จากกรณีที่ ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) รับคำร้องคดี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล (กก.) เสนอร่างกฎหมายแก้ไข ยกเลิก มาตรา 112 ล้มล้างการปกครองหรือไม่ พร้อมให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
ตลอดจนกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น และมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วยนั้น
ทั้ง 2 กรณีมีความเห็นหลากหลายจากสังคมว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะพรรคก้าวไกล และส.ส.พรรคก้าวไกลหรือไม่ หาก นายพิธา ถูกศาลวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายพิธา รู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อ แต่ไปเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าพรรค เท่ากับไปรับรองทั้งที่ตัวเองไม่มีคุณสมบัติ ซึ่งจะส่งผลให้การลงสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นโมฆะไปด้วย
ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนมุมมองกับ "ฐานเศรษฐกิจ" กรณีคดีหุ้นไอทีวีของนายพิธา ว่า โดยส่วนตัวคิดว่าไม่มีผลทำให้ส.ส.ก้าวไกล ต้องพ้นสมาชิกภาพส.ส.และกกต.ต้องเลือกตั้งซ่อม แต่อย่างใด
เพราะเคยมีกรณีเทียบเคียงมาแล้วในสำนักงาน กกต. เคยมีคดีหัวหน้าพรรคเป็นบุคคลล้มละลาย ปกปิดไว้ไม่บอกลูกพรรค ต่อมามีคนร้อง กกต.ให้หัวหน้าพรรคคนนั้นพ้นจากตำแหน่ง อ้างเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส.
ต่อมา กกต.วินิจฉัยว่า การใดก็ตามที่ทำไปก่อนหน้าให้เป็นไปตามนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัว คล้าย กับส.ส.ถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง อาทิ กรณี นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ที่พ้นตำแหน่ง ส.ส. เพราะขาดคุณสมบัติส.ส. อะไรที่ทำก่อนหน้านั้นถือว่าชอบด้วยกฎหมาย เว้นสิทธิประโยชน์ที่ต้องถูกเรียกคืนเท่านั้น ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นหัวหน้าแล้วไปรับรองลูกพรรค ทำให้ลูกพรรคต้องโมฆะทุกคน กฎหมายไม่ได้ออกให้แย่ขนาดนั้น
ดร.สติธร มองอนาคตพรรคก้าวไกล หลังจากนี้ว่า ไม่น่าซ้ำรอยพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบพรรค เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในกรณีข้อกล่าวหา พรรคก้าวไกล ความผิดไม่ชัดเจน มีข้อถกเถียง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ถ้าไปยุบพรรคก็จะกลับไปเหมือนที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ยุบไปก็ไม่มีผลอะไร แค่เปลี่ยนชื่อพรรคให้เท่านั้น ขณะที่กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ยังมีบทบาทในการเมือง ยังเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้ ส่วนพรรคก้าวไกล ที่ใหม่มีคนมาทำหน้าที่แทนเหมือนเดิม ยิ่งกว่านั้นยังกระตุ้นให้สังคมเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ยิ่งยุบพรรค ยิ่งโต คนจึงเลือกพรรคก้าวไกลจนเสียงมาอันดับหนึ่ง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
สำหรับการโหวตผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ดร.สติธร เชื่อว่า นายพิธา มีโอกาสโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี อีกเป็นรอบที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม โดยชี้ว่า กระบวนการที่ถูกยกมาเป็นข้ออ้างไม่โหวต นายพิธา น้ำหนักยังน้อย พร้อมยกกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในขณะนั้น วันที่โหวตนายกรัฐมนตรี แข่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกตัดสิทธิการเป็น ส.ส.ไปแล้ว ยังเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีได้
เมื่อเทียบกับสถานการณ์ขณะนี้ ที่กกต.เร่งคดีหุ้นไอทีวี กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย เชื่อว่า พรรคก้าวไกล อาจจะขอให้โหวตอีกรอบ ในกรณีวันที่ 13 กรกฎาคม นายพิธา ไม่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.
การโหวตเลือกนายกฯในครั้งที่ 2 ถ้านายพิธา ยังไม่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. แล้วสมมุติ พรรคก้าวไกล ยอมให้เสนอแคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทยแทน แต่เพื่อไทยก็ยังไม่ได้ เพราะใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วย เพราะฟังจากการอภิปรายวันแรก ส.ว.ไม่รับทั้งคนและพรรคก้าวไกล ด้วยเหตุว่านายพิธา ด่างพร้อย ขั้นตอนต่อไปต้องเปลี่ยนขั้วการเมือง แต่ต้องมีพิธีกรรมพอสมควร
"สมมุติเปลี่ยนขั้วการเมืองแล้ว บรรยากาศบ้านเมืองยังร้อนแรงหนักกว่าเดิม บ้านเมืองยังไม่สงบสุข ไม่มีใครกล้ามานั่งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะบริหารประเทศไม่ได้ การเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะกลับมาอีกก็ได้ เพราะถ้านายพิธา ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เกมการเมืองลากยาวแน่นอน และการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคก้าวไกล อาจจะแลนด์สไลด์ พรรคเดียวก็ได้” ดร.สติธร กล่าวทิ้งท้าย