแหน่งไปได้ 1 สมัย ยุคพรรคเสรีธรรม การเลือกตั้งครั้งนี้ คอการเมืองยังให้อนุรักษ์ ชาติไทยพัฒนา ที่เต็งหนึ่ง เพื่อไทยแตกหลายขั้ว 

เขตนี้นายอนุรักษ์ ชาติไทยพัฒนา นำโด่ง 

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายฉลาด ขามช่วง จากพรรคเพื่อไทย ลงชิงกับนายทินกร อ่อนประทุม จากพรรคก้าวไกล ผู้สมัครที่อยู่มาแล้วหลายพรรค นักกิจกรรมการเมือง และนายเอกรัฐ พลชื่อ จากพรรคพลังประชารัฐ

เขตนี้การประเมินยกแรก นายฉลาด จากเพื่อไทยยังนำเล็กน้อย 

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายนิรมิต สุจารี จากพรรคเพื่อไทย ชิงกับนางรัชนี พลซื่อ พลังประชารัฐ ภรรยาเอกภาพ สำหรับเขตนี้ นายนิรมิตคะแนนยังนำ เก้าอี ส.ส. ครั้งนี้ไม่น่าพลาด น่าจะยังดับฝันตระกูลพลซื่อที่จะหวนกลับมาทวงบัลลังก์ได้

เขตนี้ยกแรกนายนิรมิต จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายนรากร นาเมืองรักษ์ จากพรรคเพื่อไทย อดีต สจ. เพื่อลงสมัคร ส.ส. แทนพ่อที่ป่วย ชิงกับกัญจน์พร วงศ์เวไนย จากพรรคพลังประชารัฐ เขตนี้คอการเมืองยังให้เพื่อไทยลอยลำ เขตนี้นายนรากร เพื่อไทยนำขาด

เขตเลือกตั้งที่ 5 จิราพร สินธุไพร พรรคเพื่อไทย ลอยลำได้ เก้าอี้ ส.ส. แน่นอน 

เขตเลือกตั้งที่ 6 นายกิตติ สมทรัพย์ พรรคเพื่อไทย ไร้คู่แข่ง 

เขตเลือกตั้งที่ 7 นายศักคา คงเพชร พรรคเพื่อไทย ลงสนามแข่งกับนายชัชวาลย์ แพทยาไทย จากพรรคไทยสร้างไทย แต่คะแนนจากศักดาน่าจะทิ้งห่าง จากพรรคคู่แข่ง เขตนี้นายศักดา เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 8 สำหรับเขตนี้ มี 3 พรรคที่แข่งกัน คือ ชญาภา สินธุไพร พรรคเพื่อไทย ถือเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง ที่ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ต้องแลกหมัด กับเจ้าของพื้นที่อย่างเวียง วรเชษฐ์ พรรคภูมิใจไทย ส.ส.พื้นที่มาหลายสมัย ที่ครองพื้นที่นาน และจุรีพร สินธุไพร จากพรรคไทยสร้างไทย ที่ยังคงมีสิทธิ์หาเสียง

ยกแรกให้ชญาภา พรรคเพื่อไทยนำไปก่อน 

เลย 4 เขตเลือกตั้ง 

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส. 1 สมัย ถือเป็นแม่ทัพใหญ่พรรคเพื่อไทย ลงสมัครครั้งแรกคือปี 2562 ได้รับชัยชนะเข้าสู่สภาฯ มีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข พรรครวมไทยสร้างชาติ อดีต ส.ส. 11 สมัย และ อดีต รมว.ทส. อาวุโสสูงสุดของเมืองเลยอดีตถึงปัจจุบัน อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติ มาคราวนี้ขอทวงคืนเก้าอี้ในเขตที่ 1 ที่เคยครองมา 3 สมัย แต่คอการเมืองเชื่อเพื่อไทยมาแน่

เขตนี้ ยกแรก นายเลิศศักดิ์ จากเพื่อไทยมาแรงกว่า 

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายศรันย์ ทิมสุวรรณ พรรคเพื่อไทย ที่มีคู่แข่งอย่าง ดร.เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข พรรครวมไทยสร้างชาติ  ภรรยาของนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข แต่คอการเมืองยังให้ นายศรัณย์ จากพรรคเพื่อไทยแรงกว่าในช่วงต้น  

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายธนยศ ทิมสุวรรณ พรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ส. 1 สมัย เข้าชิงชัยกับ นายบรรพต ยาฟอง พรรคเพื่อไทย อดีตนายอำเภอด่านซ้าย แต่เขตนี้  คอการเมืองให้นายธนยศ จากภูมิใจไทย มีคะแนนนำในยกแรก

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายสมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนสบายๆแบบไร้คู่แข่ง 
 
สกลนคร เขตเลือกตั้ง 6 เขต

เขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอเมืองสกลนคร พรรคเพื่อไทย นายอภิชาติ ตีรสวัสดิชัย แชมป์เก่าหลายสมัยที่คอยผลักดันงบประมาณลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีคู่แข่งจาก พรรคก้าวไกล นายตวงสิทธิ์ พงษ์พิศ นักธุรกิจหนุ่ม พรรคไทยสร้างไทย นายสิรภพ สมผล หรือบ่าวนิก คนรุ่นใหม่ไฟแรง ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นสานต่อการเมืองจากพ่อแม่เป็น ส.อบจ.

คราวนี้ขอเปิดตัวสู้สนามใหญ่ หรือพรรคประชาธิปัตย์ นายณปภัช เสโนฤทธิ์ คนรุ่นใหม่พกความรู้มาแน่นอ้อนคะแนนเสียงเลือกคนประชาธิปัตย์ไปทำงาน แต่เขตนี้พรรคเพื่อไทยยังมีฐานคะแนนพรรคที่เหนียวแน่นกว่าพรรคอื่น 

การประเมินรอบแรกเขตนี้ จึงยังให้ นายอภิชาติ จากพรรคเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 พรรคเพื่อไทย นายนิยม เวชกามา หรือมหานิยม แชมป์เก่าหลายสมัยมีผลงานเชิงประจักษ์ เมื่อบวกกับกระแสพรรค และฐานเสียงส่วนตัวแล้ว จะเหนือกว่าทั้งผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยที่ส่ง นางสาวกัญญาภัค ศิลปะรายะ นักการเมืองท้องถิ่น อดีตนายก อบต.โพธิไพศาล พรรครวมไทยสร้างชาติที่ส่ง นายชาญชัย งอยผาลา อดีตนักการเมืองท้องถิ่น รอบที่แล้วลงในนามพลังประชารัฐพ่ายเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ 

เขตนี้ยกแรกคอการเมือง ยังให้นายนิยม จากเพื่อไทยนำขาด 

เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคเพื่อไทย นางสาวจิรัชยา สัพโส  ลูกสาวนายพัฒนา สัพโส อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เคลื่อนไหวการเมืองตามหลังพ่อมาแต่เด็ก พรรคประชาธิปัตย์ นายสาคร พรหมภักดี คนนี้คว่ำหวอดการเมืองมานาน เป็นถึงอดีตรองโฆษกรัฐบาล อดีต ส.ส.5 สมัย เป็นแม่ทัพนำทีมพรรคประชาธิปัตย์สู้เลือกตั้งจังหวัดสกลนคร และพรรคก้าวไกล นายภิญโญ ขันติยู คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้มาครอง 

เขตนี้ยังเป็นของนางสาวจิรัชยา จากเพื่อไทยที่นำค่อนข้างห่าง 

เขตเลือกตั้งที่ 4 พรรคเพื่อไทย นายพัฒนา สัพโส แชมป์เก่าคนนี้ก็มีผลงานดีชาวบ้านชื่นชอบพรรคเพื่อไทยส่งอีกรอบ จากเขต 3 มาลงเขต 4 มั่นใจไม่น่าพลาด พรรคประชาธิปัตย์ นายพงษ์ศักดิ์ สุทธิคีรี นักการเมืองท้องถิ่นและนักกฎหมาย พรรคก้าวไกล นายขจรศักดิ์ เบ็ญชัย นักกฎหมายอดีตนักการเมืองท้องถิ่น เขตนี้คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้มาครอง

เขตนี้นายพัฒนา จากเพื่อไทยนำห่างเช่นกัน 

เขตเลือกตั้งที่ 5 พรรคเพื่อไทย นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล ลูกสาวนางอนุรักษ์ บุญศล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 3 สมัย พรรคพลังประชารัฐ นายชัยมงคล ไชยรบ อดีตนายก อบจ.สกลนคร พรรคประชาธิปัตย์ นายวีระศักดิ์ พรหรมภักดี คนนี้เป็นนักกฎหมาย ทำธุรกิจ และเคยเป็นอดีต นายก อบจ.มาแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติ นางสาว ธัญญ์ลภัสส์ โสรินทร์ และ พรรคก้าวไกล นายบัญชา จันทศรี คาดว่าเขตนี้พรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้มาครอง

เขตนี้นางสาววงศ์อะเคื้อ จากเพื่อไทยยังอาศัยคะแนนพรรคและคะแนนพ่อ นำห่างเช่นกัน  

เขตเลือกตั้งที่ 6 พรรคเพื่อไทย นางสาวสกุณา สาระนันท์ แชมป์เก่าดีกรีสายเลือดนักการเมืองตามหลังคุณพ่อนายเสรี สาระนันท์ เข้าสภารอบที่แล้วยกระดับผ้าย้อมครามสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านยกนิ้วให้เป็นหญิงแกร่ง พรรคประชาธิปัตย์ ยุพาวรรณ จักรพิมพ์ CEO เครือข่ายสหกรณ์และวิสาหกิจ ที่ปรึกษาการเกษตรผสมผสานสกลนคร และพรรคก้าวไกล นายปิยะศักดิ์ เดชทองทิพย์ 

เขตนี้เพื่อไทยโดยนางสกุณา ไม่น่าพลาดเช่นกัน

เขตเลือกตั้งที่ 7 พรรคเพื่อไทย นายเกษม อุประ แชมป์เก่าลงสมัครเลือกตั้งในเขตนี้ยังกุมฐานเสียงไว้แน่นเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านอภิปรายผลักดันและแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ดี พรรคประชาธิปัตย์ ผศ.อภิลักษณ์ เคนไชยวงศ์ อดีตคณบดีวิทยาลัยเทคโลยีอุตสาหกรรมศรีสงคราม ม.นครพนม รอบก่อนลงนามพลังประชารัฐพ่ายเพื่อไทยคราวนี้ขอสู้อีกรอบ และพรรคก้าวไกล นายอภิชิต ถาบุตร เขตนี้คาดว่าพรรคเพื่อไทยได้เช่นเคย 

เขตเลือกตั้งที่ 7 ยังเป็นของนายเกษม จากเพื่อไทย 

สุรินทร์ 8 เขต เลือกตั้ง   

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายอนันต์ ปาลีคุปต์ ลงสมัครเขต 1 “คนรุ่นใหม่” อดีตเป็นผู้สมัคร ส.ส.”พรรคพลังประชารัฐ” มาครั้งนี้ สวมเสื้อ “พรรคเพื่อไทย”  ชิงชัยกับ นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส. “พรรคภูมิใจไทย” แต่ก็ยังมีนาย วิภูษิต มีสิทธิ์ ทนายเบิร์ด(ทนายคนยาก) ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ขวัญใจชาวบ้าน เขตนี้คาดว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้เก้าอี้มาครอง  
เขตนี้แม้จะนายปกรณ์ จากตระกูลมุ่งเจริญพร น่าจะใช้ฐานคะแนนส่วนตัว และกระสุนของพรรคชิงขึ้นนำในช่วงต้น และเข้าป้ายในที่สุดหากยืนระยะได้ถึงวันลงคะแนน

เขต 1 ปกรณ์ ภูมิใจไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายชูชัย มุ่งเจริญพร ลงสมัคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย เหมือนเดิม ที่เคยผ่ายแพ้นายนายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.เขต 2 อดีต ส.ส.“พรรคพลังประชารัฐ” ไปอยู่ใน “พรรคภูมิใจไทย” ลงสมัคร ส.ส.เขต 2 เหมือนเดิม ครั้งนี้ “ชูชัย” จะแซงโค้ง “ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์” ได้หรือไม่ เพราะจะเรียกวันว่าเป็นศึก “ช้างชนช้าง”

แต่ในช่วงต้นคอการเมือง ยังให้นายณัฏฐพล จากภูมิใจไทย นำนายชูชัย จากเพื่อไทย แบบไม่ห่างมาก

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ผ่านมา ลงเขต 3 พรรค “เพื่อไทย” ชิงชัยกับ น.ส.ผกามาศ เจริญพันธ์ “คนรุ่นใหม่” ลงสมัครในนาม พรรค “ภูมิใจไทย” ดีกรีไม่ธรรมดา แถมยังเป็นลูกสาวคนเล็กของ อดีต สว. และ อดีต สส.ด้วย เขตนี้น่าจับตามอง แต่เชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้เก้าอี้มาครอง 

ยกแรกนางสาวผกามาศจากภูมิใจไทย นำเล็กน้อย 

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายพรเทพ พูนศรีธนากูล น้องชาย “ ส.ส.ตี๋ใหญ่” ลง เขต 4 เพื่อไทย เป็น สจ.เขตอำเภอรัตนบุรี ลงสมัครแทน “ส.ส.ตี๋ใหญ่” (พี่ชาย)ที่เสียชีวิตลงกระทันหันในเขต จังหวัดนครราชสีมา จะพบกับ นายปุณยวัฒน์ สนใจ (สจ.เบิ้ม) อตีต ส.จ .เขตอำเภอชุมพลบุรี พรรค “รวมไทยสร้างชาติ” และยังมี นางชมณี บุตรวงศ์ “ แม่ใหญ่จิ๋ว” นักธุรกิจ และอาสาสมัคร ลงสมัครในนามพรรค “ภูมิใจไทย” 

เขตนี้เชื่อว่า ฐานคะแนนของส.ส.ตี๋ใหญ่ที่ทำไว้ เมื่อบวกกระแสพรรค ก็น่าจะทำให้ นายพรเทพจากเพื่อไทยมาแรงเหนือผู้สมัครคนอื่น ๆ เขตนี้ยกแรก นายพรเทพ เพื่อไทยนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม พรรคเพื่อไทย ลงเขต 5 เหมือนเดิม คราวนี้ แม้จะต้องแข่งกับอดีต ส.ส.ดร.ฟาริดา สุไลมาน ที่ว่างเว้นจากการเมืองมาเป็นเวลานาน แต่ก็ยังทำการบ้านเสมอมา โดยคราวนี้ดร.ฟาริดา ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.เขต 5 ในนามพรรค “ไทยสร้างไทย” (ทสท.) เขตนี้ก็ไม่เบา แต่ก็คาดว่าเขตนี้พรรคเพื่อไทยจะชนะ

เขตนี้ประเมินรอบแรก ครูมานิตย์ จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 6 นายอนุชา วัชรศีขร นายกเทศมนตรีเทศบาลศีขรภูมิ พรรค “เพื่อไทย” ลงชิงชัยกับ นายธีรทัศน์ เตียวเจริญโสภา อดีต ส.ส.และสมาชิกลงสมัคร “พลังประชารัฐ” คราวนี้ “ธีรทัศน์” มาลงสมัครในนามพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ลงวัดพลังกับ “อนุชา” พรรค “เพื่อไทย” และยังมี นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ อดีตนายก อบต.ดม ลงสมัครพรรค “ภูมิใจไทย” เขตนี้คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะ 

เขตนี้เพื่อไทยโดยนายอนุชา ยังมาแรง 

เขตเลือกตั้งที่ 7 นายชูศักดิ์ แอกทอง พรรค “เพื่อไทย” ที่ผ่านมา “ชูศักดิ์” ลงเขต 7 เหมือนเดิม มีผู้ท้าชิง ที่ชื่อ นาย เรืองวิทย์ คูณวัฒนาพงษ์ นักธุรกิจ และจิตอาสา ลงสมัครในนามพรรค “ภูมิใจไทย” มาอาสาท้าชิงกับ “ชูศักดิ์” เจ้าของพื้นที่ “เพื่อไทย” เจ้าของพื้นที่ เขตนี้คาดว่าเพื่อไทยจะชนะเช่นเคย 

เขตเลือกตั้งที่คอการเมืองยังให้ นายชูศักดิ์ จากเพื่อไทยเหนือกว่านายเรืองวิทย์จากภูมิใจไทย 

เขตเลือกตั้งที่ 8 นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมาลงสมัครเขต 6 ครั้งนี้ มีการขยายเขตเลือกตั้ง จึงลงสมัคร เขต 8 แชมป์เก่า อดีต ส.ส. ที่มี น.ส.ณชณฆ์ ตรงใจ ผู้ส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ และข้าวนาถุง และยังออกไปให้ความรู้กับนักเรียนตามโรงเรียนในการปลูกข้าวอินทรีย์ ที่อาสามาชิงชัยกับ “สมบัติ” ในนามพรรค “พลังประชารัฐ” และยังมี นางปทิดา ตันติรัตนานนท์ อดีต ส.อบจ.เขต สุรินทร์ อำเภอกาบเชิงชายแดนไทย-กัมพูชา ลงสมัครในนามพรรค “ภูมิใจไทย” พรรคเพื่อไทยจะมาวิน

เขตนี้นายสมบัติ จากเพื่อไทยยังมาแรง และน่าจะนำจนเข้าป้ายวันที่ 14 พฤษภาคม 

ศรีสะเกษ มี 9 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 ผู้ที่เป็นผู้แทนตอนนี้ คือ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ พรรคภูมิใจไทย เจอกับคู่แข่งตลอดกาล คือ นายธเนศ เครือรัตน์ พรรคเพื่อไทย คาดผู้ที่จะเข้าป้าย คือ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เขตนี้ยกแรกนายสิริพงศ์ จากภูมิใจยังนำห่างๆ

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ จากพรรคเพื่อไทย ผู้ที่กำลังจะลงแข่ง คือ นายประมวล สีแสง จากพรรคไทยสร้างไทย แต่คาดว่า นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ จากพรรคเพื่อไทย น่าจะชนะไม่ยาก เขตนี้ เพื่อไทยโดยนายสุรชาตินำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายวิรัฒน์ชัย โหตระไวศยะ จากพรรคเพื่อไทย ครองตำแหน่งมาตลอด คราวนี้ก็น่าจะได้ เขตนี้เพื่อไทยไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 4 คราวนี้จะมี นายธีรวัฒน์ คำศรี จากพรรคประชาธิปัตย์มาลงชิงชัย โดยพรรคเพื่อไทยส่งนายแพทย์ภูมินทร์  ลีธีระประเสริฐ อดีตส.ส.ลงมาแข่ง พรรคภมิใจไทยส่งนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ เขตนี้แม้นายธีระวัฒน์ จากพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับการคาดหมายว่า จะชนะคู่แข่งจากทั้ง 2 พรรคได้ แต่กระแสเพื่อไทยที่แรงมากในชณะนี้บวกกับฐานคะแนนของหมอภูมินทร์ ในศรีษเกษที่เหนียวแน่น ทำให้หมอภูมินทร์น่าจะออกนำไปก่อนแบบสบาย ๆ

เขตนี้ หมอภูมินทร์ จากเพื่อไทยนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายธีระ ไตรสรณกุล พรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าของพื้นที่นาน แต่คราวนี้ เปลี่ยนลงพรรคภูมิใจไทย นายอมรเทพ สมหมาย จึงขอประกาศตัวลงชิงเก้าอี้ในนามพรรคเพื่อไทยแทน  งานนี้ก็ได้สู้กัน และแม้ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ที่คุมทีมพรรคภูมิใจไทย พี่ชายของนายธีระ น่าจะไม่ปล่อยให้น้องชายร่วงเป็นแน่ แต่ก็เชื่อว่า ยังสู้กระแสเพื่อไทยในยามนี้ ไม่ได้ ยกแรกนายอมรเทพจากพรรคเพื่อไทยจึงยังนำเล็กน้อย 

เขตเลือกตั้งที่ 6 นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ พรรคเพื่อไทย ที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนพรรค ครองตำแหน่งอยู่ ประกาศลง ก็น่าจะผ่านสบาย ๆ เขตนี้นายวีระพลไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 7 เขตนี้เป็นเขตใหม่ คาดว่า นางสาววิลดา อินฉัตร ลูกสาวของคุณแม่ สุนีย์ อินฉัตร อดีต สว.ลงในนามพรรคเพื่อไทย สู้กับ นายวุฒิเดช ทองพลู จากพรรคภูมิใจไทย น่าจะได้ชิงเก้าอี้กันหน่อย แต่คาดว่า นางสาววิลดา อินฉัตร   น่าจะได้ยกแรกนางสาววิลดา จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 8 นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ พรรคภูมิใจไทย ครองตำแหน่งมา 8 ปี งานนี้มี นายประวิทย์ จารุรัชกุล พรรคเพื่อไทยที่ประกาศตัวจะลงสู้ งานนี้น่าจะชนะกันแบบคะแนนหลักพัน ซึ่งตัวบุคคลแม้คอการเมืองจะให้นายอาสพลธ์ จากภูมิใจไทยเหนือกว่า  แต่นายประวิทย์มีโอกาสที่จะล้มแชมป์ได้ จากกระแสพรรค และกระแสอุ๊งอิ๊งที่แรงมากๆในขณะนี้ 

รอบแรกประเมินแล้วนายประวิทย์ เพื่อไทยออกนำไปก่อน 

เขตเลือกตั้งที่ 9 นางผ่องศรี แซ่จึง พรรคเพื่อไทย เป็นผู้แทน แต่คราวนี้จะเปลี่ยนให้สามี คือ นายปวีณ แซ่จึง ลงในนามของพรรคภูมิใจไทย สู้กับพรรคเพื่อไทย ที่เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครคนใหม่ นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร แต่น่าจะสู้ไม่ได้   เขตนี้ประเมินรอบแรก นายปวีณ ภูมิใจไทยนำ

หนองคาย 3 เขตเลือกตั้ง  

เขตเลือกตั้งที่ 1 ทางพรรคเพื่อไทย ส่ง นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ซึ่งอดีตเป็น ส.ส.สมัย ทางพรรคพลังประชารัฐ ส่งนายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ อดีต รองนายก.อบจ.หนองคาย และเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐ  พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายเสถียร ผาณิบุศย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย เขตนี้คาดว่าเพื่อไทยจะได้เก้าอี้มาครอง 

ยกแรกนายกฤษฏา เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 พรรคเพื่อไทย ส่ง นางสาวชนก จันทาทอง ซึ่งเป็นลูกนักการเมืองโดยสายเลือด มีพ่อและแม่เป็น อดีต ส.ส.หลายสมัย พรรคภูมิใจไทย ส่ง ทันตแพทย์(หญิง)จิดาภา สุนทรธนากุล ซึ่งเป็นภรรยา ของนายแพทย์สรร สุนทรธนากุล นายกเทศบาลตำบลโพนพิสัย ที่

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งนางสาวปภาสิริ ศรีตะบุตร อดีต สจ.หนองคาย หลายสมัย พรรคไทยสร้างไทย ส่งนางสาวทศพร จันทร์ศรี นักธุรกิจ ลงการเมืองครั้งแรกหน้าใหม่ เขตนี้คาดว่าเพื่อไทยจะได้เก้าอี้มาครองเช่นเคยเขตนี้เป็นพื้นที่ของเพื่อไทยมาโดยตลอด

ยกแรก นางสาวชนกจากเพื่อไทยจึงยังนำห่าง 

เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคเพื่อไทย ส่ง นายเอกธนัช อินทร์รอด อดีต ส.ส.หลายสมัย และเป็นอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงชิงชัย ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายศักดิ์ดา จันทรสุวรรณ ซึ่งเป็นนักธุรกิจ พรรคภูมิใจไทย ก็ไม่น้อยหน้า ส่ง นายกฤษภณ หล้าวงศา อดีตเคยสมัครชิงเก้าอี้ นายก อบจ.หนองคาย โดยเขตนี้คาดว่าเพื่อไทยจะได้เก้าอี้มาครองเช่นเคย

เขตนี้นายเอกธนัช เพื่อไทยนำห่าง

หนองบัวลำภู 3 เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคเพื่อไทย ส่งนายสยาม หัตถสงเคราะห์ อดีต ส.ส.ปี 62 แชมป์เก่าตลอดกาล ผู้สมัครที่ครองพื้นที่เลือกตั้งในพื้นที่เขต 1 มาอย่างต่อเนื่องยาวนานยังไม่มีใครที่จะมาชิงเก้าอี้ได้ คาดว่าการเลือกตั้งปี 66 ไม่พลาดเก้าอี้

เขต 1 นายสยามเพื่อไทยไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 2 สนามชนช้าง ส.ส.เก่า 6 สมัย เจ้าของพื้นที่เพื่อไทยกับคู่ชิงหน้าเก่า หน้าใหม่ ผนวกกับฐานการเมืองท้องถิ่น บ้านใหญ่ของ อบจ.ส่งคนมาลุยสนามใหญ่  นายไชยา พรหมา อดีต ส.ส.ปี 62  พรรคเพื่อไทย  ถือว่าเป็น ส.ส.ผูกขาดมานาน ตั้งแต่ปี 2535 ตั้งแต่จังหวัดหนองบัวลำภูยังขึ้นอยู่กับจังหวัดอุดรธานี การเลือกตั้งครั้งนี้ฟันธงว่าได้เก้าอี้ ส.ส. ต่อแน่นอน 

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายณพล เชยคำแหง หรือเสก อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม เจ้าของโรงโม่หินในพื้นที่อำเภอนาวัง  พรรคเพื่อไทย ลงสู้ศึกกับ นายณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี พรรคไทยสร้างไทย จากอดีตพรรคเพื่อไทย ที่จบลงมาสวย หลังจากที่มีความไม่ชัดเจนในการที่จะส่งผู้สมัครประกาศจึงปลดป้ายย้ายพรรค คอการเมืองฟันธงอย่างไงเพื่อไทยได้เก้าอี้

เขต 3 นายณพล จากเพื่อไทย ไม่มีคู่แข่งเช่นกัน

อุดรธานี 10 เขตเลือกตั้ง

เจาะสนามเลือกตั้ง จ.อุดรธานี เพิ่มเป็น 10 เขต เพื่อไทยหวังแลนสไลด์ยกจังหวัด แต่คราวนี้ไม่แน่ หลายพรรคการเมืองหวังปักธง ทั้งพรรคไทยสร้างไทย ก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชารัฐ คอเลือกตั้งจับตาอย่างใกล้ชิด แต่ละพรรคมีสิทธิ์ได้ลุ้นกันได้ทั้งนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้

จ.อุดรธานี ถือเป็นสนามการเลือกตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย มาคราวนี้พื้นที่การเลือกตั้งแบ่งเป็น 10 เขตจากเดิมที่มี 8 เขต พรรคเพื่อไทยก็หวังแลนสไลด์ได้ ส.ส.ยกจังหวัดเหมือนเดิม 

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายศราวุธ เพชรพนมพร อดีตส.ส.หลายสมัย แข่งกับ นายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ เจ้าของตลาดเมืองทองเจริญศรี  ลงในนามพรรคพลังประรัฐ ได้กลุ่มนครหมากแข้งเก่ามาสนับสนุน นอกจากนั้นเขตนี้ยังมีคู่ปรับเก่าของนายศราวุธ ในการเลือกตั้งครั้งก่อน คือ เคน ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ จากพรรคก้าวไกล เคน

นอกจากจะเป็นเจ้าของร้านขายเครื่องมือก่อสร้างในตัวเมืองอุดรฯแล้ว ฐานคะแนนของก้าวไกลในเขตเลือกตั้งที่ 1 ของอุดรฯยังค่อนข้างเหนียวแน่นพอๆกับขอนแก่น  เลือกตั้งปี 2562 เคน ณัฐพงษ์ ที่สังกัดพรรคอนาคตใหม่ ลงสนามพ่าย ศราวุธ แค่ 4 พันคะแนนเท่านั้น 

การเลือกตั้งรอบนี้ ศราวุธ ยังต้องออกแรงเหนื่อยอีกครั้ง เพราะจะต้องสู้ศึกทั้ง 2 ด้าน จากตระกูลทีฆธนานนท์ พลังประชารัฐ และเคน จากก้าวไกล แต่ในยกแรก

เขต 1 ยังให้เพื่อไทยโดยนายศราวุธ นำไปก่อนในฐานะแชมป์เก่า และกระแสพรรคที่มาแรง 

เขตเลือกตั้งที่ 2 นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร อดีตรองนายทน.อุดรฯ ลาออกมาลงสนามใหญ่ สู้กับนายภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น  จากพรรคไทยสร้างไทย ลงสนาม ส.ส.ครั้งแรกเหมือนกัน แต่ยังเชื่อว่าเก้าอี้ยังเป็นพรรคเพื่อไทย เพราะกระแสดี เขตนี้เพื่อไทยครองพื้นที่มาโดยตลอด

แต่เขตนี้ ที่น่าจับตามองมากๆกลับเป็น ภูษณิศา มหาวรากร จากพรรคก้าวไกล อาจารย์สาวจาก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชธานี  เพราะเขตนี้ยังยึดโยงกับเขตอำเภอเมือง ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ขอพรรคก้าวไกล ทำให้ภูษณิศา มีโอกาสล้มยักษ์ในเขตนี้

เขต 2 ภูษณิศา ก้าวไกล นำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 นายอนันต์ ศรีพันธุ์ แชมป์เก่าพรรคเพื่อไทย คราวนี้ต้องสู้กับนายหรั่ง ธุระพล ที่มาสวมเสื้อพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงหน่อย เป็นเขตที่สูสี แต่เชื่อว่าสู้พรรคเพื่อไทยไม่ได้

เขต 3 นายอนันต์ เพื่อไทยนำห่าง 

เขตเลือกตั้งที่ 4 นายแพทย์ภาณุ พรวัฒนา จากเพื่อไทย ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ต้องสู้ศึกหนักกับนายโชคเสมอ คำมุงคุณ ที่สวมเสื้อพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รวมทั้งนายวีระพล รักเสมอวงศ์ แอ้ดมินเพจบ้านดุงอัพเดต ขวัญใจชาวบ้านขออาสาลงสู้ศึกในนามพรรคเสรีรวมไทย ของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

เขตนี้ยังเชื่อว่าเพื่อไทยจะรักษาเก้าอี้ไว้ได้เหมือนเดิม 

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายกรวีร์ สาราคำ ลูกชายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา อดีต สจ.อุดรธานี คราวนี้มาลงแข่งแทนแม่ คือนางอาภรณ์ สาราคำ โดยแข่งกับ พ.ท.ศรีสวัสดิ์ ดวงพรม พรรคก้าวไกล เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้มาครอง เนื่องจากมีฐานเสียงเดิมของพ่อแม่ที่เคยสร้างไว้

เขตเลือกตั้งที่ 6 นางจุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์ อดีตส.ส.สมัยที่ผ่านมา ครั้งนี้ลงมารักษาแชมป์ แข่งกับพรรคก้าวไกล แต่อย่างไรก็ตามน่าจะเป็นเพื่อไทยเหมือนเดิม เพราะกระแสชาวบ้านยังนิยมเพื่อไทย

เขตเลือกตั้งที่ 7 นายธีระชัย แสนแก้ว หรืออี้โต้อีสาน เพื่อไทย ลงแทน นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ที่ย้ายจากเพื่อไทยไปอยู่กับภูมิใจไทย สู้กันในเขตนี้น่าจะดุเด็ดเผ็ดมัน แต่ด้วยกระแสของพรรคเชื่อว่าเพื่อไทยจะได้ โดยเขต 7 นายธีระชัย เพื่อไทยนำแบบไม่ห่างมากนัก
เขตเลือกตั้งที่ 8 นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม อดีต ส.ส.หลายสมัย พรรคเพื่อไทย แข่งกับผู้สมัครพรรคก้าวไกล โดยครั้งที่แล้วก้าวไกลได้คะแนนมาเป็นอันดับสอง ครั้งนี้น่าจะพ่ายเพื่อไทยเหมือนเดิม 

เขตเลือกตั้งที่ 9 นางเทียบจุฑา ขาวขำ อดีตส.ส.หลายสมัย เขตนี้น่าจะลอยลำ แม้คู่แข่งเป็นก้าวไกล อย่างไรก็สู้ไม่ได้  ไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 10 นายวัชรพล ขาวขำ ลูกชาย นายวิเชียร์ ขาวขำ นายกอบจ.อุดรธานี  ลงสมัครครั้งแรกในสนามการเมืองใหญ่ แข่งกับพรรคก้าวไกล เชื่อว่าเขตนี้พรรคเพื่อไทยก็ได้เหมือนเดิม แม้จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แต่เป็นทายาทนักการเมือง ได้แน่นอน

อุบลราชธานี 11 ที่นั่ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ เพื่อไทย ลูกนายเกรียง กัลป์ตินันท์ เป็น ส.ส.มาหลายสมัย เอาชนะนายอดุลย์ นิลเปรม จากพลังประชารัฐ ที่สู้กันมาหลายสมัย แบบฉิวเฉียดแบบหลักร้อย ครั้งนี้ วรสิทธิ์ ยังอยู่ที่เดิม ส่วนอดุลย์ มาลงไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งมีโอกาสได้ลุ้น เพราะได้คนเสื้อแดงที่ชอบคุณหญิงหน่อยมาหนุนเช่นกัน

เขต 1 ยกแรกนายวรสิทธิ์ จากเพื่อไทยนำนายอดุลย์ จากไทยสร้างไทย ไม่ห่างมาก แบบพอมีลุ้น

เขตเลือกตั้งที่ 2 นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ประชาธิปัตย์ แชมป์ตลอดกาล หลานวิฑูรย์ นามบุตร อดีตรอง หน.พรรคประชาธิปัตย์  เดิมมีกระแสข่าวจะย้ายเปลี่ยนสังกัดจากพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่หลายค่าย ตามน้าชาย วิฑูรย์ นามบุตร แต่ทั้งน้าทั้งหลานเปลี่ยนใจกลับมาอยู่บ้านเก่า ที่เป็น ส.ส.มากว่า 30 ปี ยังต้องสู้กับนายณรงค์ชัย วีระกุล เพื่อไทย ที่หายใจรดต้นคอมา 2 สมัย แต่ก็คงฝ่าด่านแลนด์สไลด์ไปได้เหมือนเดิม  

เขต 2 นายวุฒิพงษ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ยังน่าจะนำห่างๆ

เขตเลือกตั้งที่ 3 เดิมเป็นถิ่น ปชป.ที่มี ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ระดับคีย์แมนพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาคืนสังเวียน เจอศึกหนักกับ ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ เพื่อไทย ที่ยกเขตเลือกตั้งเดิมให้บุตรสาวน้องกรานต์ สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ลงสนามเป็นครั้งแรก ส่วนเจ้าตัวย้ายเขตมาสู้ที่นี่ เพราะมั่นใจกระแสของพรรค แต่ไม่ง่าย เพราะเจ้าถิ่นเดิมทั้ง ศุภชัย ศรีหล้า และ สมบัติ รัตโน ของพรรคภูมิใจไทย ไม่ยอมให้ผ่านด่านไปได้แน่

แต่ครั้งนี้อาศัยกระแสพรรคที่มาแรง ทำให้เสี่ยกุ่ย ชูวิทย์จากเพื่อไทยมีโอกาสเอาชนะดร.ศุภชัยจากภูมิใจไทยได้ เขตนี้ชูวิทย์  เพื่อไทยยังนำในยกแรก

เขตเลือกตั้งที่ 4 เป็นทีของ “โยธากาญจน์ ฟองงาม” ลูกปอ ลูกพ่อสุพล ฟองงาม จากพรรคภูมิใจไทย หวังมาทวงแชมป์เก่ากลับคืน แต่ก็เจอด่านหินของ ส.ส.เปิ้ล กิตติ์ธัญญา วาจาดี ของเพื่อไทย ซึ่งครั้งที่แล้ว ทำคะแนนได้จากคนเสื้อแดงที่เป็นฐานเดิมของนายสุพล เอาชนะไปได้กว่า 20,000 คะแนน แต่ ส.ส.เปิ้ล ก็ถูกลูกพี่ลูกน้อง น.ส.ใจยา วาจาดี จากพรรคชาติไทยพัฒนา มาแชร์เอาคะแนนไปอีก คงต้องเหนื่อยทั้งลูกปอ และน้าเปิ้ล จะแลนด์สไลด์ได้อีกเขตหรือไม่ ต้องถาม “เกรียง กัลป์ตินันท์”

เขตนี้ส.ส.เปิ้ล กิตติ์ธัญญา จากเพื่อไทยยังนำในช่วงต้น 

เขตเลือกตั้งที่ 5 “รัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์” เพื่อไทยเจอกับ “สุทธิชัย จรูญเนตร” ภูมิใจไทย ครั้งที่แล้ว สุทธิชัย แพ้กว่าหมื่นคะแนน ครั้งนี้ ได้ผลงานดีเข้าตาของพรรคมาใช้หาเสียง ก็น่าจะพอมีคะแนนสูสีกับคู่แข่งได้บ้าง อย่างไรก็ตาม รัฐกิตติ์ จากเพื่อไทยก็ยังนำเห็นชัดในช่วงต้นเกม

เขตเลือกตั้งที่ 6 ศึกสายเลือด ทั้งคนหน้าใหม่ หน้าเก่า จากพรรคเพื่อไทย น.ส.ธัญธารีย์ สันตพันธุ์ เจอกับญาติฝั่งแม่นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ พรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ส.ครั้งที่แล้ว และเป็นพี่ชายนายสิทธิชัย ซึ่งครั้งนี้ ส่งเซฟกระทะเหล็ก บุญธรรม ภาคโพธิ์ ลงไทยสร้างไทย คงสู้กันดุเดือด ผลที่ออกน่าจะเป็นคนหน้าใหม่ที่ได้เป็นผู้แทนเขตนี้

เขตนี้ ยกแรก นางสาวธัญธารีย์ จากเพื่อไทยยังได้เปรียบผู้สมัครอีกจากทั้งสองพรรค

เขตเลือกตั้งที่ 7 คู่แข่งเบอร์ติดกัน ทั้งเบอร์ 10 และ 11 คือ เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ภูมิใจไทย ที่พ่ายให้ผู้พ่อ ชูวิทย์ (กุ่ย) ไป 3 พันกว่าคะแนน คราวนี้ เจอกับคนลูก สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ เพื่อไทย ที่พ่อยกเขตนี้ให้ งานนี้ถึงเชิดศักดิ์ จะอาศัยความเก๋าได้เปรียบ นางสาวสุดารัตน์ แต่กระแสพรรค และกระแสพ่อ บวกกระแสอุ๊งอิ๊ง และความเป็นคนรุ่นใหม่ของนางสาวสุดารัตน์ น่าจะทำให้ลูกสาวเฮียกุ่ย นางสาวสุดารัตน์ รักษาพื้นที่เขตนี้ให้พ่อไม่เสียหน้าได้

เขตนี้ นางสาวสุดารัตน์ จากเพื่อไทย ชิงขึ้นนำไปก่อนในช่วงแรก  

เขตเลือกตั้งที่ 8 นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย ของภูมิใจไทย ครั้งที่แล้วถูก เอกพล ญาวงค์ เพื่อไทย ไล่ตามจนเกือบจะทัน ทิ้งห่างกันแค่พันกว่าคะแนน ทำให้สมัยนี้ น้องแนน ลูกพ่ออิสสระ สมชัย ตัดสินใจทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ มาอยู่ภูมิใจไทย เพราะความช่วยเหลือดีกว่า ผลงานของพรรคภูมิใจไทย ก็เข้าตาชาวบ้าน  ผิดจากประชาธิปัตย์ที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่ความช่วยเหลือกระท่อนกระแท่น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ออกจากประชาธิปัตย์ เพื่อทำคะแนนทิ้งห่างคู่แข่ง เอกพล ญาวงค์ 

ยกแรกเขต 8 นางสาวบุณย์ธิดา จากภูมิใจไทยน่าจะยังนำห่าง 

เขตเลือกตั้งที่ 9 เป็นนัดล้างตาระหว่างนายประภูมิศักดิ์ จินตะเวช เพื่อไทย ลูก นายปัญญา จินตะเวช อดีต ส.ส.ผู้ล่วงลับ ยังมีภาษีดีกว่า นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ อดีต สจ.หลายสมัยที่ลงแทนสุชาติ ผู้เป็นสามี ภรรยานายสุชาติ ตันติวณิชชานนท์ ส.ส.หลายสมัย พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงหน่อย ต้องแชร์คะแนนกับ สุพจน์ วรรณสุข ประชาธิปัตย์ ส่วนประภูศักดิ์ ได้กระแสพรรคช่วย แต่อย่าชะล่าใจ เพราะรำพูล ครั้งที่แล้วแพ้ไปหมื่นกว่าคะแนน ก็ซุ่มเก็บเกี่ยวคะแนนสะสมตลอด 

เขตนี้ ประภูมิศักดิ จากเพื่อไทยยังนำค่อนข้างห่าง 

เขตเลือกตั้งที่ 10 สมคิด เชื้อคง เพื่อไทย ครั้งนี้ ไม่เจอคนตามไล่บี้เหมือนครั้งที่แล้ว แต่เจอคู่ปรับเก่าแก่อย่าง ศักดิ์ชัย จินตะเวช ภูมิใจไทย ทำให้น่าหนักใจกว่าเดิม เพราะเป็นคู่ต่อสู้ที่สมศักดิ์ศรี สมคิดนั้น ได้กระแสพรรคและกระแสหน้าสื่อ เพราะออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บ่อย มีภาษีดีกว่าแน่นอน เขตนี้ สมคิดจากเพื่อไทยยังเก๋ากว่า น่าจะชิงนำห่างออกไปก่อน 

เขตเลือกตั้งที่ 11 เป็นการสู้กับคู่ปรับเก่า เอกชัย ทรงอำนาจเจริญ เพื่อไทย กับ ตวงทิพย์ จินตะเวช ลูกพ่อตุ่น จินตะเวช ของภูมิใจไทย  หนนี้ ตวงทิพย์ ต้องเจอกับ สุริยา ขันอาสา จากไทยสร้างไทย ตามมาตัดคะแนน ยังหายใจไม่โล่งอก ส่วนเอกชัย ได้ทั้งกระแสพรรค และการเกาะติดพื้นที่มีภาษีดีกว่า แต่ก็ถูกตวงทิพย์ ภูมิใจไทย ที่มีผลงานพรรคมาเสนอกับชาวบ้าน ผสมกับกระแสลูกพ่อตุ่น ที่อยู่กับพื้นที่มาอย่างยาวนาน แต่ยกแรกเอกชัยจากเพื่อไทยน่าจะนำไปก่อน 

อำนาจเจริญ เลือกตั้ง 2 เขต  

เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคเพื่อไทยได้ส่งนางสมหญิง บัวบุตร แชมป์เก่า ที่แม้จะถูก ปปช.ชี้มูลความผิดกรณีสนามฟุตซอล แต่ต้องลงสนามรอบนี้ เนื่องจากมีคู่แข่ง คือ นางสุขสมรวย วันทนียกุล จากพรรคภูมิใจไทย  ที่ดีกรีไม่ธรรมดา เขตนี้ สมหญิง แม้จะลงสนามมาอีกครั้ง แต่ความแรงยังสู่ สุขสมรวย จากภูมิใจไทยไม่ได้ โดยเฉพาะจากชนักที่ปักหลังในคดีสนามฟุตซอล

เขตนี้ สุขสมรวย จากภูมิไจไทย จึงเหนือกว่า ขึ้นนำในยกแรก

เขตเลือกตั้งที่ 2 ม้ามืดแชมป์เก่าอย่าง นายดนัย มะหิพันธ์ จากเพื่อไทย ต้องขับเคี่ยวกับ ญาณีนารถ เข็มนาค จากพรรคภูมิใจไทย และนางจันทร์เพ็ญ ประเสริฐศรี จากพรรคพลังประชารัฐ ที่การเลือกตั้งครั้งก่อน คะแนนทั้ง 3 พรรค สูสีลุ้นกันจนโค้งสุดท้ายก่อนที่พรรคเพื่อไทยชนะไปได้ในที่สุด

เขตนี้ นายดนัยจากเพื่อไทย ก็น่าจะออกนำไปก่อน