22 พฤษภาคม 2566 วันแถลง "MOU รัฐบาลก้าวไกล" ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล ทั้ง 8 พรรค เป็นอีกหนึ่งวันที่ถูกจับตาถึงรายละเอียดเนื้อหาภายในMOU ว่าจะเป็นอย่างไร จะสะท้อนถึงนโยบายการบริหารของรัฐบาลก้าวไกล รวมถึงคาดการณ์ตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงได้หรือไม่ และวันครบรอบ 9ปี รัฐประหาร จะสามารถเป็นวันเริ่มต้นรัฐบาลก้าวไกลได้สำเร็จหรือไม่
เพจเฟซบุ๊คของพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความในวันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ระบุถึงความสำคัญของการเซ็นMOU ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลว่า การจัดตั้งและร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองควรต้องเอาวาระหรือนโยบายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่กระทรวงหรือตำแหน่งเป็นตัวตั้ง
รัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง เราจำเป็นต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างเชิงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยคำนึงถึงความไว้วางใจที่พรรคการเมืองเหล่านี้ได้รับจากประชาชนมาผ่านคูหาเลือกตั้งเช่นกัน
พร้อมระบุว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันวาระที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ "วาระร่วม" ของทุกพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะระบุใน MOU เป็นวาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และพร้อมรับผิดชอบร่วมกัน
อีกส่วนคือ "วาระเฉพาะ” ของแต่ละพรรคการเมือง ส่วนนี้ไม่ถูกระบุใน MOU คือวาระและนโยบายที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเองเพิ่มเติม แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับนโยบายใน MOU โดยผลักดันผ่านกลไกบริหารของกระทรวงที่พรรคมีตัวแทนเป็นรัฐมนตรี และผลักดันผ่านกลไกนิติบัญญัติของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค
ในโพสต์ได้ย้ำว่า พรรคก้าวไกลยืนยันจะพยายามผลักดัน 300 นโยบายให้สำเร็จ โดยพยายามบรรจุเข้าไปใน วาระร่วม หรือ MOU ให้ได้เยอะที่สุด ในขณะที่นโยบายอะไรที่ไม่ถูกบรรจุใน MOU พรรคก้าวไกลจะผลักดันผ่านกระทรวงที่พรรคก้าวไกลบริหารและผ่านจำนวนผู้แทนราษฎร 152 คน ที่มีในสภาผู้แทนราษฎร
ย้อนดูความเห็นพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล ก่อนเซ็นMOU
พรรคประชาชาติ โดยวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค เคยระบุว่า “พรรคประชาชาติได้ทำหนังสือถึงพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการไปแล้วว่าเรื่องของสมรสเท่าเทียม กับเรื่องสุราก้าวหน้าเป็นเรื่องที่ขัดกับแนวทางของพรรคประชาชาติ พรรคจึงทำหนังสือถึงพรรคก้าวไกลเพื่อขอให้ปรับให้พรรคประชาชาติรับได้”
พรรคเพื่อไทย โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค เบื้องต้นมีความเห็นว่าหากจะนำนโยบายมาใส่ในเอ็มโอยู ก็ควรใส่ให้ครบทุกพรรค และส่วนตัวเห็นว่า ควรทำแค่เรื่องหลักการก่อน ไม่เช่นนั้นจะมัวแต่ไปยุ่งว่าจะใส่นโยบายของใคร อย่างไร เรื่องนี้ควรไปพูดคุยกันหลังจัดรัฐบาล ก่อนแถลงต่อสภาดีกว่า และในเอ็มโอยู จะยังไม่มีเรื่องมาตรา 112 แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่สร้างความแตกแยกในสังคมมาก จึงอยากให้ไปคิดดูให้ดี
ทั้งยังมีรายงานจากพรรคเพื่อไทย ว่าไม่เห็นด้วยกับ การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองโดยไม่รวมความผิดคดีคอร์รัปชัน และเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย ซึ่งพรรคร่วมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเพื่อไทยที่มองว่าหากผลักดันเรื่องดังกล่าว จะถูกโยงว่าทำไปเพื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และจะไม่ร่วมเซ็นในเอ็มโอยูหากมีประเด็นนี้
พรรคเสรีรวมไทย โดยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค เคยแสดงความเห็นต่อMOU ที่ได้รับมาว่า ข้อตกลงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ต้องไม่ลึกลงลึกในรายละเอียด แต่ควรทำให้เป็นภาพกว้างๆ เพราะเหมือนว่าพรรคก้าวไกลกำลังจะผูกมัดพรรคร่วม เพื่อให้เห็นด้วยกับประเด็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งบางเรื่องตนเห็นด้วย หากจะแก้ไขหรือทำเรื่องอะไร ก็ไปดำเนินการในขั้นตอนรัฐสภา โดยเอ็มโอยูควรทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ข้าราชการ ประชาชน 70 ล้านคน มีอุดมการณ์ร่วมกันและเข้าใจตรงกันก่อน
พรรคเป็นธรรมโดย นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค ระบุว่า พรรคเป็นธรรมได้เสนอรายละเอียดการทำ MOU ในส่วนของพรรคไปให้แกนนำเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องนำหลักมนุษยธรรมและหลักปฏิญาณสากลมาใช้ โดยยืนตรงกลางในเรื่องที่พรรคเป็นธรรมเกี่ยวข้องเท่านั้น