ผ่า 9 โจทย์นโยบายเศรษฐกิจ โค้งสุดท้าย " เลือกตั้ง" ไทย

04 พ.ค. 2566 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2566 | 08:18 น.

อาจารย์นิด้า กระตุก โค้งสุดท้าย "เลือกตั้ง" ประเทศไทย กับ 9 โจทย์ความท้าทาย นโยบายทางเศรษฐกิจ ประชากรสูงวัย - ความเหลื่อมล้ำ -การทุจริต - ปัญหาเงินทุนSME -ดิจิทัล และ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่ห้ามมองข้าม

4 พฤษภาคม 2566 - โค้งสุดท้ายแล้วจริงๆ สำหรับ การเลือกตั้ง ครั้งสำคัญ ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งยังเต็มไปด้วยบรรยากาศ การหาเสียง เรียกคะแนนนิยม จากบรรดานโยบายหลักๆ ที่เป็นหมัดเด็ดของแต่ละพรรคการเมือง โดยนโยบายทางเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพ เพิ่มสวัสดิการ ในแง่ต่างๆ ถูกงัดออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด 


ขณะที่ในมุมของ รศ.ดร.ดนุวัศ สาคริก อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้ผ่าโจทย์นโยบายเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ไว้อย่างน่าสนใจ เพื่อหวังให้รัฐบาลในอนาคต นำไปศึกษาเตรียมตัวเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่องจริงจัง ภายใต้ความท้าทายที่ประเทศต้องเผชิญ 9 ด้าน ด้วยกัน ดังนี้ 

9 โจทย์เศรษฐกิจไทย ในมือรัฐบาลใหม่

1.  การยกระดับรายได้เพื่อหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง แรงงานจำนวนมากยังอยู่ในภาคการผลิตที่มีรายได้ปานกลาง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่งานที่มีรายได้สูงขึ้นได้ ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต การมีนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และการสร้างงานที่มีรายได้สูง (High-paid job) จะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับรายได้ของประชากร พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว
 
2. การศึกษาและทักษะแรงงาน
ประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะ โดยแรงงานจำนวนมากขาดความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อแข่งขันในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นการจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจและขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายในการปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาคุณภาพรวมถึงลดช่องว่างด้านการศึกษาและพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง

ผ่า 9 โจทย์นโยบายเศรษฐกิจ โค้งสุดท้าย \" เลือกตั้ง\" ไทย 3. ประชากรสูงอายุ
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายของประชากรสูงอายุซึ่งสร้างความท้าทายให้กับ นโยบายการคลัง ระบบการรักษาพยาบาลและโครงการประกันสังคมของประเทศ รวมถึงการหาแรงงานมาทดแทนส่วนที่หายไปจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
 
4. ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้
ประเทศไทยยังเผชิญกับเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้เหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนค่อนข้างมาก ความเหลื่อมล้ำนี้อาจส่งผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางสังคม และภาระทางการคลัง รัฐบาลควรดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ เช่น โครงการสวัสดิการสังคม การขยายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร หรือการสนับสนุนภาคการเกษตร  ประเด็นนี้นับว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญ
 
5. การทุจริต
การทุจริตยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งสามารถบ่อนทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจ กีดกันการลงทุนจากต่างประเทศ และบั่นทอนความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล
 
6. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการ ทั้งมลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นเหล่านี้อาจมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ รวมถึงความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นโยบายของรัฐบาลควรให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ เช่น การส่งเสริมพลังงานทดแทน พลังงานและการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ
 
7. การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รัฐบาลควรส่งเสริมการปรับตัวของทุกภาคส่วนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะนำไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว
 
8. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
แม้จะมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาเครือข่ายการขนส่ง โทรคมนาคม และพลังงาน แต่ยังมีช่องว่างในด้านความครอบคลุมและความท้าทายเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย
 
9. การเติบโตของ SMEs
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการจ้างงาน และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ยังเป็นความท้าทายสำหรับ SMEs ในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจในพื้นที่ชนบทหรือในอุตสาหกรรมที่มองว่ามีความเสี่ยงการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ การสนับสนุน SMEs ในเชิงนโยบายในทุกมิติจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศไทย