ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) 4 รูปแบบ ที่กำลังจะหมดเขตรับฟังความเห็นประชาชนวันพรุ่งนี้ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายในสัปดาห์นี้
โดยการแบ่งเขตที่ กกต.กทม. นำเสนอมา 4 รูปแบบ พบว่า รูปแบบที่ 1 และ 2 เข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดมาตรา 27 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ “ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” และ “การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน” เป็นเรื่องหลักในการแบ่งเขต
แต่การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 กลับใช้วิธีรวมตำบล (แขวง) ต่างๆ มาประกอบเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ โดยเขตเลือกตั้ง กทม. ทั้งหมด 33 เขต รูปแบบที่ 1 มีการแบ่งแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ถึง 27 เขต รูปแบบที่ 2 มีการรวมแขวงต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ถึง 30 เขต และรูปแบบที่ 1 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อนเพียง 4 เขต รูปแบบที่ 2 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเพียง 2 เขตเท่านั้น
ดร.อรรถวิชช์ ยังยกตัวอย่างเขตจตุจักร การแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่ 3 และ 4 กำหนดให้เขตจตุจักรทั้งเขตเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องทั้งหลักการรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง และหลักการเคยเป็นเขตเลือกตั้งมาก่อน เหมือนการเลือกตั้งปี 2554 และ 2557 ค่าเฉลี่ยจำนวนประชาชนก็มีส่วนต่างไม่ถึง 10%
แต่รูปแบบที่ 1 และ 2 กลับแยกร่างเขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตบางเขน โดยแยกเอาเฉพาะแขวงจันทรเกษม และแขวงเสนานิคมของเขตจตุจักร ไปรวมกับแขวงท่าแร้งของเขตบางเขน และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ มารวมเป็นเขตใหม่ เกิดความวุ่นวายสับสน และเป็นแบบนี้เกือบทุกเขตเลือกตั้ง
“การแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 และ 2 นอกจากผิดกฎหมายชัดเจนแล้ว ยังสร้างความสับสนให้ประชาชนที่คุ้นเคยกับเขตเลือกตั้งเดิม เขาไม่ได้เลือกผู้แทนของเขตเลือกตั้งเดิมเคยทำงานในพื้นที่มา ขณะที่รูปแบบที่ 3 และ 4 เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุด เพราะมีเขตเลือกตั้งที่ถูกแยกเขวงเพียง 8 เขต โดยเฉพาะรูปแบบที่ 3 มีเขตที่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดิมที่คุ้นเคยมาก่อนถึง 17 เขตเลือกตั้ง”
ดร.อรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า การรวมแขวงจากเขตต่างๆ มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นหลักการพิศดาร นอกจากไม่สอดคล้องกับกฎหมายแล้ว ยังพบรูปร่างของเขตที่พยายามคดเข้าไปรวมบางแขวงที่ไม่เข้ากัน มีรูปร่างประหลาด ซึ่งหลักวิชาการเรียกการแบ่งเขตที่รูปร่างคล้ายตัว Salamander เป็นการแบ่งเขตเพื่อความได้เปรียบ - เสียเปรียบ แบ่งเขตเพื่อกำหนดผลการเลือกตั้งไว้แล้ว ที่เรียกว่า Gerrymandering
“รูปแบบที่ 1 และ 2 เข้าใจว่า กกต.กทม. พยายามยึดระเบียบ กกต. ที่กำหนดให้ส่วนต่างระหว่างจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. ไม่ควรเกินร้อยละ 10 แต่หลักการนี้เป็นเพียงระเบียบเท่านั้น ซึ่งมีสถานะต่ำกว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่กำหนดให้ยึดหลักการรวมอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง และการเคยเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน
จึงขอให้ กกต. ที่กำลังจะพิจารณาเคาะเขต ยึดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการเลือกตั้งในภายหลัก หากตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย จะกระทบต่อการเลือกตั้ง” ดร.อรรถวิชช์ ระบุ