รู้จัก “อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม” 2 ขั้วการเมืองในโลก“ประชาธิปไตย”

10 พ.ค. 2566 | 05:27 น.
อัพเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2566 | 07:49 น.

ใกล้เข้าสู่วันเลือกตั้ง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากเราจะได้เห็นการลงพื้นที่หาเสียงของบรรดา "พรรคการเมืองต่างๆ" แล้ว เราจะได้ยินสื่อต่างๆ จัดขั้วการเมืองเป็น 2 ขั้ว โดยใช้คำเรียกว่า "อนุรักษ์นิยม" และ "เสรีนิยม" ฐานเศรษฐกิจ จะพามาทำความเข้าใจ 2 แนวคิดนี้ให้มากขึ้น

ความคิดเรื่องการแบ่งขั้วทางการเมือง มาจากฐานความคิดเรื่องคู่ตรงข้าม (Binary Opposition) ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างทางทัศนคติ และจุดยืนทางการเมือง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในหลายประเทศทั่วโลกพบว่า 2 ขั้วการเมืองที่ชัดเจนอยู่ 2 ขั้ว ได้แก่

แนวคิดเสรีนิยม”  (Liberal)

“ขั้วเสรีนิยม”   มีทัศนคติหรือค่านิยมที่สำคัญคือ “สิทธิเสรีภาพ และ ความเท่าเทียม” รัฐจะเข้าไปใช้อำนาจแทรกแซงไม่ได้  ทุกคนใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ตราบใดที่ไม่ละเมิดหรือก่ออันตรายแก่คนอื่น แนวคิดที่ "ก้าวหน้า" เหล่านี้คือสิ่ง ดึงดูดนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ให้เข้าร่วม

แต่จุดแข็งนี้ ย่อมมีจุดอ่อนในตัวของมันเอง เพราะโดยหลักการแล้วเสรีนิยม ยอมให้แสดงออก ไปจนถึงแสดงความคิดเห็นที่รุนแรง กระทั่ง Hate speech ตราบใดที่ไม่ก่ออันตรายทางกายภาพแก่ผู้อื่น ซึ่งอาจรวมไปถึงการพูดถึงความเชื่อทางศาสนา หรือประเด็นอ่อนไหว ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้

แนวคิดอนุรักษ์นิยม”  (Conservative)

ขั้วอนุรักษ์นิยม หรือที่เรียกว่า “กลุ่มเอียงขวา” มีทัศนคติหรือค่านิยมที่สำคัญคือ “ของเดิมดี มีค่ารักษาไว้” โดยมุ่งรักษาความเชื่อและคุณค่าแบบเก่า  เช่น ประเพณีนิยม ศีลธรรมอันดีงาม กระทั่งอุดมการณ์ทางการเมืองที่สืบทอดมายาวนาน 

“อนุรักษ์นิยม”เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นทั่วโลก ด้วยพลังของภาคประชาสังคม ยกตัวอย่างเช่น  บราซิล แนวร่วมกลุ่มอนุรักษ์นิยมประท้วงกดดันให้ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ พ้นจากตำแหน่งในปี 2016 หลังพบการทุจริต, จอร์เจียที่ต่อต้านการสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป และกลุ่มในยูกานดาที่ต่อต้านความเท่าเทียมกันทางเพศ

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในบ้านเรามักผูกโยงกับ “สำนึกรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”  ความจงรักภักดีต่อสถาบันจึงเป็นสิ่งสำคัญ  เพราะเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองจะสงบ

แนวคิดอนุรักษ์นิยม สามารถแบ่งออกเป็น “อนุรักษ์นิยมล้าหลัง” หรือ “อนุรักษ์นิยมก้าวหน้า”สะท้อนถึงมุมมองที่มีต่อขั้วตรงข้ามอย่าง “กลุ่มเสรีนิยม”

  • อนุรักษ์นิยมล้าหลัง จะมองว่า ฝั่งเสรีนิยมเป็นพวกแหกคอก ต้องการทำลายระบบสถาบัน พวกเขามักจะไล่อีกฝ่ายออกนอกประเทศ แจ้งความเอาผิด กระทั่งทำรัฐประหาร สิ่งเหล่านี้ถูกมองว่า “สวนทาง” กับคุณค่าที่กล่าวอ้าง เพราะรัฐประหารนำไปสู่การเข้าสู่อำนาจที่ไม่ชอบธรรม
  • อนุรักษ์นิยมก้าวหน้า “จะมีที่ยืน” ให้ฝั่งเสรีนิยม ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมล้าหลังที่ใช้ข้อกล่าวหาต่างๆ มาทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยยังใช้ข้อเท็จจริง ความรู้ เหตุผล หรือมีการแสดงออกที่ดีกว่าในการต่อสู้กับฝ่ายคิดต่าง

กรณีศึกษา : อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม “ในต่างประเทศ”

1.สหรัฐ 

ประเทศผู้นำโลกประชาธิปไตย อย่าง สหรัฐอเมริกา มี 2 พรรคการเมืองใหญ่ระดับประเทศ ที่ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ นั่นคือ พรรคเดโมแครต (Democratic Party) และ “พรรครีพับลิกัน (Republican Party) นโยบายทั้ง 2 พรรค มีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน

“พรรครีพับลิกัน” 

มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า ชื่อพรรคนั้นสะท้อนคตินิยมทางการเมืองแบบสาธารณรัฐนิยม (republicanism)  นโยบายของพรรค จะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ “แบบตลาดเสรี และเก็บภาษีอัตราที่ต่ำ” 

รัฐบาลกลางควรเข้าไปมีบทบาทต่อสวัสดิการของประชาชน "ให้น้อย" เพราะเสียค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ และ "ควรลดภาษีกลุ่มผู้มีรายได้สูง" พรรคนี้จึงถูกมองว่า "เอื้ออภิสิทธิ์ชน" ผู้ดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่ 

นโยบายอื่นที่น่าสนใจ เช่น สนับสนุนการเพิ่มงบประมาณทหาร และสนับสนุนการครอบครองอาวุธปืน ซึ่งถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการค้าอาวุธปืนนั่นเอง 

"ฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน" คือ ชนชั้นแรงงาน ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบท  เพศชาย ชาวภาคใต้และอเมริกันผิวขาว

“พรรคเดโมแครต” 

ได้ชื่อว่ามีความเป็นเสรีนิยมมากกว่า ปรัชญาคือ  “เสรีภาพพลเมือง” กับ “ความเสมอภาคทางสังคม”  โดยนโยบายของพรรค ต้องการที่จะให้รัฐบาลกลางเข้าไปมีบทบาทหลักด้านการให้สวัสดิการต่อประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสและมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

สำหรับด้านภาษีนั้น พรรคเดโมแครต "สนับสนุนให้ผู้ที่มีรายได้สูงต้องจ่ายภาษีแพง" เพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือต่อผู้ที่มีรายได้ต่ำ 

นโยบายอื่นๆ เช่น สนับสนุนการจัดตั้งแรงงาน  การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิ LGBTQ สิทธิทำแท้ง สนับสนุนให้มีการควบคุมการครอบครองอาวุธปืน นอกจากนี้ พรรคเดโมแครตค่อนข้างที่จะลังเลในการเพิ่มงบประมาณทหาร
"ฐานเสียงของพรรคเดโมแครต" คือ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมือง เพศหญิง ชาวอเมริกันอายุน้อย ตลอดจนชนกลุ่มน้อยทางเพศ ศาสนาและเชื้อชาติที่มีจำนวนสนับสนุนมากขึ้น

 

2.อังกฤษ 

อังกฤษมีพรรคการเมือง ขนาดใหญ่ 2 พรรคที่ผลัดกันขึ้นบริหารประเทศ ได้แก่พรรคคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative Party) และพรรคเลเบอร์ (Labor Party) ผลัดเปลี่ยนกันเป็นรัฐบาลโดยตลอด 

“พรรคคอนเซอร์เวทีฟ” 

เป็นพรรค "ฝ่ายขวา" หรืออนุรักษนิยม ที่มีอุดมการณ์และนโยบายที่ค่อนข้าง คำนึงถึงชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ "อย่างรุนแรง" โดยทางด้านการเมืองจะเน้นนโยบายที่คำนึง ถึงประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ยังพยายามคงไว้ ซึ่ง "ขนมธรรมเนียมประเพณีของอังกฤษ" ให้มากที่สุด

นโยบายเด่นๆ ได้แก่ ต่อต้านสหภาพแรงงาน ต่อต้านการรวมเข้ากับกลุ่มประชาคมยุโรป เพิ่มภาษีให้สูงขึ้น จำกัดการใช้จ่ายรัฐบาล เปิดโอกาสให้เอกชนดำเนินกิจการมากขึ้น สนับสนุนการเปิดตลาดเสรี

“พรรคเลเบอร์” 

มีแนวคิดค่อนข้างมาทาง​ "ฝั่งเสรีนิยม" เป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจาก "ชนชั้นกรรมกรและชนชั้นกลาง" เป็นส่วนใหญ่ ใช้หลักการปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย และมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

เป้าหมายเพื่อสร้างสังคมใหม่ ล้มเลิกความแตกต่างระหว่างชนชั้น คัดค้านลัทธินายทุน  มักมองโลกในมุมมองที่กว้าง และ "ทันสมัย" กว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ  แต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่ายึดอุดมการณ์เหมือนกัน

 

2 ฝั่งการเมืองของไทย มีทัศนคติและค่านิยมต่างกันสุดขั้วจริงหรือไม่? 

หากพิจารณาถึงแนวคิด ทัศนคติ นโยบายที่ประกาศออกมา  พรรคการเมืองไทยที่ถูกมองว่าอยู่ใน “ขั้วเสรีนิยม” ได้แก่ เพื่อไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย ส่วนพรรคที่ถูกมองว่าอยู่ใน “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ 

แม้ว่าหลายพรรคการเมืองจะถูกจัดกลุ่มให้เป็น 2 ขั้ว แต่เมื่อพิจารณาจากกลุ่มคนที่เคยเลือกตั้ง และมีความนิยมชมชอบพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไปเขา "สามารถเปลี่ยนใจมาเลือกอีกขั้วได้ "

จากโครงการวิจัย “คิดต่าง อย่างมีภูมิ” ของ สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์  ได้สำรวจข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 2,016 รายบนช่องทางออนไลน์ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

1.คนที่เลือกพรรคต่างกัน ไม่จำเป็นต้องมีค่านิยมที่แตกต่างกันเสมอไป

ผลสำรวจพบว่า คนที่สนับสนุนแนวคิดเดียวกันในปี 2564 เคยเลือกพรรคการเมืองต่างกันในปี 2562 อาจเป็นเพราะ เวลาเปลี่ยนความคิดเปลี่ยน หรือ พวกเขาอาจมีค่านิยมบางอย่างร่วมกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

2.คนที่เลือกพรรคเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีความสุดขั้วในระดับเดียวกัน

เช่น กลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือกอนาคตใหม่ ก็มีระดับความสุดขั้วของแนวคิดแบบเสรีนิยมที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับสุดขั้วมาก ไปจนถึงน้อย 

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ท่ามกลาง"ความแตกต่างของขั้วการเมือง" ในประเทศไทยที่เราเห็นนั้น ประชาชนที่มีความชื่นชอบพรรคการเมืองหรือขั้วการเมืองที่ต่างกัน พวกเขาอาจมีทัศนคติ ค่านิยม และแนวคิดบางอย่างร่วมกันมากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้