วันที่ 17 มีนาคม 2566 นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการการสร้างการรับรู้โคบาลชายแดนใต้ ณ ห้องประขุมโรงแรม ซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ปศุสัตว์เขต 9 ปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี เกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรในจังหวัดปัตตานีร่วมในการประชุม
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขอชื่นชมกับเกษตรกรที่ให้ความสนใจในโครงการโคบาลชายแดนใต้ โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแนวคิด หลักเกณฑ์ และวิธีดำเนินงานโครงการให้ แก่เกษตรกร ให้เกษตรกรมีความพร้อมก่อนเข้าร่วมโครงการ และให้การขับเคลื่อนโครงการโคบาลชายแดนใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคาดหวังว่า หลังจากผ่านการรับฟังโครงการสร้างการรับรู้โคบาลชายแดนใต้ ในครั้งนี้ ผู้เข้ารับฟังจะมีความเข้าใจ และนำความรู้ หรือแนวคิดดีๆ ที่ได้จากการฝึกอบรมไปใช้ให้เกิดรายได้ต่อตนเองและครอบครัว และเกิดประโยชน์ต่อสังคมในพื้นที่
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวได้มีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อลังกาสุกะ ได้ร้องขอไปยังกระทรวงเกษตรฯ ให้มีการช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนเพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนากลุ่มฯ ทั้งในเรื่องการขยายผล และ การยกระดับคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานตลาดสากล ซึ่ง รมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายนายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษาฯมาร่วมประชุมหาแนวทางช่วยเหลือ และได้มีการอนุมัติเงินทุนจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้แก่เกษตรกร 14 กลุ่ม วงเงิน 54 ล้านบาท
ขณะนี้มีการโอนเงินงวดแรกให้แก่เกษตรกรแล้ว 20 ล้านบาท
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.66 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมปศุสัตว์ยืมเพื่อใช้ดำเนินโครงการโคบาลชายแดนใต้ วงเงิน 1,566.20 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
โดยกำหนดชำระคืนภายใน 7 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 มีระยะเวลาโครงการ พ.ศ.2565 – 2572 เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ
การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งการพัฒนาให้พี่น้องเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่มีรายได้ที่มั่นคง มีความถนัดด้านอาชีพตามวิถีชีวิต อย่างการเลี้ยงโค จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ก่อให้เกิดความสันติภาพ นำไปสู่สู่สันติสุขในพื้นที่ได้
หลังจากนี้จะมีการต่อยอดไปยังการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ การเลี้ยงไก่เนื้อต่อไป โดยการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องครอบคลุมครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการ ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร