“ชาวบ้านในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีฐานะที่ยากจนมาก พี่ป้อมจึงขอให้มาช่วยทำนโยบายช่วยให้คนพ้นจากความยากจน และมีโอกาส โดยใช้โมเดลของ EEC มาปรับใช้ในพื้นที่ เลยตัดสินใจเข้ามาทำงานเพื่อประเทศอีกครั้ง”
หนึ่งในใจความสำคัญของ “ดร.คณิศ แสงสุพรรณ” เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ในโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ภายหลังเปิดตัวเข้าร่วมเป็นทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ เพื่อกลั่นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้ายเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ดร.คณิศ ยอมรับว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยกับการแก้ไขปัญหาด้านปากท้องพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า ประชาชนในชายแดนใต้ ประสบปัญหาความยากจนจำนวนมาก และยังขาดโอกาส ขาดรายได้ จนทำให้เกิดปัญหาตามมานั่นคือเรื่องของความมั่นคง
เหตุผลของการตัดสินใจสู่สนามการเมือง
ที่ผ่านมาได้ทำงานให้กับประเทศมาหลายอย่าง โดยเฉพาะงานล่าสุดคือการผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งตอนนี้วางรากฐานสำคัญเอาไว้เกือบครบทั้งหมดแล้ว เช่น ด้านงานโครงสร้างพื้นฐาน และการดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคลงมาในพื้นที่ ซึ่งงานที่ทำเอาไว้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ผ่านการผลักดันให้เป็น “เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้” เป็นเมกกะโปรเจกต์ใหม่ที่ประเทศไทยต้องเร่งทำ
แต่ก่อนที่จะร่างนโยบายพื้นที่พิเศษใหม่นี้ขึ้นมา เคยคุยกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พปชร. ซึ่งขอให้เข้ามาช่วยทำนโยบายด้านนี้ให้กับพรรค เพราะไม่นานมานี้ พล.อ.ประวิตร ได้หารือนายอันวาร์ อิมราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในระหว่างที่นายอันวาร์เดินทางมายังกรุงเทพฯ
โดยทั้งสองฝ่ายต่างมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่เชื่อต่อระหว่างไทย-มาเลเซีย คือชายแดนภาคใต้ของไทย กับชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย ที่ประสบปัญหาด้านความยากจน และความมั่นคงในพื้นที่ โดยทั้งสองฝ่าย เห็นว่าควรนำเศรษฐกิจเข้ามาเป็นกลไกแก้ปัญหาในพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง
โดยพล.อ.ประวิตร ให้โจทย์ว่า จะสามารถนำเศรษฐกิจเข้าไปพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้อย่างไรบ้าง จึงนำมาสู่การตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการพัฒนาพื้นที่ให้มีลักษณะเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ ซึ่งจะใช้กลไกเดียวกับการขับเคลื่อนโครงการ EEC ซึ่งกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ก่อนจะรับเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ
“ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจเข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องการอาศัยความเป็นผู้นำของพล.อ.ประวิตรที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ช่วยก้าวความขัดแย้งทั้งเรื่องการระหว่างประเทศ สร้างความปรองดอง และความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ และถ้าไม่ทำตอนนี้อาจจะไม่มีโอกาสทำเลยก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มาเลเซียพร้อมผลักดันความร่วมมือในครั้งนี้”
ใช้โมเดล EEC เป็นต้นแบบ
ดร.คณิศ อธิบายว่า นโยบาย “เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้” จะมีลักษณะคล้ายกับ EEC แต่จะไม่เหมือนกันทั้งหมด โดยเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ มีอุตสาหกรรมบางอย่างที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ทั้งเกษตร ท่องเที่ยว และบริการ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ที่จำเป็นในพื้นที่
เบื้องต้นอาจต้องจัดตั้งสำนักงานขึ้นมาในลักษณะเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แต่จะเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ มีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งสามารถนำกฎหมายของ EEC คือ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
กาง 6 โครงการหลักต้องเร่งทำ
สำหรับโครงการ “เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้” มุ่งหวังให้เป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ จะมีการจัดทำแผนเพื่อเชื่อมโยงเขตพิเศษทางเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน ในฝั่งไทย โครงการดังกล่าว จะเชื่อมต่อ 5 จังหวัด โดยมีอย่างน้อย 6 โครงการเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ดังนี้
ดร.คณิศ ทิ้งท้ายว่า ในฐานะของคนที่เคยทำโครงการใหญ่ของรัฐบาลอย่างโครงการ EEC มาก่อน เชื่อมั่นว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของชายแดนภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดภาคใต้ของไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้คนในพื้นที่มีโอกาสไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน และเป็นอนาคตให้ลูกหลานชาวใต้เติบโตในพื้นที่ มีงาน มีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยนโยบายทั้งหมดนี้ จะได้ผลักดันให้เกิดขึ้นทันที หากพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ