25 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค น.ส.ตรีนุช เทียนทองรมว.ศึกษาธิการ ในฐานะดูแลรับผิดชอบเลือกตั้งภาคกลางและตะวันออก ร่วมกันแถลงเปิดตัวนายคณิศ แสงสุพรรณ อดีตประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมทีมนโยบายพรรค พปชร.
โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวยินดีที่นายคณิศ ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการอีอีซีได้มาอยู่กับ พปชร. เพื่อจะมาพัฒนาเรื่อง 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเจริญก้าวหน้า ในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ฝั่งอันดามัน และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเจริญทัดเทียมอารยะประเทศ ทุกคนรู้จักนายคณิศดี จะมาอยู่ในทีมเศรษฐกิจของ พปชร.
ทั้งนี้ นายคณิศตั้งใจจะมาทำงานให้ พปชร. แต่ทั้งหมดที่จะทำได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ พปชร. จะต้องได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีตนเป็นนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างจะสำเร็จด้วยดี ฝากประชาชนทั่วไปถ้าอยากเห็นภาคใต้มีความเจริญขอให้เลือก พปชร.
ด้านนายคณิศ ได้กล่าวขอบคุณ พล.อ.ประวิตรที่ตนเรียกติดปากว่าพี่ป้อม พล.อ.ประวิตร เป็นคนทำเรื่องน้ำในอีอีซีซึ่งตนทำกับพล.อ.ประวิตรมาตลอด 4 ปี โดยทำภาพรวมเรื่องน้ำ 30 โครงการ ซึ่งทำสำเร็จไปแล้ว 20 โครงการ การันตีปัญหาน้ำในอีอีซีจบแล้ว พล.อ.ประวิตรเป็นคนรับฟังข้อมูล กล้าตัดสินใจ โครงการนี้ไม่ใช่โครงการง่ายๆ แต่ทำให้ปัญหาน้ำผ่านพ้นไปได้ ถือเป็นประโยชน์มาก
ทั้งนี้ นายคณิศ กล่าวว่า ตนได้ลาออกจากประธานที่ปรึกษาพิเศษอีอีซี มาเป็นสมาชิกพรรค พปชร.เมื่อวันที่ 24 เม.ย. เพื่อมาช่วยพล.อ.ประวิตร เพื่อผลักดันความฝันของ พล.อ.ประวิตรที่จะสร้างประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่
ตนทำงานอีอีซีมา 6 ปี เป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลที่ดำเนินไปอย่างประสบความสำเร็จ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี คาดว่า เศรษฐกิจอีอีซีจะขยายตัวปีนี้ไม่ต่ำกว่า 7% จะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้า แต่ขอให้ทีมที่มาทำอีอีซีต่อซื่อสัตย์และไม่คดโกง ทำตามแผนที่วางไว้
หลายเดือนก่อน พล.อ.ประวิตร ได้พบปะกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่ กทม. ได้มีการหารือกันเรื่องชายแดนภาคใต้ของไทยและภาคเหนือของมาเลเซีย เพื่อจะพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคได้อย่างไรบ้าง
พล.อ.ประวิตรจึงให้โจทย์ตนมาดูว่า จะพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนอย่างไร จึงเป็นที่มาของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภาคใต้ซึ่งที่ได้นำเสนอกับพล.อ.ประวิตร ท่านเห็นดีด้วยและรับเป็นนโยบายของพรรค
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าสู่ พปชร. เพราะต้องการอาศัยความเป็นผู้นำที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งของ พล.อ.ประวิตร ช่วยก้าวความขัดแย้งทั้งเรื่องการระหว่างประเทศ สร้างความปรองดอง และความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ
สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ มุ่งหวังให้เป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ จะมีการจัดทำแผนเพื่อเชื่อมโยงเขตพิเศษทางเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน
ในฝั่งไทยโครงการดังกล่าวจะเชื่อมต่อ 5 จังหวัด คือ สงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส รวมเป็นเขตพัฒนาพิเศษแบบอีอีซีโดยมีอย่างน้อย 6 โครงการเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เช่น
1.ยกระดับรายได้เกษตรกร ด้วยการแปรรูปพืชเกษตรให้มีคุณภาพ อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มุ่งสู่ตลาดโลก
2.พัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งฝั่งอ่าวไทย ทำตากใบโมเดล ฝั่งอันดามัน ทำสตูลโมเดล ผ่านโครงข่ายเรือและเครื่องบินท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้สู่พื้นที่
3.มีการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานหลัก เช่น Motorway และ Landbridge เชื่อมทั้ง 2 ฝั่งทะเล
4.สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดข้างทางของ Motorway เช่น ศูนย์กลางอาหารระดับนานาชาติอิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน ยา โลจิสติกส์
5.ขยายความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศ
6.ใช้ธนาคารอิสลามเป็นธนาคารหลักของเขตพัฒนาพิเศษ
นายคณิศ กล่าวว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้มุ่งหวังจะทำให้พี่น้อง 8 ล้านคนใน 14 จังหวัดชายแดนใต้กลับมามั่งคั่ง หากเลือก พปชร. นอกจากจะก้าวข้ามความขัดแย้งแล้ว จะก้าวพ้นความยากจน เขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ที่ พปชร.นำเสนอ จะช่วยทำให้ลูกหลานชาวใต้เติบโตในพื้นที่ มีงาน มีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประวิตร ที่ได้ให้การสนับสนุน และร่วมผลักดันนโยบายนี้
ประวัติ นายคณิศ แสงสุพรรณ
นายคณิศ มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การพัฒนาเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน, กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการธนาคารพาณิชย์ และ กรรมการการบินไทย
นอกจากนี้ได้เป็นประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญที่พรรคพลังประชารัฐให้การสนับสนุนต่อเนื่อง