อียูแจงเหตุไม่ได้ส่ง EEM เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ในไทย

03 พ.ค. 2566 | 23:42 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2566 | 00:13 น.

คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยชี้แจงแล้ว ไม่มีการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (EEM) เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยครั้งนี้แม้เบื้องต้นจะมีความตั้งใจก็ตาม

 

หลังจากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเข้ามา สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ของคณะผู้เชี่ยวชาญการเลือกตั้งของต่างชาติในประเทศไทยนั้น ทาง คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงมาแล้วว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทางสหภาพยุโรป (อียู) จะไม่มีการส่ง คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (EEM) มาในประเทศไทยแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลตามเนื้อหาในการชี้แจง ดังนี้  

จากบทความของ “ฐานเศรษฐกิจ” ที่อ้างถึงแหล่งข่าวของกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่าสหภาพยุโรปจะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (Election Expert Mission - EEM) จำนวน 2-4 คนเพื่อวิเคราะห์กระบวนการจัดการเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยขอชี้แจงว่า สหภาพยุโรปได้ทำการเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้ง (EEM) ในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2566

ซึ่งบทความในฐานเศรษฐกิจก็ระบุชัดเจนว่า EEM จะถูกส่งไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นระยะเวลาสองเดือน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการส่ง EEM ไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งได้นั้น (โดยปกติจะเข้ามาก่อนการเลือกตั้ง 4-6 สัปดาห์) ประเทศเจ้าภาพจำเป็นจะต้องส่งจดหมายต้อนรับ (welcome letter) ไปยังสหภาพยุโรป เพื่อระบุว่าหน่วยงานของตนจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับ EEM ภายใต้ขอบเขตการทำงาน

สหภาพยุโรปไม่ได้รับจดหมายต้อนรับนี้ในกรอบระยะเวลาหรือในรูปแบบที่กำหนดไว้ และด้วยเหตุนี้ จึงจะไม่มีการส่ง EEM มาในการเลือกตั้งครั้งนี้

อียูแจงเหตุไม่ได้ส่ง EEM เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ในไทย

เนื้อหาต้นฉบับ

In response to Than Settakij articles citing a Ministry of Foreign Affairs (MFA) source that the EU is sending an Election Expert Mission (EEM) of 2-4 experts to analyse the electoral process for the upcoming 14 May 2023 election, the EU Delegation to Thailand would like to clarify that the EU had offered to the Election Commission of Thailand to send an EEM to Thailand for the 2023 general election. The articles make it clear that an EEM is sent to a country for a two-month period.

However, before an EEM can be sent to a country (it is usually deployed four to six weeks ahead of an election), the host country needs to provide a welcome letter to the EU indicating that its authorities will help facilitate the EEM in its scope. The EU did not receive this welcome letter in the required timeframe or format and as a consequence will not be deploying an EEM on this occasion

ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้ว่า นับตั้งแต่ที่ กกต.อนุญาตให้ต่างชาติขอเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทยได้ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมานั้น ทางอียูได้เคยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทยแล้ว 2 ครั้ง คือในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 และ 2557