นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันที่ 19 มีนาคม 2566 เมื่อเวลา 14.30 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ก่อนการรับฟังการนําเสนอวิสัยทัศน์ เรื่อง “อันดามันพร้อม” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบปะประชาชนที่มารอต้อนรับ
จากนั้นกล่าวทักทายด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง ว่า รู้สึกตื้นตันใจที่ทุกคนมารอรับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงแข็งแร งด้วยความรักความสามัคคีของทุกคน ขอให้ชาวภูเก็ตทุกคนรักกันให้มาก ๆ และสามัคคีกัน ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ช่วยกันดูแลบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย และร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาต่อไป
รอยยิ้มของทุกคนในวันนี้ทำให้มีกำลังใจทำงานต่อ ทั้งนี้ การมีอัธยาศัยไมตรีและรอยยิ้มรับแขกบ้านแขกเมืองของทุกคน จะช่วยให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งความสุข ทุกคนผ่านเรื่องต่าง ๆ มาด้วยกัน พบเจออุปสรรค ปัญหา และโอกาสที่ดีต่าง ๆ ร่วมกันมา และจะร่วมกันเดินหน้าต่อไปด้วยความจริงใจ ความซื่อสัตย์ พร้อมกับนายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ขอฝากหัวใจไว้กับทุกคนด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเป็นภาษาใต้ว่า “รักจังฮู้ รักแรงแรง” สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับประชาชน
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการ เช่น ชมการสาธิตการทำขนมอาโป้ง เป็นขนมพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต ที่พัฒนาจากศักยภาพที่ชุมชนมีสู่เสน่ห์ของดีของเด่นชุมชน ชมโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเกาะพระทอง การศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ใช้ชีวิตแบบโฮมสเตย์ชุมชน เปิดประสบการณ์ใหม่ด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติให้เรียนรู้อยู่ร่วมกับชุมชน มีการทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืชหายาก เพื่อจำหน่ายนักท่องเที่ยว ช่วยลดปัญหาการทำลายธรรมชาติ เช่น ลูกศรเกาะพระทอง กล้วยไม้พันธุ์ต่าง ๆ พร้อมชมผลิตภัณฑ์มาร์เก็ตเพลสของดีของฝากอันดามัน เช่น ผลิตภัณฑ์จากใยสับปะรด ผ้าทอ ผ้าบาติก ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Package ให้สวยงามและทันสมัย ชมการจัด “อั้วจ๋าน” เป็นการจัดอาหารใส่ปิ่นโตที่บอกเล่าเรื่องราวเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวและยั่งยืน
พัฒนาและต่อยอดธุรกิจเกษตรท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรเกษตรโดยการท่องเที่ยว และเปลี่ยนแนวคิดเกษตรรูปแบบใหม่ และโมเดลการแก้ปัญหาขาดแคนกำลังคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต โดยมีการ MOU พลังอาชีวะสมรรถนะสูง ร่วมกับสถานประกอบการ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และฝึกประสบการณ์ของนักเรียน นักศึกษา ในสาขาที่เกี่ยวข้องให้มีสมรรถนะตรงสายอาชีพเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยคนในชุมชนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ได้ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาและต่อยอด เพื่อร่วมกันสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็งของพื้นที่ ซึ่งมีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ ยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้มีมูลค่าสูง สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม” นายอนุชา กล่าว