สื่อนอกยกนิ้วชมเลือกตั้งไทย แลนด์สไลด์ของจริงสำหรับประชาธิปไตย

15 พ.ค. 2566 | 10:11 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2566 | 10:23 น.

สื่อนอกรายงานข่าวการเลือกตั้งของไทยเมื่อวันที่ 14 พ.ค.อย่างใกล้ชิด ชี้ชัยชนะของ“ก้าวไกล”เหมือนแผ่นดินไหวที่น่าตื่นตะลึง สะท้อนเสียงของคนไทยที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

 

เริ่มจาก สำนักข่าวบีบีซี และ เดอะ การ์เดียน สื่อใหญ่ของประเทศอังกฤษ บีบีซีระบุคะแนนเสียงของชาวไทยที่มอบให้แก่สองพรรคการเมืองฝ่ายค้านคือ พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย สะท้อนว่าพวกเขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงนำพรรคเพื่อไทยที่มีนางสาวแพทองธาร บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันเป็นนักโทษหนีคดีในต่างแดน ยังเปรียบได้กับ “แผ่นดินไหวทางการเมือง” สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนในสังคม

สื่อใหญ่ของอังกฤษมองว่า มีแนวโน้มที่สองพรรคที่ได้คะแนนนำในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเริ่มต้นกระบวนการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ชัยชนะของทั้งสองพรรคซึ่งมีคะแนนนำห่างพรรครวมไทยสร้างชาติของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่ออกมาลงคะแนน “ไม่ยอมรับ” รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ พวกเขาจึงเทคะแนนให้พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูปทั้งระบบราชการ เศรษฐกิจ และบทบาทของกองทัพ

บีบีซีระบุว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประเด็นข้างต้นจะเป็นประเด็นเดียวกันกับที่กระตุ้นให้เกิดการประท้วงที่นำโดยนักศึกษาในปี 2563 โดยผู้สมัครของพรรคก้าวไกลบางคนเคยเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว และผู้ลงคะแนนเสียงที่อายุน้อย ซึ่งหลายคนเป็นสาวกของพรรคก้าวไกล มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อผลการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามแม้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย จะประสบความสำเร็จ แต่อาจต้องเผชิญกับศึกแย่งชิงอำนาจ เมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะถูกคัดสรรโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร 250 คน ร่วมกันลงคะแนนเลือก

ก้าวสู่ยุคใหม่ของการเมืองไทย

ขณะที่เดอะ การ์เดียน โฟกัสไปที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล (Move Forward Party) โดยขยายความจากคำประกาศของพิธาที่ว่า เขาพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนต่อไปและกำลังเริ่มหารือจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคอื่นๆ สื่อใหญ่ฉบับนี้ยังได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แสดงความเห็นว่า ขณะที่เพื่อไทยยังชูนโยบายประชานิยมแบบเดิม ๆ พรรคก้าวไกลกลับขยับเหนือไปอีกระดับด้วยนโยบายปฏิรูปสถาบันที่ถือเป็นสมรภูมิการแข่งขันใหม่ในการเมืองไทย และเป็นพรรคเดียวที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับ "กำลังใจส่วนตัว" ของเขา

 เดอะ การ์เดียน ยังมองการเมืองไทยผ่านมุมของเมธิส โลหเตปานนท์ นักเขียนและนักวิจารณ์การเมืองที่กล่าวว่า ชัยชนะของพรรคก้าวไกลเป็นการก้าวสู่ยุคใหม่ของการเมืองไทย ชัยชนะครั้งใหญ่ของพรรคนี้แสดงให้เห็นว่า การเมืองสไตล์อุปถัมภ์แบบเก่าๆที่เน้นการสร้างเครือข่ายหัวคะแนนในพื้นที่ไม่ได้เป็นตัวการันตีชัยชนะในศึกเลือกตั้งระดับชาติอีกแล้ว นอกจากนี้ ยังส่งสัญญาณว่า ยุคที่พลพรรคทักษิณกวาดชัยชนะในการเลือกตั้งแบบนอนมาในอดีตนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว “นี่คือสาส์นที่ชัดเจนมาก ว่าคนไทยจำนวนมากต้องการความเปลี่ยนแปลง”  

การเมืองที่ไร้เสถียรภาพยังคงมีอยู่หลังเลือกตั้ง

ด้าน สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมีแนวโน้มจะมีชัยชนะเหนือบรรดาพรรคการเมืองที่มีทหารหนุนหลังได้อย่างขาดลอย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าฝ่ายใดจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และยังต้องมีการเจรจากับพรรคการเมืองอื่นๆ รวมทั้งกระบวนการสำคัญ นั่นคือต้องผ่านการลงมติของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว

เจย์ แฮร์ริแมน ผู้อำนวยการอาวุโสของ BowerGroupAsia ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ได้คือ "การปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อการเมืองแบบเก่าของไทย" แต่แผนการปฏิรูปเชิงสถาบันของก้าวไกล อาจทำให้แผนของพรรคต้องขัดแย้งกับฝ่ายกองทัพ

"ความตึงเครียดอาจเพิ่มสูงขึ้นหากรัฐบาลชุดใหม่ ดำเนินการอย่างจริงจังตามคำมั่นสัญญาในการหาเสียง" แฮร์ริแมนยังกล่าวด้วยว่า "พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังคงมีคะแนนเสียงไม่ถึง 376 ที่นั่ง ที่จำเป็นในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีการเลือกตั้งเพื่อชนะคะแนนเสียงจากวุฒิสภา หรือหันไปหาเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย"

ชัยชนะของก้าวไกลยังหมายถึงการหมดยุคของชัยชนะแบบนอนมาของเพื่อไทยด้วย

หวังว่าคงไม่เดินซ้ำรอยเดิม

สำนักข่าวเอพี มองการเลือกตั้งไทยว่า มีความเป็นไปได้ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีเหมือนกับที่ฝ่ายค้านเคยประสบมาแล้ว และระบุว่าเป็นกลอุบายสกปรก จากการยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโดยกล่าวหานายพิธาว่า ไม่นำรายละเอียดในการถือหุ้นสื่อสำแดงไว้ในรายการทรัพย์สินตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้เคยทำให้หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่สูญเสียที่นั่งในสภาด้วยเหตุผลทางเทคนิคที่คล้ายคลึงกัน และจบลงด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกมองว่าท้าทายอย่างรุนแรงต่อสถาบัน และกลุ่มอนุรักษนิยม

ส่วน หนังสือพิมพ์ เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) จากฮ่องกง รายงานสอดคล้องกันโดยระบุว่า ประชาชนยังมีความหวาดกลัวว่าเผด็จการทหารจะใช้เล่ห์กลแบบเดิมเพื่อยับยั้งผลการเลือกตั้ง เช่น การใช้เสียงของวุฒิสมาชิกที่กองทัพแต่งตั้ง 250 คน มาเลือกตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมทั้งอาจมีการใช้คำสั่งศาลเพื่อยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองของผู้นำพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างก้าวไกล หรือแม้กระทั่งอาจลงมือทำรัฐประหาร เพื่อพยายามยึดกุมอำนาจเอาไว้ต่อไป ทำให้ประเทศไทยยังคงมีเค้าลางของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอยู่ในช่วงเวลาต่อจากนี้

ตบท้ายด้วย สำนักข่าวอัลจาซีรา ที่รายงานว่า สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ยังไม่อาจฟันธงลงไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่หวนกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภายังคงสามารถเล่นเกมการเมืองแบบเดิม ตามที่เคยโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีพรรคพันธมิตรรวม 19 พรรคได้สำเร็จ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แม้พรรคของเขาจะไม่ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ตาม