เลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันที่ผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจะต้องไปใช้สิทธิ โดย ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. ณ ที่เลือกตั้งกลาง และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง 14 พฤษภาคม 2566 ได้ เนื่องจากพ้นเวลาในการแก้ไขหรือยกเลิกการลงทะเบียน โดยมีผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต รวมทั้งสิ้น 2,350,969 ราย โดยก่อนหน้านี้ กกต. ได้เปิดให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งในเขต นอกเขต และนอกราชอาณาจักรยื่นคําขอลงทะเบียนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2566
ล่าสุด นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้โพสต์ภาพตารางแสดงจำนวนผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต พร้อมข้อความในเฟสบุ๊ค ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ระบุ ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า ในเขตที่มีการลงทะเบียนมากผิดปกติ รวม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดยโสธร
โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติเดิมของการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งปี พ.ศ. 2562 จากการตรวจสอบพบว่า
จังหวัดอำนาจเจริญ มี 2 เขต แต่มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 22,945 ราย
จังหวัดศรีสะเกษ มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 76,217 ราย (ยังไม่รวมเขต 1)
จังหวัดยโสธร มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 32,397 ราย
พร้อมกันนี้ นายชูวิทย์ ได้ระบุในโพสต์ถึง เหตุการณ์ที่ประชาชน ถูกหลอกจากผู้สมัครส.ส. นำบัตรประชาชนไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทางออนไลน์ โดยไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมย์ของตนเอง ในจังหวัดอำนาจเจริญ และเรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบอย่างเข้มงวดถึงการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า โดยสอบถามจากประชาชนว่าได้ทำการลงทะเบียนด้วยตัวเองหรือไม่ หรือมีบุคคลอื่นลงทะเบียนแทน
นายชูวิทย์ยืนยันท้ายโพสต์ว่า เป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต. ที่จะต้องสืบสวนสอบสวนให้ความจริงปรากฏให้สังคมได้ทราบถึงความไม่ชอบมาพากลอันส่อไปในทางทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งหากผู้ที่ลงทะเบียนเป็นบุคคลอื่นนำเอาบัตรประชาชนไปลงทะเบียนให้โดยไม่ได้รับความยินยอม ย่อมมีความผิด ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตโปร่งใส ต้องลงโทษตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองใดหลอกลวงประชาชนให้หลงผิดเช่นนี้ได้อีก