เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม “พระเลือกตั้งได้ไหม” อายุเท่าไหร่ถึงเป็นผู้มีสิทธิ

09 พ.ค. 2566 | 09:46 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2566 | 05:40 น.

เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 “พระเลือกตั้งได้ไหม” เช็คคุณสมบัติลักษณะ และต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องอายุเท่าไหร่ถึงเป็นผู้มีสิทธิ สามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี

เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศขั้นตอนการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเอาไว้ชัดเจน รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเป็นใคร รวมทั้งลักษณะต้องห้ามไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกรณีของ “พระเลือกตั้งได้ไหม” เอาไว้ด้วย

จากการตรวจสอบข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง กำหนดรายละเอียดเอาไว้อย่างชัดเจน สำหรับวันเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 -17.00 น.

ฐานเศรษฐกิจ ขอรวมรวมข้อมูลมาเพื่อให้คนไทยที่เตรียมตัวออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดได้ ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อายุเท่าไหร่

  • เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย หากเคยแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • เป็นผู้ที่มีชื่อ อยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
  • ต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ภาพประกอบข่าว เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

ทำไมพระถึงเลือกตั้งไม่ได้

ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามถึงเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเขียนเป้นบทความทางวิชาการหลายชิ้น เช่น บทความเรื่อง พระสงฆ์ไทยกับสิทธิในการเลือกตั้ง โดย ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ มีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 26 ระบุว่า "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" 

ในเมื่อพระสงฆ์เป็นทั้งนักบวชในพระพุทธศาสนาและประชาชนในเวลาเดียวกัน การตีความของกระทรวงกลาโหมน่าจะถูกต้องกว่ากระทรวงมหาดไทย กฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามพระสงฆ์ไม่ให้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและมิชอบด้วยกฎหมาย ดังมาตรา 6 ที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"

ข้ออ้างโดยทั่วไปที่ห้ามมิให้พระสงฆ์ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงในการเลือกตั้งก็คือ พระสงฆ์ไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ส่วนการเมืองเป็นเรื่องสกปรก พระสงฆ์จึงไม่ควรเข้าไปแปดเปื้อนกับความสกปรกของการเมือง 

ถ้าหากข้อสมมติฐานที่ว่า การเมืองคือสิ่งสกปรก (ไร้จริยธรรม) เป็นจริงแล้ว พระสงฆ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจริยธรรม ก็ยิ่งจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องให้มาก เพื่อที่จะชำระล้างการเมืองที่สกปรกให้เป็นการเมืองที่สะอาดให้ได้ อาจถือเป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์ด้วยซ้ำไป

ส่วนในฐานะผู้นำทางจริยธรรม พระสงฆ์มีหน้าที่อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน รวมทั้งแก่นักการเมืองด้วย ปัจจุบันการสั่งสอนอบรมทางวาจาอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่นักการเมือง จำเป็นจะต้องสั่งสอนอบรมด้วยการปฏิบัติในเชิงโครงสร้างด้วย 

การที่พระสงฆ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองต้องฟังพระสงฆ์มากขึ้น พระสงฆ์ซึ่งมีอำนาจทางจริยธรรมอยู่ในมือ ก็จะมีส่วนช่วยให้การเมืองมีจริยธรรมมากขึ้น