“เชาว์”ชี้ชัดรายงานการประชุม "หุ้นITV" หลักฐานมัดความเป็นสื่อ

13 มิ.ย. 2566 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2566 | 04:15 น.

“เชาว์”ชี้ชัดรายงานการประชุม "หุ้นITV" หลักฐานมัดความเป็นสื่อ เตือนสติด้อมส้มอย่าเพิ่งรีบเฮ หลังมีคลิปรายงานประชุม สวนทางรายงานที่เป็นเอกสาร ระบุคำถาม คำตอบ ในที่ประชุมไม่มีน้ำหนักในคดี

นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (Chao Meekhuad) โดยมีข้อความระบุถึงกรณีของ "หุ้นITV" ว่า 

อย่าเพิ่งรีบเฮ ปมคลิปรายงานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี มีเนื้อหาระบุว่า 

กรณีมีการพูดถึงรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีความขัดแย้งระหว่างคลิปการประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 กับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท ในประเด็นว่า 

ไอทีวียังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ถึงขั้นออกมาฟันธงกันว่านี่คือพยานหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว จะทำให้นายพิธาหลุดคดีถือหุ้นสื่อในที่สุด 

สำหรับตนเห็นว่าพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น หรือคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไม่ได้เป็นพยานหลักฐาน สำคัญว่าไอทีวี ยังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ เพราะการพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมตรา 98 (3) 

ต้องพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงตามวัตถุประสงค์ของกิจการ มิใช่รับฟังจากการถามตอบในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งตนมองว่ารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่นำมาเผยแพร่นี่ยิ่งเป็นหลักฐานสำคัญ มัดไอทีวี ว่า ยังมีตัวตนประกอบกิจการสื่ออยู่

หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จะพบว่าหลักฐานสำคัญที่ศาลฯให้น้ำหนักคือ งบการเงิน รายได้ที่ได้มาจากการประกอบกิจการสื่อหรือไม่ เป็นตัวชี้วัดว่า หุ้นของบริษัทที่ถืออยู่เป็นหุ้นสื่อหรือไม่ 

แม้จะมีวัตถุประสงค์ทำสื่อระบุอยู่แต่รายได้ที่ได้ไม่ได้มาจากการทำสื่อ ก็รอด ดังที่เห็นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจำนวน 64 คนก่อนหน้านี้ มีเพียงคนเดียวที่ถูกชี้ขาดให้พ้นสส. คือ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตสส.พรรคอนาคตใหม่

กรณีของนายพิธา จะรอดหรือไม่รอดคดีหุ้นสื่อหรือไม่ จึงไม่ได้อยู่ที่คำถาม คำตอบในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น แต่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถือหุ้นในบริษัทที่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อหรือไม่ 

และที่สำคัญคือไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม อย่าบิดเบือนข้อกฎหมาย ด้วยการนำประเด็นที่ไม่ใช่สาระมากลบข้อเท็จจริง เพราะนั่นไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง