"เครือเนชั่น" ร่วมกับ สมาคมสันนิบาตเทศบาล จัดเวทีสัมมนา"ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง" พร้อมการแสดงวิสัยทัศน์จากตัวแทนพรรคการเมือง ในการเพิ่มศักยภาพท้องถิ่น เพื่อความมั่นคงของประเทศ
นายนิกร จำนงค์ ประธานกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การกระจายอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นอุดมการณ์ของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายในการหาเสียงเท่านั้น แต่เป็นอุดมการณ์ เป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ประชาชน
โดยนโยบายพรรคฯกำหนดให้กระจายอำนาจรัฐอย่างจริงจัง เพื่อให้มีกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการตัดสินใจตามที่ท้องถิ่นเสนอ และนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ตลอดจนสารสนเทศของท้องถิ่นอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
นอกจากนี้จะสนับสนุนจังหวัดที่มีความพร้อมเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยยึดหลักความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก
นายนิกร กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนจะเสริมสร้างโอกาสประชาชนในทางการเมือง พรรคเห็นว่าประชาปไตยอย่างแท้จริงเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงมุ่งมั่นเสริมสร้างโอกาสประชาชนในทุกด้านทึกระดับ โดยเฉพาะระดับชุมชน หมู่บ้านและท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการปกครองอย่างอิสระ
เมื่อพรรคมีอุดมการณ์และนโยบายชัดเจน สิ่งที่จะทำคือ ยึดประชาชนเป็นหลัก โดยใช้ "บรรหารโมเดล" ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วปี 2540 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวล็อคเอาไว้ เราจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การให้ประชาชนมีอำนาจในการออกกฎหมายแม่ .ทำรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับของประชาชนให้อำนาจประชาชนพิจารณา ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำในเรื่องของการกระจายอำนาจ
ยกตัวอย่าง บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 ในเรื่องของกระจายอำนาจไปสู่ อปท.ที่ขาดหายไป ขณะที่ ฝ่ายบริหารมาจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ในขณะที่การส่งเสริม อปท.ที่ยากจนให้ได้รับงบประมาณ ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำถือเป็นปัญหาสำคัญ โดยพรรคมีนโยบายให้งบประมาณตั้งต้น 10 ล้านบาทกับ อปท.ในการดูแลประชาชน การลงทุน การพัฒนาการถนน หรืออาจจะขยายเป็นโรงงานไฟฟ้าส่วนท้องถิ่นในอนาคต
นายนิกร ยังเห็นด้วยกับกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดวาระผู้บริหารท้องถิ่นไม่เกิน 2 สมัยหรือ 8 ปี เพราะเป็นส่วนที่ใกล้ชิดกับประชาชนต้องมีการเว้นวรรคเพื่อป้องกันการสร้างอิทธิพล แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้เป็นต่ออีกครั้ง ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงานท้องถิ่นถือเป็นทางเลือก ซึ่งในต่างประเทศก็มีการดำเนินการเช่นนี้เมื่อบริหารงานครบ 8 ปีก็ต้องเว้นวรรค เช่นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
แต่มองว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในหมวดที่ 14 ที่ไม่ได้อำนาจกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจริง ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำส่วนกฎหมายอื่นๆก็ไม่มีปัญหา
นายนิกร เห็นด้วยในเรื่องของการลดขนาดส่วนภูมิภาค ให้ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวเชื่อมระหว่าง ส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค ส่วนการยกเลิกนั้นค่อยพิจารณาต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตามตนไม่ได้มองว่านักการเมืองท้องถิ่นเป็นเครื่องมือของนักการเมืองระดับชาติ แต่การทำงานถือว่ามีความเชื่อมโยงกันเพราะไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นหรือนักการเมืองระดับชาติล้วนแต่มาจากประชาชน