วันนี้(24 ก.ค. 66) ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติห้ามเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งให้หยุดการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ก่อนหน้านี้ มี 2 นักวิชาการขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา ว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นการเสนอญัตติซ้ำ คือ นายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ และนายบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยว่า
การที่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 ก.ค.มีมติว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 41 เป็นการเสนอญัตติซ้ำนั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็ขอให้มีคำสั่งไปยังที่ประชุมรัฐสภาให้ยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
โดยคำร้องของนักวิชาการทั้ง 2 ระบุว่า การลงมติของที่ประชุมรัฐสภาว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธารอบ2ได้เนื่องจากเป็นการเสนอญัตติซ้ำ โดยอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 มองว่ารัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272
และตราบใดที่กระบวนการเลือกนายกฯยังไม่เสร็จสิ้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีย่อมสามารถถูกเสนอชื่อได้เรื่อยๆ มติที่ประชุมรัฐสภาดังกล่าวเท่ากับรัฐธรรมนูญถูกละเมิดโดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 หรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 20ก.ค.นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ก็ไดยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาล รธน.วินิจฉัย ในประเด็นเดียวกัน
สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้