น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)หารือกับตัวแทนสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้แก่ นายธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ (สสภช.) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็ม พิคเจอร์ส กรุ๊ป
นายสง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง รองประธาน สสภช. และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ค่ายภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม และนายพรชัย ว่องศรีอุดมพร เลขาธิการ สสภช. ถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ทั้งนี้ นายธนกร กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้ทำหนังเสียภาษีเหมือนนิติบุคคล แต่องค์กรของผู้ประกอบการไม่สามารถจัดการภาษีของตัวเองได้ ถ้านำเงินภาษีกลับเข้ามาให้องค์กรบริหารจัดการเองได้ก็จะทำให้มีงบประมาณมาส่งเสริมคุณภาพงานได้มากขึ้น เราต้องมีกฎหมายที่ส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่ควบคุมผู้ผลิตผลงาน
นายสง่า กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือ คอนเทนต์ เช่นประเทศอินเดียมีการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยเน้นบทละครมาก่อนนักแสดง ซึ่งตอนนี้เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีแนวนโยบาย Cool Japan เพื่อผลักดันเรื่องการพัฒนาคอนเทนต์ และลิขสิทธิ์
แต่ทั้งนี้หนังและละครของแต่ละประเทศก็จะมีสูตรในการสร้างความสำเร็จเฉพาะตัวที่เหมาะกับบริบทในแต่ละที่ วันนี้เราไม่มีคนเก่งที่พร้อมจะวิ่ง กว่าเราจะสร้างคน กว่าจะเห็นผล รัฐบาลต้องห้ามถอดใจ แต่พอมันเติบโตจนเห็นผล รัฐจะไม่ต้องทำต่อ แต่ระบบมันจะวิ่งไปได้ด้วยตัวของมันเอง
นายพรชัย กล่าวว่า ซอฟท์พาวเวอร์ กลายเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกพรรคพูดเหมือนกันหมด แต่ในทางปฏิบัติตอนนี้ติดด้านกฎหมาย หลายคนไม่กล้าเซ็นอนุมัติ ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าพอมีเชื้อ มีหนังไทยหรือละครไทยที่ประสบความสำเร็จก็จะมาแบบวูบวาบที่เป็นกระแสแล้วสุดท้ายก็จะเงียบไป
ดังนั้นกุญแจคือการรวมอำนาจมาบริหารให้เป็นเอกภาพ แต่ถ้ายังติดกับดักอยู่กับการต้องพึ่งพาอาศัยอำนาจรัฐมาบริหารจัดการ หรือติดระเบียบราชการ สุดท้ายก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
น.ส.วทันยา เปิดเผยว่า นโยบายนี้อาจจะผลักดันเป็นกฎหมายจัดตั้งกองทุน แต่ไม่ได้ต้องการที่จะสร้างกองทุนใหม่ เพราะทุกวันนี้รัฐมีรายจ่ายที่เยอะมาก และหลายกองทุนก็มีงบประมาณที่ยังไม่ได้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะแนวคิดและการปฏิบัติยังไม่สอดคล้อง จึงเห็นว่าควรนำเอากองทุนที่มีอยู่
เช่น กองทุนสื่อสร้างสรรค์ มาเปลี่ยนเป็นกองทุนไอเดีย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทยแทน
นอกจากนี้ ไทยเองมีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์จำนวนมาก แต่ไม่มีการสนับสนุนต่อยอดทั้งในการการตลาด เทคโนโลยี หรือการจับคู่กลุ่มลูกค้าให้เหมาะสมกับผลงาน ทั้งนี้กองทุนนี้ควรจะออกมาในรูปแบบขององค์การมหาชน เพื่อให้ตัวแทนของภาครัฐต้องมีสัดส่วนน้อยกว่าตัวแทนผู้ผลิตหรือไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยระเบียบราชการ แต่รัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณและอำนวยความสะดวก
อย่างไรก็ตาม วทันยา กล่าวว่า หากสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เป็นธุรกิจสร้างสรรค์มาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะใช้งบประมาณเพียงหนึ่งหมื่นล้านบาท แต่จะสร้างรายได้กลับมามากกว่าสองล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยในห้วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโลก