วันนี้ ( 14 ก.ค. 66 ) นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ต่อความเป็นไปได้ที่จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้งว่า กรณีชื่อของ นายพิธา นั้นจบแล้ว เพราะ นายพิธา นั้นได้เสียงเห็นชอบเป็นนายกฯ ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของสองสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จึงทำให้ญัตติดังกล่าว เป็นอันตกไป
ดังนั้น กรณีจะเสนอชื่อนายพิธา ให้โหวตอีกครั้งนั้น ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถือว่าทำไม่ได้ เพราะญัตติตกไป ถือว่าจบแล้ว
นายประพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติที่มีหลักการเดียวกันเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ไม่มีการลงมติ หรือ ประธานสภาอนุญาต เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากจะนำญัตติเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯ กลับมาอีกในสมัยประชุมปัจจุบัน ต้องมีเหตุเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 272 วรรคสองเท่านั้น
นายประพันธุ์ ขยายความมาตรา272 วรรคสอง ด้วยว่า ตามหลักการหากโหวตครั้งแรกไม่สามารถได้บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าด้วยเหตุใด ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะเปิดให้มีการลงคะแนนใหม่เองได้ ต้องให้สมาชิกรัฐสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาตามมาตรา 272 วรรคสอง เท่านั้น
และต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสองสภา หรือ 500 เสียง จึงจะทำให้ นายพิธา ในฐานะผู้ที่เคยได้รับการเสนอชื่อให้โหวตเป็นายกฯ กลับมาเสนอได้อีก หากดำเนินการใดๆ นอกจากแนวทางนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
“เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เช่นนี้แล้ว จึงไม่เปิดช่องทางอื่นให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกเสนอชื่อกลับมาให้รัฐสภาโหวตโดยง่าย หรือ โหวตเลือกนายพิธา ซ้ำซากไปเรื่อยๆ เหมือนนักกฎหมาย หรือ พวกกุนซือสมองทื่อเสนอให้โหวตไปเรื่อยๆจนสิ้นวาระของวุฒิสภา ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกล และ นายพิธาฯ ควรให้การศึกษาพวกด้อมส้มให้โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย"
นายประพันธุ์ กล่าวอีกว่า หากในระหว่างนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายพิธา หยุดปฎิบัติหน้าที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเสนอชื่อ นายพิธา ให้รัฐสภาพิจารณา ดังนั้นจึงไม่ควรไปปลุกให้ความหวังพวกด้อมส้มแบบผิดๆ ควรยอมรับและเคารพมติโดยชอบของรัฐสภา หยุดปลุกมวลชนเพื่อสร้างปัญหาให้บ้านเมือง เพราะความดื้อรั้น มีแต่เกิดหายนะกับตนเอง