ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนาท้องถิ่น มั่งคั่ง ประเทศมั่นคง หัวข้อ บทบาทท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ว่า ตนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจมาตลอดเวลา มีทั้ง 2 มิติ ประกอบด้วย
การกระจายอำนาจทางการคลังและการกระจายอำนาจทางการเมือง ทั้งนี้เคยมีการตั้งข้อสังเกตการกระจายอำนาจทั้ง 2 มิตินั้น พบว่าไทยมักจะเกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติรัฐบาลหรือรัฐประหาร ส่งผลให้พรรคการเมืองเริ่มมีบทบาทและเห็นการกระจายอำนาจไปสู่ภาคนอกมากขึ้น ปัจจุบันไทยจะเข้าสู่ในช่วงประชาธิปไตย
ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า ความจำเป็นของการพัฒนาท้องถิ่นถือเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ มีทั้งหมด 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เช่น คุณภาพคน หากคนในพื้นที่มีคุณภาพ เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลง , ปริมาณและคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
2.ความยากจนกระจุกตัว พบว่ามีจังหวัดที่จนเรื้องรังจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าความยากจนเพิ่มขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจดีขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ต่างจากที่ผ่านมา หากเศรษฐกิจดีขึ้น ความยากจนจะลดลง สำหรับสัดส่วนคนจนรายจังหวัดในไทยทั้ง 10 จังหวัดในปี 2564 ประกอบด้วย ปัตตานี, แม่ฮ่องสอน, นครราชสีมา, ระนอง, ยะลา, นราธิวาส, พะเยา, หนองบัวลำภู และศรีษะเกษ
ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนบทบาทด้านเศรษฐกิจของท้องถิ่น ประกอบด้วย บทบาททางตรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยตรง ในฐานะรัฐบาลท้องถิ่น เช่น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุน,เก็บภาษีและค่าธรรมเนียม,การส่งเสริมธุรกิจ วิสาหกิจชุมชน,มาตรการด้านตลาดแรงงาน ขณะที่ในฐานะองค์ในพื้นที่ เช่น การร่วมมือกับภาคธุรกิจ (ลงทุนร่วม) ,ร่วมมือกับชุมชน
ด้านบทบาททางอ้อมผ่านมาตรการทางสังคม สิ่งแวดล้อม ทางทีดีอาร์ไอฝากความหวังกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะถือเป็นจุดเป็นจุดตายของไทยในการส่งเสริมพัฒนาคนในพื้นที่ โดยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของคน เช่น การศึกษา,พัฒนาทักษะแรงงาน ทักษะผู้ประกอบการ,สาธารณสุข,สวัสดิการประชาชนกลุ่มทั่วไปและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ และการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าท้องถิ่นมีศักยภาพที่จะดูแลเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้
ขณะที่ข้อดีของการพัฒนาท้องถิ่น เช่น 1.ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่หลากหลาย 2.แก้ปัญหาแบบองค์รวม ปัจจุบันพบว่าการบูรณาการในการแก้ปัญหาดังกล่าวจะดำเนินการโดยผู้ว่าราชการ ซึ่งบางครั้งก็สามารถดำเนินการได้และดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้มีงบประมาณเพียงพอมากนัก หากอปท.มีอำนาจในกระจายทางการคลังและการเมือง เชื่อว่าจะมีการบูรณาการที่มีศักยภาพสูง 3.เปิดส่วนร่วมของประชาชน 4.การสร้างนวัตกรรมการให้บริการ
“ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ตรงใจกับประชาชนมากกว่า นอกจากนี้ท้องถิ่นยังช่วยสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาเคยมีผู้คนตั้งข้อสังเกตการเลือกตั้งมักจะมีผู้คนหน้าตาเดิมๆมาตลอด หากมีการพัฒนาอปท.อย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่าผู้นำอปท.จะสามารถดำเนินการได้ หากมีฝีมือดีได้รับการยอมรับในระดับกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมระบบประชาธิปไตยได้ในระยะยาวด้วย”
ดร.สมชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการจัดสรรงบประมาณในไทยน้อยมาก เมื่อเทียบกับการจัดสรรงบประมาณในต่างประเทศ โดยปัจจุบันไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 8.1% ขณะที่อินเดียได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 32.4% จีนได้รับการจัดสรรงบประมาณ 47.5% เกาหลีใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 21.6 % ญี่ปุ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณ 42% อินโดนีเซีย ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8.8% ถือว่ามิติการกระจายอำนาจทางการคลังล้าหลังเยอะมาก ขณะที่ท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณตรงตามความต้องการมากกว่าภาครัฐ
นอกจากนี้ในด้านจุดอ่อนของอปท.พบว่ายังขาดความเป็นอิสระ เบื้องต้นควรเพิ่มความเป็นอิสระ โดยยุบรวมจังหวัดเข้ากับอบจ.เป็นจังหวัดจัดการตนเอง ทั้งนี้จะมีการแก้กฎหมายและลดอำนาจแทรกแซงของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งการแยกภาษีที่จัดเก็บเองออกจากรายได้ที่รัฐบาลโอนให้ ส่วนการขาดขีดความสามารถนั้น ควรจูงใจให้อปท.ควบรวมโดยปรับหลักสูตรเงินโอนและปรับให้ส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยง สามารถดูแลมาตรฐานบริการได้ ด้านการขาดกลไกความรับผิดชอบ ควรกำหนดให้เปิดเผยผลงานต่อประชาชน รวมทั้งแก้กฏให้ถอดถอนผู้บริหารง่ายขึ้น