การตอบรับกระแส “Pride Month” ของสังคมไทย ตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัด หลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศกลางลานสกายวอล์ค หน้าหอศิลป์ กทม. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่า กิจกรรม"บางกอกไพรด์2023" ไม่ได้จัดขึ้นเพียงแค่ 1 เดือน แต่เป็นไพรด์ออเวย์ ที่ต้องการเฉลิมฉลองและสร้างการยอมรับ ตื่นรู้ในสังคม และรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมเสนอไอเดีย ให้ กทม. เป็นเจ้าภาพจัดงาน “เวิลด์ไพรด์ 2028”
ขณะที่การขับเคลื่อนในมิติของกฎหมาย “พิธา” ย้ำอีกครั้งที่จะผลักดัน ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ให้ได้ก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์ไพรด์ 2028
ย้อนรอย ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
ย้อนจุดเริ่มต้นของการผลักดัน ร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล เริ่มตั้งแต่ปี 2563 นายวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ( ป.พ.พ.) หรือพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
อีกด้านหนึ่งคณะรัฐมนตรี มีมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เคยร่างไว้ตั้งแต่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยอ้างว่ามีหลักการใกล้เคียงกัน แต่ถูกสมาชิกพรรคก้าวไกล แย้งว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ แตกต่างกัน โดยร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ถูกมองว่า “เป็นพลเมืองชั้นสอง” เพราะสิทธิหลายอย่างนั้นมันไม่สมควรถูกตัดออกไป เช่น การใช้นามสกุลคู่สมรส ไม่มีสิทธิ์รับบุตรบุญธรรมาเลี้ยง ไม่ได้รับรัฐสวัสดิการในฐานะคนรักจากภาครัฐ
หรือเรื่องใหญ่ในชีวิตคู่อย่างเช่นการเซ็นการรักษาพยาบาลให้คนที่รักก็ไม่สามารถทำได้ ต่างจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตอบโจทย์มากกว่า ทั้งในเชิงหลักการ และ ในเชิงปฏิบัติ
ประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไข จากเดิมระบุถ้อยคำว่า อนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะ “ชายและหญิง” ให้เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ “บุคคลทั้งสอง” สามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป และเปลี่ยนคำว่า “สามีภริยา” เป็น “คู่สมรส”
ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 มีประชาชนร่วมเเสดงความคิดเห็นกว่า 54,447 คน มากที่สุดตั้งแต่มีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน
แต่มีการตีตกอีกครั้งหลังมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.)ให้วินิจฉัย ป.พ.พ.มาตรา 1448 ที่ให้สมรสเฉพาะ ชาย-หญิง ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัยว่า การรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ให้ตรากฎหมายเพื่อรองรับสิทธิและหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
ส่งผลเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การจัดตั้งแคมเปญสนับสนุนสมรสเท่าเทียมที่มีประชาชนใช้สิทธิจำนวนเกินหลักแสนในค่ำคืนเดียว
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ในสภาฯ เพื่อพิจารณาในวาระแรก แต่สภาผู้แทนราษฎร มีมติโหวตด้วยคะแนน 219 ต่อ 118 ส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีไปศึกษาก่อน 60 วัน แล้วจึงนำขึ้นมาโหวตรับร่างในสภาฯ อีกครั้ง ทำให้พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต้องถูกยืดเวลาการพิจารณาออกไปอีก
ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต"และ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 หลังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.)
หากร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับได้รับความเห็นชอบในสภาทั้ง 2 วาระ ขั้นตอนต่อไปคือการผ่านกฎหมายในชั้นวุฒิสภา และการลงพระปรมาภิไทยโดยพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงจะประกาศเป็นราชกิจานุเบกษาเพื่อใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ร่างกฎหมายค้างสภา ครม.ชุดใหม่เสนอต่อได้
ทว่า การพิจารณาในขั้นตอนสภาฯยังไม่เสร็จสิ้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ทำให้ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ค้างเติ้งในสภาฯ!!
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ มาตรา 147 วรรคสอง ยังเปิดช่องให้สภาฯชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง สามารถนำร่างพ.ร.บ.นั้นต่อไปได้
ขั้นตอนต้องให้ ครม.ชุดใหม่ ร้องขอต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบว่า สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี จะนำร่างกฎหมายที่ “ตกไป” นั้น มาพิจารณา “ต่อ” ได้หรือไม่ โดยครม. จะต้องทำภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง
หากรัฐสภา เห็นชอบให้พิจารณาต่อไปได้ สภาสามารถพิจารณา “ต่อ” จากเดิมได้เลย
ยกตัวอย่าง กรณีร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หากรัฐสภามีมติเห็นชอบให้พิจารณาต่อได้ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2566 สามารถพิจารณาวาระสอง ลงมติรายมาตรา ไม่ต้องไปเริ่มวนซ้ำที่วาระหนึ่ง
จึงไม่แปลกที่ พรรคก้าวไกล จะผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป