ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเช้าวันที่ 3 เมษายน 2566 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงใหม่ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจากหลายพรรคการเมืองพร้อมกองเชียร์ผู้สนับสนุน ได้เดินทางมารอตั้งแต่เช้า ก่อนเริ่มเปิดรับสมัครในเวลา 08.30 น.
โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมติดตามและตรวจสอบความเรียบร้อยในการรับสมัคร
นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพรรคการเมือง ที่มีสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 44 พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ กกต.เชียงใหม่ ได้จัดเตรียมความพร้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงทะเบียน การจับสลากเลือกหมายเลขผู้สมัคร การตรวจคุณสมบัติ จนถึงการรับสมัคร เพื่อให้ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างเรียบร้อยและโปร่งใส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันแรกของการรับสมัคร บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้สมัครจากหลายพรรคการเมืองเดินทางมาถึงตั้งแต่เช้า ก่อนเปิดรับสมัครในเวลา 08.30 น. ในทุกเขต เฉลี่ยแล้วประมาณเขตละ 10-11 คนที่มาจับสลากครั้งนี้ คาดว่าช่วงจับฉลากจะมีประมาณ 200 กว่าคน เพื่อให้ได้หมายเลขสมัครรับเลือกตั้งไปใช้หาเสียง
ปรากฎว่าในเขตเลือกตั้งที่ 1 กับเขตเลือกตั้งที่ 9 มีกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งจับได้หมายเลขแล้ว เมื่อไปยื่นเอกสารต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งปรากฎว่าเอกสารไม่ครบ ผู้อำนวยการเขตฯต้องคืนเอกสารไป แล้วก็เลื่อนลำดับถัดมาของผู้สมัครเลือกตั้ง ทำให้จะได้หมายเลขที่ไม่ตรงกับการจับสลากครั้งแรก คือได้หมายเลขลำดับขึ้นมาแทน ซึ่งหมายเลขนี้จะใช้หาเสียงในการสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเลย
สำหรับบรรยากาศรับเลือกตั้งในครั้งนี้เรียบร้อย ทางผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ได้มีการซักซ้อมความเข้าใจการจับหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคัดค้าน เนื่องจากว่าได้รับทราบกติกาเป็นอย่างดี ว่ามีการจับหมายเลข 2 รอบ และการจับฉลากก็มีสักขีพยานอยู่ในสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเองก็เป็นสักขีพยาน ไม่มีการคัดค้านหรือทักท้วงในการจับสลากทั้งสองครั้งแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดจะต้องปิดป้ายประกาศหาเสียง ตามสถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดเชียงใหม่กำหนด รวมถึงสามารถไปติดประกาศขนาด 30 x 42 ซม. ตามสถานที่ราชการที่ได้กำหนดไว้ และหาเสียงได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในการที่จะระบุหมายเลข ส่วนหลังจากนี้ไปยังเหลือเวลาอีก 4 วัน ขอเชิญชวนพรรคการเมืองที่ยังไม่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อาจจะเป็นเพราะว่าเอกสารไม่ครบ หรือว่าอาจจะฤกษ์ยังไม่งาม ยามยังไม่ดีก็ได้ที่ยังไม่มากัน ยินดีต้อนรับและยังรอคอยท่านอยู่
สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีความประสงค์ที่จะลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักร ยังมีเวลาให้ลงทะเบียน จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในจังหวัดเชียงใหม่ มีประมาณ 1,330,000 กว่าคน ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ
ทางสำนักทะเบียนอำเภอสำนักทะเบียนท้องถิ่น จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งภายในวันที่ 18 เมษายน 2566นี้ แล้วก็จะส่งหนังสือแจ้งไปยังเจ้าบ้าน ว่าในทะเบียนบ้านของท่าน ผู้มีเสียงเลือกตั้งมีใครบ้าง นอกจากนี้ก็จะมีหนังสือแจ้งไปว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของท่าน รวมถึงผู้สมัครรับตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ มีพรรคไหนบ้าง ก็จะส่งไปพร้อมกันให้ได้ภายในวันที่ 23 เมษายน 2566
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนชาวเชียงใหม่ทุกท่าน ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีชื่ออยู่ ให้นำหลักฐาน ไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ 2. เอกสารอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่มีรูปถ่าย มีเลขประจำตัวประชาชน แต่ต้องไม่หมดอายุ 3. ภาพถ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เปิดผ่านแอปพลิเคชั่นที่หน่วยงานของรัฐจัดทำขึ้น ก็สามารถไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีชื่ออยู่
จากนั้นหลังปิดการลงคะแนนเวลา 17.00 น.แล้ว ก็จะมีการนับคะแนนเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้ง ก็จะแยกกรรมการประจำหน่วย นับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และนับบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ไปพร้อม ๆกัน ผลการนับคะแนน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อหน่วยเลือกตั้งนั้น ก็จะรู้ผลการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นทันที แล้วกรรมการประจำหน่วยจะส่งผลคะแนนไปยังศูนย์ประสานงานอำเภอ อนุ กกต. ประจำอำเภอก็จะรวมผล เพื่อส่งไปยัง ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง แล้วก็จะรู้ผลแบบเรียลไทม์ไปด้วยกัน
คาดว่าจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้ง 10 เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้งที่สามารถที่จะรู้ผลได้เร็ว ก็น่าจะเป็นเขตเลือกตั้งที่อยู่ในตัวเมือง อย่างเช่น เขตเลือกตั้งที่ 1 เขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นต้น ประมาณ 4-5 ทุ่มจะรู้ผล แต่ว่าในเขตเลือกตั้งอื่นที่มีหน่วยเลือกตั้งที่เป็นพื้นที่ห่างไกลจะ ต้องใช้เวลา ก็ต้องลดหลั่นกันไป เช่น บางหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในอำเภออมก๋อย มีหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยที่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ถึงแม้ระยะทางจะสั้น แต่ว่าการเดินทางก็จะมาก
ชาวจังหวัดเชียงใหม่สามารถติดตาม การรวมผลคะแนนแบบเรียลไทม์ไปด้วยกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็จะทำเวบไซต์ ทำแอปพลิเคชั่น ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถรู้ผลทุกเขตเลือกตั้ง ในจังหวัดเชียงใหม่หรือในประเทศไทย ทั้ง 77 จังหวัด รู้ไปพร้อมกัน
การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ของจังหวัดเชียงใหม่ มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 10 เขต และ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 1,330,000 คน คาดว่าชาวจังหวัดเชียงใหม่ จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนมาก ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ซึ่งเมื่อการเลือกตั้งวันที่ 14 มีนาคม 2562 นั้น มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึงร้อยละ 83.33 ก็ตั้งเป้าให้มากกว่าเดิม มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 85
งบประมาณในการเลือกตั้งในครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 10 เขต 2,700 หน่วย ในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา จะใช้งบประมาณเขตเลือกตั้งละไม่เกิน 10 ล้านบาท งบประมาณที่ใช้ส่วนใหญ่ เป็นค่าตอบแทนของกรรมการประจำหน่วย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท/คน โดยมีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประมาณ 30,000 คน ค่าตอบแทนประมาณ 45 ล้านบาท และวัสดุอุปกรณ์ประจำหน่วย ๆ ละ 1,500 บาท/หน่วย(เครื่องเขียน บัตรเลือกตั้ง กล่อง หีบบัตร เอกสารอื่นๆ) รวมทั้งหมดก็เกือบ 100 ล้านบาท
ส่วนรูปแบบการหาเสียงครั้งนี้ เท่าที่สังเกตคือ ส่วนใหญ่เป็นป้ายขนาด 1.30 ม.X2.45 เมตร เป็นหลัก ส่วนการหาเสียงทางออนไลน์ อาทิ ทางเฟชบุ๊ค อินสตราแกรม ไลน์ ติ๊กต็อก เป็นต้น ก็สามารถทำได้
ผอ.สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า การแข่งขันในการเลือกตั้งทุกครั้งจะแข่งขันทางนโยบายมากกว่า ส่วนความรุนแรงทางกายภาพ เช่น การทำร้ายร่างกาย หรือการใส่ร้ายป้ายสีกันไม่ค่อยมี เพราะว่าชาวจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามอยู่แล้วในเรื่องของการเมือง รวมถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมถึงการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่น่าจะมี เพราะชาวเชียงใหม่มีส่วนร่วมทางการเมืองสูง
จะเห็นว่าคนจังหวัดเชียงใหม่จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะความนิยมชมชอบของพรรคการเมือง ของตัวบุคคล ตลอดจนถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่าง ๆ ให้มันดีขึ้น 4 ปีมีการเลือกตั้งส.ส.ครั้งหนึ่ง การมอบอำนาจอธิปไตยให้กับ สส.ไปทำหน้าที่ในสภา คิดว่าชาวจังหวัดเชียงใหม่เขาพร้อม รวมถึงร่วมเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแล ทำให้การซื้อสิทธิ์ขายเสียง ทุจริตการเลือกตั้ง หรือความรุนแรงในเชียงใหม่จะไม่มี
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ในวันแรกนี้ มีผู้สมัครทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ตลอดจนทายาทนักการเมืองจากหลายพรรคการเมือง มาลงสมัครรับเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมแผ่นดิน ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงเชียร์จากกองเชียร์ของแต่ละพรรค ที่มาคอยให้กำลังใจแก่ผู้เข้าสมัครทั้ง 10 เขต กันอย่างคึกคัก พร้อมมอบพวงมาลัย ดอกมะลิ ดอกดาวเรือง
รวมทั้งน.ส.กชพร เวโรจน์ หรือ"มาดามหยก" ประธานที่ปรึกษาฯ และหัวหน้าสาขาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ พรรครวมแผ่นดิน ที่มาพร้อมศิลปินดาราที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจแก่ผู้สมัครส.ส.ของพรรคทั้ง 10 เขต นายนฤเบศ ประมวญพิสุทธิ์ ผู้สมัครส.ส. พรรครวมแผ่นดิน เบอร์ 3 เขต1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ตัดสินใจมาลงเล่นการเมือง เพราะคุณพ่อ ”ชานนธ์ ประมวญพิสุทธิ์” เขต 2 ชักชวน
ก่อนหน้านั้นคุณพ่อเป็นประธานสภาเทศบาลตำบลแม่เหียะ และเคยลงชิงนายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ทำให้ได้ลงพื้นที่ด้วย เกิดความชอบงานการเมืองขึ้นมาและมีความมั่นใจ แต่ในเรื่องของประสบการณ์ ต้องยอมรับว่าพี่ๆเขาอาจจะดีกว่า แต่ว่าในเรื่องของกระบวนการทำงานหรือว่าแผนดำเนินงานของพรรค ก็ต้องไปต่อสู่กันอีก นโยบายในการหาเสียงพรรคของเรา
โดยการมาลงสมัครเขต 1 แทนนายพรชัย จิตนวเสถียร ที่วางใจและเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลืมคนแก่ นโยบายที่จะทำให้ผู้สูงอายุเราไม่ทิ้ง ยังต้องทำและผลักดันให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของเด็กรุ่นใหม่ พรรคอยากจะผลักดันในเรื่องของ LGBTQ คือ ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมทุกวันนี้ เพื่อส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้มีความสุข อยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมเหมือนกับของเพศหญิงเพศชายทั่วไป
ขณะที่นายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ผู้สมัครส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 1 เขต 5 เชียงใหม่ เผยว่า ก่อนที่จะมาสมัครได้เดินทางไปสักการะครูบาศรีวิชัย อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อขอพรให้ได้เบอร์1 ก็ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ในลำดับแรกแล้ว โดยวันนี้มีครอบครัวมาให้กำลังใจ เว้นแต่คุณพ่อคนเดียวที่ไม่ได้มา โดยจะมุ่งหน้าลงพื้นที่อย่างเต็มที่
"ผมเคยเดินหาเสียงกับคุณพ่อบุญทรงครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2549-2550 ระยะเวลา 10ปีที่ผ่านมา เป็นคนเดียวในบ้านที่ช่วยพ่อหาเสียง ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนมาโดยตลอด ชาวบ้านในเขตพื้นที่จะคุ้นหน้าคุ้นตาผมเป็นอย่างดี วันนี้อาสาทำงานแทนพ่อ ที่ประสบอุบัติเหตุทางการเมืองเจอมรสุมชีวิต ผมมาขออาสาเป็นตัวแทนมารับใช้พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ หวังได้รับโอกาสความไว้วางใจ เข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป”
ด้านนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้สมัครส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เขต 1 เบอร์ 1 กล่าวว่า วันนี้ถือว่าฤกษ์ดีมีชัยได้เบอร์ 1 ที่จะทำให้การสื่อสารทางการเมืองทำได้ง่ายขึ้น แต่ในทางการเมืองแล้วไม่ใช่นับหนึ่งหรืออยู่จุดสตาร์ท เพราะทำงานการเมืองมาก่อนแล้ว โดยจากนี้เวลาที่เหลืออีก 42 วันจะถึงการเลือกตั้ง ก็ยังเป็นการทำงานอย่างหนักอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นทั้ง 12 ตำบล ก็จะเข้าถึงให้ครบทุกหมู่บ้าน และพบให้มากที่สุดในการไปอธิบายนโยบายและพบปะพ่อแม่พี่น้อง
ขณะที่นายจักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัครส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 7 เขต1 เชียงใหม่ กล่าวว่า การลงสมัครส.ส.ครั้งนี้มั่นใจมาก เนื่องจากเป็นอดีตผู้สมัครมา 2 สมัยในปี 2548 และปี 2550 แม้จะทำงานอยู่ในภาคเอกชน แต่ก็ได้ทำงานด้านชุมชนและใกล้ชิดพื้นที่มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโควิด หรือสถานการณ์ใดที่เกี่ยวกับเรื่องปัญหาของบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเมือง ได้เข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องมากว่า 2-3 ปี จึงมั่นใจว่าพี่น้องประชาชนจะเห็นความตั้งใจ และหวังให้กลับมาช่วยทำงานให้ชาติบ้านเมืองต่อ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และได้หมายเลข 7 เลขนำโชคที่จำง่ายและตรงกับที่คาดหวังไว้
แนวทางหาเสียงตอนนี้จะใช้การเดินเข้าหาพี่น้องประชาชน โดยการเคาะประตูบ้านให้มากที่สุด ควบคู่กับการจัดทำสื่อทั้งกลางแจ้งและทางโซเชียลมีเดีย ตลอดจนการจัดปราศรัย โดยชูนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือต่อยอดในเรื่องการประกันรายได้พืชผลต่าง ๆ ที่พี่น้องเกษตรกรได้ประโยชน์อย่างมาก ขณะเดียวกันก็จะมีในเรื่องของการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะ SMEs ในการที่จะจัดตั้งกองทุน 3 แสนล้านบาทเข้ามาช่วยเศรษฐกิจฐานราก SMEs ให้เติบโตขึ้น ในส่วนของชุมชนเองก็จะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากชุมชน โดยการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชนแห่งละ 2 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวที่ทำให้เกิดการกระตุ้นหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ