กกต.ไฟเขียว 49 พรรค หาเสียงตามเบอร์ที่จับได้

04 เม.ย. 2566 | 09:15 น.
อัพเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2566 | 09:23 น.

กกต.ไฟเขียว 49 พรรคหาเสียงตามเบอร์ที่จับได้ หลังตรวจสอบเอกสารครบถ้วน แจงไม่มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ เหตุกฎหมายกำหนดให้ทำหน้าที่แค่รับแจ้ง

4 เม.ย.66 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการรับสมัครการส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในวันแรก ว่า หลังกกต.ได้ตรวจสอบเอกสารทั้ง 49 พรรคการเมืองที่มายื่นสมัครและได้จับสลากหมายเลขพรรคในช่วงเช้าที่ผ่านมา ทุกพรรคมี เอกสารครบถ้วน สามารถออกใบรับสมัครได้ครบทั้งหมดและได้หมายเลขตามลำดับที่จับสลากได้ 

นอกจากนี้โดยภาพรวมการรับสมัครงานนี้ค่อนข้างเรียบร้อย มีปัญหาบ้างคือสถานที่คับแคบ จุดรับสมัครน้อย ในช่วงบ่ายมีพรรคการเมืองมายื่นสมัครอีก5พรรคแต่ถอนตัว1 พรรคทำให้ขณะนี้มีพรรคการเมืองมาสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 53 พรรคการเมือง และรับแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี หรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจำนวน 16 พรรค 20 คน
 

  กกต.ไฟเขียว 49 พรรค หาเสียงตามเบอร์ที่จับได้

นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่า รายชื่อผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดกกต. จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติเช่นเดียวกับส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หากพบว่าผู้สมัครรายใดไม่มีคุณสมบัติจะไม่ประกาศรายชื่อ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศรายชื่อสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ หากศาลไม่คืนสิทธิให้ พรรคการเมืองก็จะเหลือจำนวนผู้สมัครเท่าที่มีอยู่ ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกฎหมายกำหนดให้กกต.เป็นเพียงผู้รับแจ้งชื่อเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ


ส่วนที่มีข่าวว่าบางพรรคเอกสารการสมัครไม่ครบทำให้การสมัครล่าช้า นายแสวง ชี้แจงว่า เกิดจากการใช้เอกสารที่เป็นสำเนาที่พิมพ์มาจากคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เอกสารตัวจริง แต่กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของการรับสมัครเสียไป หรือเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงได้ดำเนินการรับสมัคร

กกต.ไฟเขียว 49 พรรค หาเสียงตามเบอร์ที่จับได้

เมื่อถามถึงกรณีบัตรเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตที่ไม่มีโลโก้และชื่อพรรคการเมือง นายแสวง กล่าวว่า เมื่อเช้าได้คุยทำความเข้าใจกับหลายพรรคการเมือง ว่ารูปแบบบัตรที่กกต.จะจัดพิมพ์ดีสำหรับพรรคการเมือง เพราะจากการถอดบทเรียนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีบัตรเสียมากเนื่องจากรูปแบบบัตรเลือกตั้งมีโลโก้ และชื่อพรรค

 อีกทั้งครั้งนี้กฎหมายกำหนดให้บัตรเลือกตั้ง 2 ปรเภทต้องมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยแบบแบ่งเขตกำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมายและหมายเลขเท่านั้น ส่วนแบบบัญชีรายชื่อกำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมาย โลโก้ และชื่อพรรค ดังนั้นบัตรทั้ง 2 ใบจะทำเหมือนกันไม่ได้ และสีจะมีความแตกต่างกันโดยขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดพิมพ์และเรื่องสีถือเป็นความลับ

 อย่างไรก็ตามกกต.จะพยายามอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยจะให้ทุกหมายเลขของผู้สมัครทั้ง 2 ปรเภทอยู่ในบัตรเลือกตั้งหน้าเดียว ซึ่งแบบแบ่งเขตยอดผู้สมัครสูงสุด ณ.ขณะนี้ คือ 16 หมายเลข ที่กรุงเทพฯ ส่วนบัญชีรายชื่อแม้จะมีพรรคที่มีสิทธิส่งผู้สมัครรวม 60 พรรค ก็จะทำให้อยู่ด้านเดียวกันให้ได้ และในวันเลือกตั้ง

นอกจากหน้าหน่วยจะมีการติดประกาศข้อมูลของผู้สมัครแล้ว ก็จะมีการติดป้ายไวนิลข้อมูลผู้สมัครไว้ในจุดที่ประชาชนไปใช้สิทธิในคูหาแล้วสามารถมองเห็นได้ เพื่อสามารถจดจำเบอร์ไปกาบัตรได้ถูกต้อง