9 พฤษภาคม 2566 ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการคณะทำงานนโยบายกรุงเทพมหานครและหัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ร่วมด้วย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายชยพงศ์ สายฟ้า และ นายพลีธรรม ตริยเกษม คณะทำงานทีมการศึกษาทันสมัย ได้ร่วมกันแถลงจุดยืนด้านนโยบายการศึกษาทันสมัยของพรรคประชาธิปัตย์
โดย ดร. สุชัชวีร์ ได้เริ่มต้นการแถลงนโยบายโดยการกล่าวถึงที่มาของการทำนโยบายทางก่ารศึกษาของพรรค โดยกล่าวว่าเนื่องจากการศึกษานั้นเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคนและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยถือเป็น DNA ของพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด
นโยบายทางการศึกษาจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ พรรคมีความมุ่งมั่นที่จะให้ประชาชนได้รับการศึกษาคุณภาพทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านนโยบายการสร้างคนคุณภาพด้วยนโยบายการศึกษาเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของประเทศกำลังพัฒนาให้ได้
ทั้งนี้ พรรคมีแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะที่ดี 7 ประการ ได้แก่
ประการแรก การมีสุขภาพดี ดังที่จะเห็นได้จากผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการนโยบายเพื่อพัฒนาสุขภาพมาโดยตลอด ทั้งนโยบายนมโรงเรียนฟรี 365 วัน ที่จะยังคงส่งเสริมและดำเนินการต่อไปเพื่อเป้าหมายการเพิ่มความสูงเฉลี่ยของเด็กไทยที่เพิ่มขึ้น หรือ นโยบายอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพที่ดีขึ้นของเยาวชนผ่านโภชนาการของเด็กและเยาวชนไทย
ประการที่ 2 คือ การมีคุณธรรม
ประการที่ 3 คือ ส่งเสริมคุณลักษณะความมีวินัยและมีจิตสาธารณะ เพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ และคุณลักษณะ
ประการที่ 4 คือการส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ตั้งแต่อนุบาล
รวมไปถึง ประการที่ 5 คือ คุณลักษณะในการเพิ่มทักษะทางภาษา
ส่วนประการที่ 6 เน้นการเสริมสร้างทักษะชีวิต และประการที่ 7 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่พรรคต้องการส่งเสริมคือทักษะของการใช้เทคโนโลยี
พร้อมย้ำว่า คุณลักษณะนี้ถึงแม้จะอยู่ในประการสุดท้ายแต่มีความสำคัญเทียบเท่าและแทบเป็นนโยบายอันดับหนึ่งเพราะไม่มีชนชาติใดในโลกที่จะสามารถร่ำรวยและพัฒนาได้โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจที่พรรคประชาธิปัตย์จะสร้างและพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ดร.สุชัชวีร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดในการเปลี่ยนการศึกษาไทย ด้วย 4 เปลี่ยน จากการที่สถานการณ์ตลาดแรงงานปัจจุบันของทั้งประเทศไทยและทั่วโลกได้มุ่งให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีทักษะ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมในอนาคต โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะสูงสำหรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต โดยจัดการศึกษาฟรีไปจนถึงระดับปริญญาตรี เปลี่ยนวิธีคิดการศึกษาไทยให้ทันสมัย
ด้วยการเปลี่ยนจากการ "ผลิตคน" ให้เป็นการ "พัฒนาคน" ภายใต้ 4 แนวคิดหลัก
เปลี่ยนที่ 1 คือการ "เปลี่ยนการเรียนรู้แบบเดิม" เป็น "การดึงศักยภาพของแต่ละคน" เพื่อให้เยาวชนไทยมีการจบปริญญาตรีที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าสถิติผู้จบปริญญาตรีในอดีตซึ่งถ้าเทียบเป็นจำนวนยังถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก
เปลี่ยนที่ 2 คือการ "เปลี่ยนความเข้าใจ" ในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และความรับผิดชอบให้ถูกต้อง ด้วยหลักสูตรส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง ( Civic Education )
เปลี่ยนที่ 3 คือ "เปลี่ยนมาให้ความสำคัญ" กับการพัฒนาเด็กเล็กวัย 0-6 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมของสมอง และร่างกาย
เปลี่ยนที่ "4" เปลี่ยน "สุดท้าย" เพื่อสร้างการศึกษาที่ส่งเสริมสภาพเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายเรียนปริญญาตรีฟรีในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ เพื่อสร้างความสมดุลทางตลาดแรงงานที่ไม่ใช่การส่งเสริมเพียงแค่อาชีพหมอ หรือ วิศวะตามที่หลายคนเข้าใจ แต่มีอีกหลากหลายสาขาอาชีพที่ขาดแคลนที่มีข้อมูลสนับสนุนจากสภาหอการค้าอุตสาหกรรม
ดังเช่น นักการตลาดดิจิทัล ครูแนะแนว หรือ บุคลากรวิชาชีพสายสังคมศาสตร์ และ ศิลปศาสตร์ พร้อมทั้งเพิ่มนโยบายมาตรการการลดภาษีให้เอกชนจ้างงานนักศึกษาหนึ่งล้านอัตราเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานให้นักศึกษาหนึ่งล้านอัตรา เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างงาน และ สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับนักศึกษา เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะระหว่างเรียน
นางดรุณวรรณ ได้กล่าวเสริมถึงนโยบาย CODING ว่า หลักสูตร CODING ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาโดยตรงถึงเยาวชนไทยของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อผลักดันการเรียนการสอน ในทิศทางที่นำไปสู่การคิดวิเคราะห์และสร้างทักษะ เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล คิดเป็นขั้นเป็นตอน เเก้ปัญหาเป็น
เตรียมคนสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างรู้เท่าทันดิจิทัล โดยประเทศไทยได้เริ่มสอนเรื่อง การเรียน CODING โดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (Unplugged CODING) ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อย่างจริงจัง ตั้งแต่เทอม 2 ของปี 2562 เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงลำดับการดำเนินการ ความเชื่อมโยงของเหตุและผล การใช้เหตุผล เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นและมีความรับผิดชอบ และได้มีการอบรมครูภายใต้โครงการ CODING for Teacher ไปแล้วมากกว่า 400,000 คน เพื่อให้ไปขับเคลื่อนการเรียนการสอนให้ครอบคลุมและ CODING ถือเป็นนโยบายที่จะ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง
ด้านนายชยพงศ์ สายฟ้า ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจทางด้านการศึกษา โดยพรรคสนับสนุนการกระจายอำนาจการศึกษา เพื่อให้โรงเรียนและชุมชนมีอำนาจในการจัดการ พัฒนา สร้างระบบที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนของตนเองอย่างเต็มที่
พรรคพร้อมผลักดันให้มีสภาการศึกษาจังหวัดซึ่งจะไม่ใช่กลไกรัฐราชการแต่จะเกิดจากการสร้างการมีส่วนร่วมระดับจังหวัดซึ่งจะมีการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการจำเป็นของพื้นที่
มีคณะบุคคลที่เกิดจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในจังหวัดนั้นๆ ที่เห็นความสำคัญและมีความตั้งใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดนั้น ๆ อย่างแท้จริง
พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่า DNA พรรคประชาธิปัตย์คือ การสร้างคนด้วยการศึกษา รวมทั้งการกระจายอำนาจ และสร้างการมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นกุญแจสำคัญที่ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษาแต่คือการลงมือปฏิบัติ คือต้องให้ผู้เรียนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบการศึกษาให้ตรงกับความสนใจและตอบโจทย์บริบทในพื้นที่
รวมถึงการผ่อนคลายระบบต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายโอนข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเป็นกลไกกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษา เรียนรู้ และฝึกอบรมในสาขาที่มีความต้องการจำเป็นของตลาดแรงงานและของประเทศ
"พรรคประชาธิปัตย์มองว่า สนับสนุนการกระจายอำนาจ และการจัดสรรงบประมาณทรัพยากรให้เหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน ให้อิสระในการบริหารจัดการสถานศึกษา และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา พัฒนาและสร้างระบบ ที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาของชุมชนตนเอง"
นายพลีธรรม ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงนโยบายส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง หรือ Civic Educations เพิ่มเติมว่า พรรคประชาธิปัตย์มี DNA และ หัวใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราจึงอยากจะส่งเสริมและปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนผ่านการมีหลักสูตรการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองไทย เพื่อเป็นการวางแนวทางการลดความขัดแย้งภายในสังคมได้อย่างยั่งยืน