เลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ห้ามโฆษณา-หาเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่วันไหน กี่โมง

12 พ.ค. 2566 | 06:40 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2566 | 06:46 น.

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 ก็ยิ่งมีข้อห้าม-ข้อควรระวัง ที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการหาเสียง มีข้อห้ามอะไรบ้าง ฝ่าฝืนมีโทษอย่างไร

 

ข้อห้ามเกี่ยวกับการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง มีดังนี้ คือ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2566 (วันก่อนเลือกตั้งหนึ่งวัน) จนจบวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใด โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองก็ตาม (มาตรา 79)

ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ระบุนิยามของ “การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง” ไว้ตรงๆ จึงต้องอาศัยการตีความ ตัวอย่างของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการโฆษณาหาเสียงให้พรรคการเมือง ได้แก่

  • ใส่เสื้อ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีสัญลักษณ์โลโก้พรรคการเมือง หรือมีสีและหมายเลขพรรคการเมือง
  • โพสต์ข้อความ อัพโหลดภาพหรือคลิปที่มีเนื้อหา ลงบนโซเชียลมีเดีย
  •  แจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหาเสียง บริเวณใกล้หน่วยเลือกตั้ง

หากฝ่าฝืน โทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 156)

เลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ห้ามโฆษณา-หาเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่วันไหน กี่โมง

นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังระบุ แนวปฏิบัติในการหาเสียง สำหรับ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ด้วย โดย กกต.ได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. เป็นวันเลือกตั้ง จึงเน้นย้ำเกี่ยวกับ “ข้อห้าม” ไม่ให้ผู้สมัครหรือผู้ใด กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

2. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด

3. ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ

4. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

5. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

6. การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กําหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

7. ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนําผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือ นํากลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้อง เสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ

8. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด

9. ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือ กระทําการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือ พรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทํานั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติ โดยสุจริตของผู้นั้น

10. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตําแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทําการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาการให้ปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ และข้อห้ามในการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมือง รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษปรับหรือจำคุก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตลอดทั้งการยุบพรรคการเมือง

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th หรือ Facebook แฟนเพจ “สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1444