วันนี้ (10 พ.ค. 66) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เข้ายื่นคำร้องติดตามกรณี ตนเองเป็น 1 ในผู้สมัคร ส.ส. 130 คน ที่มีรายชื่อถือถือหุ้นสื่อ ถูกกกต.ตัดสิทธิตเพียงคนเดียว แต่ศาลฎีกามีการคืนสิทธิให้ จึงอยากทราบว่า อีก 129 คน ที่ กกต. มีข้อมูลว่าถือครองหุ้นนั้น เป็นหุ้นอะไร ใช่หุ้นโทรคมนาคมเช่นเดียวกับตนหรือไม่ และทำไมถึงไม่ถูกตัดสิทธิ
“เรื่องนี้ให้เวลา กกต. ถึงวันที่ 14 พ.ค. หากยังไม่มีความชัดเจน รับรองหลังเลือกตั้งหมายศาลมาถึง กกต.แน่”
นอกจากนี้ นายชาญชัย ยังได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่คืนสิทธิการเป็นผู้สมัครให้กับตนเอง มายื่นขอความชัดเจนจาก กกต.ว่า การที่ศาลฎีกายึดความเห็นของ ผศ.กัญภัส อู่ตะเภา คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่เบิกความว่า ตามหลักวิชาการ คำว่า "สื่อมวลชน" หมายถึง “สื่อกลางที่นำข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชน หรือกลุ่มคนจำนวนมาก ไม่ว่ารูปแบบใด สื่อดั้งเดิมมีเช่น หนังสือพิมพ์วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ปัจจุบันรวมถึงสื่อใหม่ หรือสื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต็อก หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ
หากบุคคล นิติบุคคล หรือ องค์กรใดเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสาร หรือเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมากได้ หรือ ถือครองสื่อที่เป็นช่องทางการสื่อสาร หรือผลิตเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมาก และผู้คนจำนวนมากสามารถรับสารนั้นได้ ถือเป็นสื่อมวลชน” ว่า ในการมีคำพิพากษาดังกล่าว มีผลให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูป ติ๊กต็อก หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในการโฆษณาหาเสียง จะถือว่าเป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา98 (3) ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส 2561 มาตรา 42 (3) หรือไม่
“ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะวันนี้พรรคการเมือง นักการเมือง ต่างก็หาเสียงผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติกต๊อก กันหมด ถ้ายึดตามคำพิพากษาศาลฎีกาก็เท่ากับพรรคการเมือง และผู้สมัคร เป็นเจ้าของสื่อต้องถูกถอดถอนทั้งหมด
ถ้าวันนี้ไม่ชัดเจน หลังเลือกตั้งเชื่อว่าเจอฟ้องแน่ แล้ว กกต.ก็จะไม่สามารถประกาศผลเลือกตั้งได้ จึงต้องการให้กกต.ตอบเรื่องนี้ให้ชัด ถ้าบอกว่าอนุญาตให้ใช้ได้ ก็ต้องถามว่า กกต.ใช้อำนาจอะไร ซึ่งเหนือกว่ารัฐธรรมนูญไปอนุญาต ให้นักการเมือง พรรคการเมืองไปใช้สื่อเหล่านี้ได้ “