นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” หัวข้อ “เลือกตั้งประเทศไทย 2566” มีเนื้อหาดังนี้...
“การเลือกตั้งครั้งนี้มีการจ่ายเงินซื้อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์” โดยใช้ อสม. (อาสาสมัครหมู่บ้าน) เป็น “ตัวกลาง” ในการประสานงานกับชาวบ้าน ทั้งจดชื่อ แนะนำ แจ้งวิธีการจ่าย จำนวนเงิน ชวนให้ไปฟังปราศรัย พบปะผู้สมัคร ไปจนถึงการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง
สรุปการจ่ายได้ดังนี้
1. มัดจำด้วยวิธีการทยอยจ่าย เช่น 300 - 500 บาทต่อคน และอีกส่วนก่อนวันเลือกตั้ง
2. จ่ายเพื่อให้มาร่วมฟังนโยบายแบบวงย่อย ได้คนละ 100 - 300 บาท
3. จ่ายเพื่อให้ไปฟังปราศรัยใหญ่ 300 - 500 บาท เป็นการเกณฑ์คนมาฟังเพื่อแสดงให้ดูกำลังของพรรค และ ส.ส.
4. การเช็คจำนวนคนที่ลงคะแนน เนื่องจากในแต่ละหน่วยเลือกตั้งมีจำนวนคนไม่มาก เงินที่จ่ายให้ชาวบ้านจึงเบี้ยวยาก
5. การให้ไม่ได้หมายความว่าจะได้แน่นอน เพราะคู่แข่งขันอาจให้มากกว่า เช่น ตั้งเป้าให้ 1,000 ต่อหัว แต่ไปเจอคู่แข่งให้ 1,500 หรือเกทับกลับไป 2,000 ก็มี
ชาวบ้านจึงรับเงินฟรีแต่ไม่กา ไปกาให้อีกฝั่ง อย่างนี้ไม่ผิด ไปว่าชาวบ้านไม่ได้
ราคาดังกล่าวเป็นราคาในภาคอีสาน เหนือ ส่วนภาคกลางที่มีการต่อสู้หนัก ราคาไหลไปสูงกว่านั้น ไฮไลต์อยู่ที่ภาคใต้ ราคาเฉลี่ย 2,000 ต่อหัวอย่างต่ำ โดยที่จ่ายสูงสุด คือ จังหวัดภูเก็ตราคาอยู่ที่ หัวละ 3,000 บาท ในขณะนี้
ชาวบ้านมองการเลือกตั้งคือการเทศกาลจ่าย เงินสะพัด เป็นการคืนกำไรที่โกงกลับมาให้ หรือเป็นการจ่ายเพื่อลงทุนในการเป็น ส.ส. การเมืองไทยจึงเปรียบเสมือนธุรกิจ ที่ต้องใช้เงินจ่ายค่า “สัมปทาน” ในการผ่านเข้าไปสู่ระบบ ส.ส. ตามขั้นตอน
หากพรรคกลายเป็นตัวแปรหลังคะแนนออก การจับคู่เจรจาตำแหน่งเจ้ากระทรวงจะมีกำลังเพิ่มเป็นโบนัสชิ้นใหญ่ พรรคการเมืองกลับคำได้หมด ไม่สนที่ปราศรัยไว้ตอนหาเสียง เพราะต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ ต่อรองเอากระทรวงที่มีโครงการมาก มีงบมาก เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ส่วนพรรคเล็กได้ ส.ส. ไม่มาก ได้กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุดมศึกษาฯ
โดยเฉลี่ย มี ส.ส. ในมือ 7 คนได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง แต่ขึ้นอยู่กับพรรค และการต่อรองเป็นหลัก
อย่างพรรคภูมิใจไทยที่ได้ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคมในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์เมื่อปี 2552 เพราะเนวินยอมหัก “นายเก่าทักษิณ” ให้อภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ กระทรวงทำเงินจึงตกอยู่กับพรรคภูมิใจไทยหมด
จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังอ่อนประสบการณ์เจรจาจัดตั้งรัฐบาล ห่วงแต่จะเป็นนายกฯ และเน้นเอาเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และเศรษฐกิจ จึงเสียกระทรวงคมนาคมไปให้พรรคภูมิใจไทย กระทรวงสาธารณสุขก็จะเอา เพราะต้องผลักดันนโยบายกัญชาเสรี
ทั้งหมดที่พูด มาจากประสบการณ์ที่นักการเมืองทุกคนทราบ ความเก๋าเกมในการเจรจา ก็เหมือนเล่นไพ่โป๊กเกอร์ มือสมัครเล่นมีแต่เสีย
ต้อง “บลั๊ฟ” เกทับกันไปมาว่าใครใจแข็งกว่า
พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้เป็นนายกฯ จริง แต่บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลต่างบริหารงบประมาณกันสนุกสนาน สะสมทุนมโหฬารงานสร้าง โดย “นายกฯ ตู่” ได้แต่นั่งดูเพราะเกรงใจ และต้องการยึดเก้าอี้นายกฯ เอาไว้เท่านั้น แต่หากมาแตะตำแหน่งนายกฯ เมื่อไหร่ เท่าไหร่เท่ากัน
ในสภายังมีการจ่ายเงินซื้อคะแนนเวลา ส.ส. ลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก และลามไปถึงการซื้องูเห่าสำหรับบรรดา ส.ส. หน้าใหม่ที่หิวเงิน ไม่รู้ครั้งหน้าจะได้เป็นอีกไหม
พรรคที่มีเงินสะสมจากการโกงสารพัด ใช้เงินฟาดซื้อ ส.ส. ให้สลับเปลี่ยนย้ายพรรคย้ายขั้วกันไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งหมดใช้เงินทั้งสิ้น ไม่ได้มีอุดมการณ์ใดหลงเหลือ
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์แตกออกเป็นพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” มาแย่งคะแนนข้าวหม้อเดียวกันที่ภาคใต้ แต่ก่อนเปลี่ยน “หัวหน้าพรรค” แต่เที่ยวหน้า เปลี่ยน “ชื่อพรรค”
ใครจะเป็นนายกฯ อย่าไปห่วง ได้เป็นแค่ในนาม แจกของ ร้องเพลง ตัดริบบิ้นเหมือนที่นายกฯ ประยุทธ์ทำมา 4 ปี
ผู้คุมรัฐบาลตัวจริง ยังคงเป็นพรรคหลักที่ได้จำนวน ส.ส. มากสุดอยู่ดี ใครไม่เชื่ออย่าลบหลู่ การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ”