ปชป.ประกาศจุดยืนนโยบาย 5 ด้าน ขจัดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว

04 พ.ค. 2566 | 04:31 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2566 | 04:38 น.

พรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนนโยบาย 5 ด้าน เสริมเก่งสร้างแกร่งให้ผู้หญิง ขจัดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และ ครอบครัว

ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ทีมผู้หญิงของพรรค ปชป. ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อประกาศจุดยืนนโยบายในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้หญิง นำโดย ดร.รัชดา ธนาดิเรก ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย และ "ลูกหมี" นางสาวรัศมี ทองสิริไพรศรี รองโฆษกพรรค และทีมโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง 

ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ เป็นโอกาสของคนไทย ที่จะได้ร่วมกันกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่ครอบคลุมในทุกด้าน ที่มุ่งเป้าสู่การสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ และสำหรับนโยบายสำหรับผู้หญิง ซึ่งวันนี้มีมากกว่าผู้ชายถึง 1 ล้านคน อายุยืนมากกว่าผู้ชายเฉลี่ย 6-8 ปี 

นั่นหมายความว่า หากเราส่งเสริมผู้หญิง เราจะได้พลังอันยิ่งใหญ่และยืนนาน แต่หากละเลยปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นฐานะแม่ คนหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ปัญหาการถูกกีดกัน ความรุนแรงในครอบครัว และอีกมากมาย ซึ่งหากผู้หญิงถูกทำให้อ่อนแอ ถูกตัดโอกาส สิ่งที่ตามมาคือ การเสียโอกาสของสังคม 

พรรคประชาธิปัตย์ จึงขอแสดงจุดยืนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างพลังหญิงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สร้างสังคมเสมอภาค สร้างกลไกยุติปัญหาความรุนแรงต่อสตรี เด็กและครอบครัว


ที่ผ่านมา พรรคได้มีผลงานอย่างเป็นรูปธรรมในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ สร้างโอกาสให้ผู้หญิงที่จะได้สร้างอนาคตของตนเองและเป็นหลักแก่ครอบครัว

เริ่มจากสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย ที่มีนโยบายเรียนฟรี อนุบาลชนบท กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ที่ทำให้เด็กหญิงทุกคน โดยเฉพาะจากครอบครัวยากจนที่มักให้โอกาสลูกชายก่อน หรือ เด็กชายไปเรียนที่วัดได้ ด้วยนโยบายพรรคของพรรคในวันนั้น ทำให้ประเทศไทยในวันนี้ ไม่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผู้ชายผู้หญิง เป็นทุนทางสังคมที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน 

ทั้งนี้พรรคมีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายแบ่งเป็น 5 ด้านคือ

ด้านที่ 1 ด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างสังคมเสมอภาค

1. การยกระดับมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรีให้เป็นไปตามหลักสากล การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.ความเสมอภาคเท่าเทียม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ร.บ.ป้องกันการค้ามนุษย์ 

2. แก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี โดยไม่เอาผิดผู้ค้าประเวณี แต่เอาผิดผู้ซื้อประเวณี ทั้งนี้ธุรกิจการค้าประเวณียังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

3. การสร้างความตระหนักในการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึง ความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศวัยและสภาพของบุคคลเพื่อความเป็นธรรม (Gender Responsive  Budgeting) 

4. แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ 2550 ให้เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย

ด้านที่ 2 ด้านการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว

1. กำหนดให้ "ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ"  เพื่อให้ทุกภาคส่วนต้องเต็มที่กับการแก้ปัญหา และได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ มีคณะกรรมการการแก้ปัญหาความรุนแรงฯระดับชาติ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มียุทธศาสตร์และแผนบูรณาการที่ชัดเจน ไม่ต่างคนต่างทำ อย่างที่ผ่านมา

2. จัดตั้งศูนย์ป้องกันการทำความรุนแรงระดับตำบลให้เกิดเป็นรูปธรรม สร้างกลไกระดับท้องถิ่นสอดส่องดูแล เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง รวมถึงปัญหายาเสพติด การติดการพนันส่งต่อหน่วยงานระดับจังหวัดต่อไป ซึ่งท้องถิ่นมีศักยภาพเพียงแต่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติม 

3. ยกเครื่องวิชาหลักสูตรเพศศึกษาอย่างครอบคลุม ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สร้างเยาวชนให้เติบโตขึ้นด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดสังคมเสมอภาค เคารพในศักดิ์ศรีของผู้อื่น ทั้งชาย หญิง LGBTQ+ ไม่ใช่ชายเป็นใหญ่ คนรวยเป็นใหญ่ 

4. เพิ่มอัตรากำลังตำรวจหญิงแต่ละสถานีตำรวจเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่การรับเรื่องร้องทุกข์คดีความรุนแรง 

5. ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนทุกประเภท ให้ระมัดระวังเรื่องการนำเสนอประเด็นความรุนแรง ต้องไม่บูลลี่ ไม่หยามเกียรติ ทั้งในเนื้อหาข่าวหรือละคร และสร้างแรงจูงใจในการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคมและกับคนทุกกลุ่ม

6. ส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคมในทุกมิติ ต้องเข้าไปสนับสนุนงบประมาณในรูปแบบกองทุน เพื่อให้การดูแลและฟื้นฟูเยียวยาผู้ถูกกระทำความรุนแรงให้ลุกขึ้นยืนได้ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจและยั่งยืน 

ดร.รัชดา เชื่อว่าทั้งหมดนี้ถือเป็นชุดนโยบายพรรคที่ตอบโจทย์การเพิ่มพลัง และความเจ็บปวด ความเหลื่อมล้ำที่ต้องทนมาอย่างยาวนาน

                             ปชป.ประกาศจุดยืนนโยบาย 5 ด้าน ขจัดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว

ด้านที่ 3 ด้านส่งเสริมผู้หญิงเป็นพลังทางเศรษฐกิจ

โดย ‘ลูกหมี” นางสาวรัศมี ทองสิริไพรศรี กล่าวต่อ ว่าสำหรับชุดนโยบาย การเพิ่มโอกาสในความก้าวหน้าของผู้หญิง และการแก้ปัญหาที่เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้ชีวิตเดินหน้าอย่างมั่นคง ประกอบด้วย

1. การส่งเสริมผู้ประกอบการหญิงเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายและดอกเบี้ยต่ำ ผ่านโครงการ SME มีแต้มต่อ 

2. สนับสนุนผู้หญิงประกอบอาชีพอิสระ เข้าถึงแหล่งทุนธนาคารชุมชน ไม่ต้องพึ่งเจ้าหนี้นอกระบบ 

3. ส่งเสริมให้มีศูนย์เด็กเล็กคุณภาพในท้องถิ่นและสถานประกอบการด้วยมาตรการที่หลากหลาย เช่น ให้นำค่าใช้จ่ายมาคำนวณหักภาษีนิติบุคคลได้ เป็นต้น และ

4. ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ และคนพิการ ในลักษณะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprises) พร้อมทั้ง จัดให้มีระบบการดูแลสวัสดิการที่เป็นธรรม

ด้านที่ 4 ด้านการวางรากฐานการศึกษา

ขณะที่ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวว่า การจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้หญิงที่ดีที่สุดคือการให้การศึกษา ที่ถือเป็นการสร้างคน และจะนำไปสู่การสร้างเงิน สร้างชาติ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ

1. อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ การค้าขาย และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข

2. เรียนฟรี ถึงปริญญาตรีสาขาที่ตลาดต้องการ เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบัน ภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ช่วยลดภาระครอบครัว ทำให้นิสิตที่จบการศึกษามีงานทำ มีรายได้ ยืนบนขาตัวเองและพึ่งพิงตนเองได้

3. สนับสนุนอาหารเช้า และอาหารกลางวันฟรี ในระหว่างภาคการศึกษา สนับสนุนนมฟรี 365วัน ให้กับนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 ผ่านสถานศึกษา เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง 

4. เพิ่มการสนับสนุนการจัดการศึกษาพิเศษอย่างมีคุณภาพ สำหรับบุคคลหรือเด็กพิการในประเทศไทย ช่วยลดภาระการดูแลของผู้ปกครองทำให้สามารถไปประกอบอาชีพได้ในขณะที่ลูกได้รับการดูแลโดยสถานศึกษา 

นางดรุณวรรณ ย้ำด้วยว่า “ผู้หญิงจะแข็งแกร่งได้ ต้องเริ่มจากการมีเงินในกระเป๋า มีอาชีพ มีงานทำ นโยบายประชาธิปัตย์จึงมุ่งเน้นการสร้างเงิน เพื่อเสริมแกร่ง และให้การศึกษาเพื่อเสริมเก่งทำให้ผู้หญิงทุกคนมีพลังในการใช้ชีวิต มีความสามารถในการสร้างเงินและดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ในภาวะวิกฤต”

ด้านที่ 5 ด้านการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง

นางดรุณวรรณ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนในการเพิ่มพื้นที่ให้สตรีมีบทบาททางด้านการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเวทีขนาดใหญ่ หรือระดับท้องถิ่นก็ตาม เริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างภายในพรรค ด้วยการกำหนดสัดส่วนที่จะให้ผู้หญิงเข้ามานั่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งที่เป็นสตรี สัดส่วนของสตรีในส่วนของสาขาพรรค 

โดยมีการกำหนดแนวทางไว้ชัดเจนและระบุไว้ในข้อบังคับพรรค ถือได้ว่าพรรคมีจุดยืนมากในเรื่อง Gender Rights และ Political Rights ทั้งนี้จะช่วยส่งผลให้สตรีได้มีพื้นที่ทางการเมือง ไปทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้วยความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง