"ไล่หนูตีงูเห่า" พ่นพิษ "เรืองไกร" ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย ชี้หาเสียงหลอกลวง

08 ส.ค. 2566 | 06:58 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2566 | 08:56 น.

"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" แจกโปรวันที่ 8 เดือน 8 ยื่นกกต.ยุบพรรคเพื่อไทย-ตัดสิทธิ์กก.บห. กรณี “ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ปมตอบสื่อว่าหาเสียง "ไล่หนูตีงูเห่า" แค่เทคนิคหาเสียง ชี้เป็นการหลอกลวง-จูงใจทำให้เข้าใจผิด ผิดกม.เลือกตั้ง ส.ส. ม.73 (5) 

งานเข้าพรรคเพื่อไทย ทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยทุกคน กับกรณีที่เคยลงพื้นที่ปราศัยหาเสียงช่วงเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 ภายใต้สโลแกน "ไล่หนูตีงูเห่า"

ซึ่งเป็นหนึ่งในการลงพื้นที่หาเสียงพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคภูมิใจไทย จนทำให้เพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาเป็นลำดับที่ 2 

แต่ล่าสุดในการแถลงจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ 7 ส.ค. 66 ที่นำโดย พรรคเพื่อไทย ประกาศจับมือกับพรรคภูมิใจไทย จึงไม่พ้นกับการที่ต้องตอบคำถามอย่างหนัก กับความย้อนแย้งว่าทำไมการลงพื้นที่หาเสียงครั้งนั้นใช้สโลแกน "ไล่หนูตีงูเห่า" 

\"ไล่หนูตีงูเห่า\" พ่นพิษ \"เรืองไกร\" ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย ชี้หาเสียงหลอกลวง

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงตอบคำถามดังกล่าวโดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นั่งข้างๆว่า พรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เช่นการรณรงค์คำว่า ไล่หนูตีงูเห่า 

"มันเป็นการรณรงค์เพื่อให้ได้มาเพื่อคะแนนเสียงของการเลือกตั้ง กิจกรรมแต่ละครั้งจัดบนจุดประสงค์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ มิติการเมืองเราไปขอคะแนนเสียงจากประชาชน เราไม่เคยประกาศว่าเราเป็นศัตรูกับใคร เทคนิคการหาเสียง ต่างฝ่ายต่างมี เราไม่เคยคิดว่าเราเป็นศัตรูกัน โดยเฉพาะเพื่อไทยไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร หลังจากยุติการมอบอำนาจจากพี่น้องประชาชนจากการเลือกตั้ง เราก็มาทำหน้าที่จากการมอบอำนาจของประชาชนมา ก็มาร่วมกันทำ"

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

ล่าสุด วันที่ 8 ส.ค. 66 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือถึง กกต.ทางไปรษณีย์ EMS  เพื่อขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจกรณีที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าววานนี้  (7 ส.ค. ) ที่พรรคเพื่อไทย ว่า

“ไล่หนูตีงูเห่า มันเป็นภาพของการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง กิจกรรมแต่ละครั้งจัดบนวัตถุประสงค์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ มิติทางการเมือง เราไปขอเสียงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน เราไม่เคยประกาศว่าเราเป็นศัตรูกับใคร  เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิคการหาเสียง วิธีการหาเสียง ต่างฝ่ายต่างมี  อันนี้เรียนด้วยความเคารพว่าเราไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกัน”  

นายเรืองไกร ระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของนายแพทย์ชลน่าน  มีการลงข่าวอย่างแพร่หลายรวมทั้งคลิปวิดีโอด้วย  จึงเป็นข้อเท็จจริงเพียงพอที่ควรจะขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบนายแพทย์ชลน่าน  หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับพวก   ว่าการหาเสียงดังกล่าว "เข้าข่ายกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย  ด้วยวิธีการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  มาตรา 73 (5)  และจะมีโทษตามมาตรา 159 หรือไม่"

โปสเตอร์ ที่พรรคเพื่อไทยใช้กิจกรรม “ไล่หนู ตีงูเห่า” ในการเลือกตั้ง 2566

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรา 159   กำหนดว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 73 (3) (4) หรือ (5) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี  หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20  ปี  และให้นำความในมาตรา 158 วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยนั้น มีเนื้อหาว่า

ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดตามมาตรา 75 หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรค  ของพรรคการเมืองนั้น   ซึ่งรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง  และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้น และให้ถือเป็นเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองนั้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง