วันนี้ (3 มี.ค.66) ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัย ไม่ให้นำผู้ไม่ได้สัญชาติไทย มาคิดคำนวณจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด จะพึงมี และคิดคำนวณจำนวณ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ส่งผลให้ กกต.จะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่
ก่อนหน้านี้สำนักงาน กกต.ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแบ่งเขต โดยไม่นำผู้ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณไว้แล้ว เป็นการคำนวณโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ 65,106,481 หาญด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต 162,766 จากเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมราษฎรที่นับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยคือ 165,226 คนต่อเขต
ทั้งนี้การคำนวณแบ่งเขตใหม่จะมี 8 จังหวัด เกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
4 จังหวัดมีจำนวน ส.ส.ลดลง ประกอบไปด้วย
- ตาก จาก 4 เหลือ 3 ที่นั่ง อันอาจกระทบต่อ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) มีส.ส.ลดลงจากเป้าเดิม
-เชียงราย จาก 8 เหลือ 7 ที่นั่ง อันอาจกระทบต่อ พรรคเพื่อไทย(พท.) เป้าส.ส.ลดลง
-เชียงใหม่ จาก 11 เหลือ 10 ที่นั่ง กระทบต่อเป้าส.ส.พรรคเพื่อไทย ลดลง
-สมุทรสาคร จาก 4 เหลือ 3 นั่ง กระทบต่อเป้าส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย เดิมวางเป้าไว้ 2 ที่นั่งคือ อนุสรี ทับสุวรรณ กับ นายสมัคร ป้องวงษ์ หรือ อาจกระทบพรรคก้าวไกล
ส่วน 4 จังหวัดจะมีส.ส.เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย
-อุดรธานี จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง อันจะส่งผลดีต่อ พรรคเพื่อไทย ที่จะมีส.ส.เพิ่มขึ้น
-ลพบุรี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง ส่งผลดีต่อ พรรคเพื่อไทย หรือ ประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่จะได้ส.ส.เพิ่มขึ้น
-นครศรีธรรมราช จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง จะส่งผลดีต่อ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ รวมไทยสร้างชาติ ที่อาจได้ส.ส.เพิ่มขึ้น
-ปัตตานี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง ส่งผลดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ หรือ ประชาชาติ ที่อาจได้ส.ส.เพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการแบ่งเขตใหม่ ภาคที่จะได้ที่นั่งส.ส.เพิ่มขึ้น คือ
ภาคใต้ จากเดิม 58 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 60 ที่นั่ง คือ เพิ่มที่ นครศรีธรรมราช 1 ที่นั่ง และ ปัตตานี 1 ที่นั่ง
ภาคอีสาน จากเดิม 132 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 133 ที่นั่ง คือ เพิ่มที่อุดรธานี 1 ที่นั่ง
ภาคเหนือ จาก 39 ที่นั่ง จะลดลงเหลือ 36 ที่นั่ง คือ ลดที่ ตาก เชียงราย เชียงใหม่ จังหวัดละ 1 ที่นั่ง
ภาคกลาง 89 ที่นั่งเท่าเดิม คือ ลด สมุทรสาคร 1 ที่นั่ง เพิ่ม ลพบุรี 1 ที่นั่ง